'ปธ.กมธ.ศึกษา วุฒิสภา' เตือน ‘ตรีนุช’ ใช้หลักสูตรสมรรถนะ ถูกที่ถูกเวลา?

 

ปธ.กมธ.ศึกษา ส.ว.เตือน ‘ตรีนุช’

ใช้หลักสูตรสมรรถนะ ถูกที่ถูกเวลา?

ห่วงขั้นนำร่องทดลอง! ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง ร.ร.

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้จัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณเดือนกันยายน 2564 ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าร่างหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน และขาดการรับฟังจากครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้รับไปปฏิบัติ และที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงติดโรคติดต่อโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ในกลุ่มสถานศึกษาเฉพาะที่มีความพร้อมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า เรื่องที่ ศธ.จะนำร่องทดลองหรือใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะหรือไม่นั้น ตนไม่ได้ติดใจอะไร เพราะถือเป็นสิทธิของฝ่ายบริหารที่จะกระทำหรือไม่กระทำก็ได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าหลักสูตรอิงมาตรฐานหรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะต้องตอบโจทย์สำคัญ 3 ประการ คือ

1.เป็นหลักสูตรที่ต้องนำมาใช้ได้ถูกที่ถูกเวลา คือต้องสามารถนำมาใช้จัดการเรียนการสอนได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่เด็กนักเรียนยังคงได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ทั้งทางกาย อารมณ์ สติปัญญา สังคม ไม่ว่าจะต้องจัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบใด ทั้ง on-site ที่โรงเรียนหรือแบบทางไกลก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับโรคระบาดเช่นนี้อีกนานเท่าไหร่ และต้องเผชิญอีกเมื่อใด ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยต้องสามารถเดินหน้าไปได้ทุกสถานการณ์

2.ไม่ว่าจะเรียกชื่อหลักสูตรว่าฐานสมรรถนะหรือไม่ก็ตาม แต่รูปแบบการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว จะต้องอาศัยการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการเรียนการสอนแบบมุ่งให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือ Active Learning เท่านั้น

และ 3.ไม่ว่าหลักสูตรอิงมาตรฐานหรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะต้องสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดรับกับพหุปัญญา ดึงศักยภาพความสามารถทางอาชีพของนักเรียนแต่ละคนที่แตกต่างกันออกมา เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้ประสบความสำเร็จทางอาชีพและอยู่รอดได้ในอนาคต ซึ่งสอดรับกับศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีจุดหมายปลายทางในการค้นพบศักยภาพตัวเองเพื่อพึ่งพาตนเองได้

ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องดิ้นรนเพื่อให้เรียนจบปริญญาอย่างที่ผ่านมา แต่สามารถจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ นักกอล์ฟอาชีพ นักดนตรีอาชีพ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อาชีพ ซึ่งมีรายได้มหาศาลหลัก 100 ล้านบาท เพราะค้นพบศักยภาพและได้รับการพัฒนาสมรรถนะในด้านนั้นๆ

ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ศธ.จะจัดนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาที่มีความพร้อม ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณเดือนกันยายน 2564 นี้ ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 ว่า ตนขอให้ข้อสังเกตไปยัง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า การจะทดลองนำร่องในสถานศึกษาแบบใดก็ตาม ศธ.จะต้องไม่ไปสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดผลกระทบกับสถานศึกษาอื่นๆ เมื่อต้องนำหลักสูตรมาปฏิบัติจริง

"โดยเฉพาะสถานศึกษาที่ไม่มีความพร้อมในชนบท สถานศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียน 40-50 คน ครูผู้สอนก็ขาดแคลน อุปกรณ์การเรียนการสอนก็ไม่เพียงพอ ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้หลักสูตรใหม่นี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)