จดหมายเปิดผนึก สคคท.! ร่าง กม.ศึกษาชาติ-การศึกษาตลอดชีวิตเข้าสภา 17 ก.ย.นี้

นายประชัน จันระวังยศ เลขาธิการสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) พร้อมด้วยนายวิสิทธิ์ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ได้ออกจดหมายเปิดผนึก สคคท.เรื่อง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติคือหัวใจของการปฏิรูปประเทศ เพื่อชี้แจงถึงประธานสมาพันธ์/สหพันธ์/นายกสมาคม/ประธานชมรม/ประธานเครือข่าย/ประธานกลุ่ม/ พี่ เพื่อน น้อง ผู้นำองค์กรครูผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศ

มีใจความดังต่อไปนี้ “ตามที่มีหนังสือ (ใบปลิว) เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้ององค์กรครู แจ้งแก่พี่ เพื่อน น้อง ผู้นำองค์กรครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศว่า “ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ผู้แทน ๖ พรรคการเมือง จะนำเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ให้สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการเป็นกฎหมายทั่วไป และจะประกาศใช้ต่อไป นั้น”

การนำเสนอหนังสือที่ลงชื่อโดยผู้ใช้นามว่า “คุณภาพการศึกษาชาติ” นั้น เป็นการนำเสนอต่อ พี่ เพื่อน น้อง ที่มีความคลาดเคลื่อนต่อหลักการ และความเป็นจริงในหลาย ๆ มิติ ซึ่งเป็นการสร้างความสับสน สร้างความอ่อนไหว และเปราะบางในสถานการณ์เช่นนี้ หรืออาจเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นที่ซ่อนเร้นบางประการ เช่น อำนาจหรือผลประโยชน์ที่แฝงอยู่ภายใน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างกระแสความเชื่อ เพื่อให้เกิดการต่อต้าน คัดค้าน และเรียกร้องตามมาในเรื่องดังกล่าว

ซึ่งในขณะนี้ การพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ นั้น เป็นไปตามกระบวนการตรากฎหมาย หรือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ที่จะทำหน้าที่พิจารณาตามขั้นตอน ดังนี้ คือ

๑. วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ : ที่ประชุมสภาจะพิจารณาเฉพาะ หลักการ เท่านั้น จะไม่พิจารณา รายละเอียดอื่น ๆ ถ้าไม่รับหลักการก็ตกไป ถ้ารับหลักการ ก็จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณารายละเอียด ซึ่งสมาชิกสภาทุกคน มีสิทธิ์เสนอขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ต่อประธานคณะกรรมาธิการ เรียกว่า แปรญัตติ

๒. วาระที่ ๒ ขั้นแปรญัตติ : ที่ประชุมจะพิจารณาเรียงมาตราที่มีการขอแปรญัตติ และลงมติ เฉพาะมาตรานั้น ว่าจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิ่มเติมตามที่สมาชิกสภาเสนอหรือไม่ หรือคงเดิม

๓. วาระที่ ๓ ขั้นลงมติให้ความเห็นชอบ : ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ อาจจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือแก้ไขใด ๆ หากไม่เห็นชอบ ก็จะตกไป หากถ้าเห็นชอบ ก็จะดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

นี่คือกระบวนการ หรือ ขั้นตอนการตรากฎหมาย หรือในที่นี้คือ การจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ. ซึ่งในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ผู้แทนทั้ง ๖ พรรคการเมือง จะนำเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. แก้ไขคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ (ใช้(ร่าง) พ.ร.บ. ของรัฐบาลเป็นร่างฯ หลัก) ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณารับ หลักการหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นกลไกของสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องทำหน้าที่ต่อไป

และในครั้งนี้ (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และ (ร่าง) พ.ร.บ. การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ที่คณะรัฐมนตรีเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นกฎหมายปฏิรูป จะบรรจุเข้าวาระการประชุม ในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ นี้เช่นกัน

ในหนังสือ (ใบปลิว) ผู้ที่ลงชื่อว่า “คุณภาพการศึกษาชาติ” (ไม่ทราบตัวตนของผู้เขียน) ได้นำเรียนต่อพี่น้องเพื่อนครูทั้งประเทศ และตั้งประเด็นคำถามว่า “จะทำเช่นไรดี” โดยเสนอแนวความคิดชี้นำไว้ ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ยอมรับ ถึงแม้กระทบสิทธิ์หรือคุณภาพการศึกษา ที่คาดว่าจะกระทบ โดยให้รอรับตาม กระบวนการเปลี่ยนแปลง(ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ รมว.และปลัดกระทรวงจะกำหนดโครงสร้างอย่างไร)

ตอบข้อคำถามที่ ๑ การดำเนินการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ นั้น เป็นไปตาม คำเรียกร้องของผู้นำองค์กรครูทั้งประเทศ ซึ่งมี ๖ พรรคการเมืองขานรับนำไปเสนอสู่การพิจารณาแก้ไข ในเรื่อง การกระจายอำนาจ ให้ไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา หรือเขตพื้นที่จังหวัด ในเรื่องการบริหารบุคคล ซึ่งแต่เดิม เป็นอำนาจของ กศจ. ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีมาก และสมควรกระทำอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยมีกฎระเบียบที่ชัดเจนรองรับในการปฏิบัติงาน

ส่วนที่บอกว่าใน (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษา เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารนั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะกำหนดโครงสร้างตามใจชอบ ในลักษณะ Single Command นั้น คงจะกระทำได้ยาก เพราะการจะกำหนดโครงสร้างการบริหารกระทรวงนั้น จะต้องทำเป็นพระราบัญญัติเท่านั้น หรือท่านเข้าใจว่า จะออกเป็นกฎกระทรวง หรือเปล่า

และส่วนที่ว่าจะกระทบต่อ “คุณภาพการศึกษา” นั้น มองว่ายังห่างไกลต่อการจัดการศึกษา ของสถานศึกษาอยู่ หาก (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จะต้องเข้าสู่ การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงของคณะกรรมาธิการ ซึ่งใน (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... นั้น ได้ให้ความสำคัญแก่สถานศึกษาเป็นอันแรกอยู่แล้ว โดยการให้อิสระในการบริหารงานหลักทั้ง ๔ ด้าน

ข้อ ๒ ไม่ยอมรับ เพื่อยังคงใช้กฎหมายชุด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒ และ (ร่าง) พ.ร.บ. แก้ไขฯ หรือให้รัฐบาลชะลอเพื่อปรับปรุงแก้ไขตามที่ องค์กรครูต้องการ

ตอบคำถามข้อที่ ๒ เรื่องการใช้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒ ไปก่อนนั้น จะต้องใช้อยู่แล้วจนกว่าจะมีพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งความต้องการของผู้ที่ใช้นามว่า “คุณภาพการศึกษาชาติ” ต้องการที่จะให้มีการปรับปรุงแก้ไขฯ (ร่าง) พ.ร.บ. ในส่วนนี้ที่องค์กรครูต่าง ๆ ได้เสนอขอแก้ไขไปแล้ว หลายองค์กร รวมทั้งการเสนอของพรรคการเมือง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ

การแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงด้วยการเขียน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ทุกฉบับต้องผ่านคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูป และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณ จึงต้องเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีปัญหาในความเข้าใจอยู่ในขณะนี้

(ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ นี้ เป็นร่างฯ ที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขของกฤษฎีกา ที่ ๖๖๐/๒๕๖๔ มาแล้ว ซึ่งต้องนำเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนข้อกังวลในมาตราต่างๆ นั้น สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากร ทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ได้นำเสนอต่อที่ประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา และตัวแทนจากกฤษฎีกา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ ทำเนียบรัฐบาล ให้แก้ไขในข้อกังวล ข้อสงสัย ของเพื่อนครูในชั้นต้นเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ ...

๑. เปลี่ยนใบรับรองความเป็นครูเป็น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

๒. เปลี่ยนหัวหน้าสถานศึกษา เป็น ผู้บริหารสถานศึกษา

๓. เปลี่ยนผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา เป็น รองผู้บริหารสถานศึกษา

๔. วิชาชีพครูเป็น วิชาชีพชั้นสูง

๕. เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกระทรวงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ (ต้องแปรญัตติเท่านั้น) และในส่วนรายมาตราที่เหลือ ซึ่งยังไม่ถูกต้องครบถ้วนนั้น ภาคประชาชน จะนำเสนอให้ แก้ไขในชั้นแปรญัตติของคณะกรรมาธิการที่จัดตั้งขึ้นหลังรับหลักการในวาระที่ ๑ แล้ว

ส่วนเรื่อง การดาวกระจาย ให้พี่ เพื่อน น้อง ครูไปขอให้ ส.ส./ส.ว. ให้โหวตไม่รับหลักการนั้น พวกเรามองว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้ หาก ส.ส./ส.ว. เห็นด้วย แต่เรื่องนี้ได้ทำความเข้าใจแล้วว่า “เป็นหน้าที่” ของส.ส./ส.ว. จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจด้วยตัวของท่านเองในฐานะตัวแทนประชาชน ว่ามีผลดีหรือผลเสีย ต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร และเด็กนักเรียน ชุมชน สังคม ได้ประโยชน์อย่างไร เพราะนั่นคือกระบวนการ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นสำคัญ

การที่จะนำพี่ เพื่อน น้อง ครูและบุคลากรทางการศึกษาเดินลงถนน ประท้วง หรือคัดค้านนั้น ได้มีการระดมความคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้พี่ เพื่อน น้อง ครูได้เข้าใจในเนื้อหาสาระของ (ร่าง) พ.ร.บ. อย่างถ่องแท้ทั้งผลดี ผลเสีย และผลกระทบ แล้วหรือยัง ทุกท่านต้องคิดให้รอบคอบ และรอบด้าน เพราะครูคือผู้นำทางความคิด เราต้องปฏิบัติตามวิถีของผู้เจริญ ซึ่งประกอบด้วย “ปัญญาธรรม คารวะธรรม และสามัคคีธรรม”

สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) ในนามภาคประชาชนเป็นองค์กรหลัก ในการเสนอขอแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ใน (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... (ฉบับรัฐบาล) จนได้มาซึ่ง (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านกฤษฎี ที่ ๖๖๐/๒๕๖๔ ซึ่งจะเป็นธรรมนูญหลัก และเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาประเทศ ดังนั้น สคคท. จึงออกหนังสือฉบับนี้เพื่อชี้แจงต่อ พี่ เพื่อน น้อง ผู้นำองค์กรครู ผู้บริหาร และบุคลากร ทางการศึกษาทั้งประเทศ ว่า

“อย่าได้หลงประเด็น หลงทิศทาง และหลงไปกับผู้นำที่จะนำพวกเราไปขึ้นเขา ลงห้วย เข้าป่า เข้ารก และตกเหว โดยไม่รู้ความจริงว่าขณะนี้กฎหมายต่าง ๆ นั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ของสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ”

ทั้งนี้ สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) จะติตตามอย่างต่อเนื่อง

จึงกราบเรียนมายัง พี่ เพื่อน น้อง ครู ผู้นำองค์กรครู ที่เคารพทุกท่านได้หยุดคิด และพิจารณา เรื่องทั้งหมดนี้ด้วยเหตุผล และหลักความเป็นจริง”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)