รัฐบาลอย่าทำผิดกฎหมาย! ชงร่าง กม.ศึกษาชาติเข้าสภา: เสียงสะท้อน'สมบัติ นพรัก'

รัฐบาลโปรดอย่าทำผิดกฎหมาย! 

ชงร่าง พ.ร.บ.ศึกษาชาติเข้าสภา

เสียงสะท้อนจาก “ครูของครู” สมบัติ นพรัก

@อ่าน เหตุผลข้อห้าม! รัฐบาลเสี่ยงทำผิดกฎหมาย

@ทำไม?กก.ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต้องยก(ร่าง)ใหม่

@ให้สอดคล้อง รธน.๒๕๖๐-บุคคลทั้ง 3 กลุ่มยอมรับ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย, ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เขียนบทความเรื่อง “รัฐบาลโปรดอย่าทำผิดกฎหมายด้วยการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและโพสต์เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก สมบัติ นพรัก

อีกทั้งได้โพสต์เมื่อคืนวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา แจ้งเรื่องได้ส่งจดหมายพร้อมบทความเรื่องดังกล่าวนำเรียนผู้เกี่ยวข้องกับ (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...จำนวน 6 คน ประกอบด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ประธานสภาผู้แทนราษฏร, ประธานวุฒิสภา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

ทั้งนี้ บทความเรื่อง “รัฐบาลโปรดอย่าทำผิดกฎหมายด้วยการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดย รศ.ดร.สมบัติ นพรัก มีเนื้อหาเริ่มจาก

“สาเหตุที่ผู้เขียนตั้งชื่อบทความว่า รัฐบาลโปรดอย่าทำผิดกฎหมายด้วยการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...เข้าสู่สภาผู้แทนราษฏรนั้น เนื่องจากผู้เขียนมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้ครับ เหตุผล ๗ ประการ ที่รัฐบาลไม่ควรเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฏร

เหตุผลประการที่ ๑ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ขัดกับรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ดังนี้

๑) รัฐธรรมนูญฯ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ บัญญัติว่า มาตรา ๕๔ รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

๒) (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...หมวด ๑ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา บัญญัติว่า มาตรา ๑๒ การจัดการศึกษาของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้รัฐจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และให้มีการสนับสนุนผู้เรียน ตามมาตรา ๘ (๖)(ก) ในด้านการพักอาศัยและดำรงชีพเป็นกรณีพิเศษ

หมายเหตุ มาตรา ๘ บัญญัติว่า ในการพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา ๗ ต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามระดับช่วงวัย ดังต่อไปนี้ (๑) ช่วงวัยที่หนึ่ง ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบหนึ่งปี (๒) ช่วงวัยที่สอง เมื่อมีอายุเกินหนึ่งปีจนถึงสามปี (๓) ช่วงวัยที่สาม เมื่อมีอายุเกินสามปีจนถึงหกปี (๔) ช่วงวันที่สี่ เมื่อมีอายุเกินหกปีจนถึงสิบสองปี (๕) ช่วงวัยที่ห้า เมื่อมีอายุเกินสิบสองปีจนถึงสิบห้าปี (๖) ช่วงวัยที่หก เมื่อมีอายุเกินสิบ ห้าปีจนถึงสิบแปดปี รวมระยะเวลาตั้งแต่ช่วงวัยที่หนึ่งถึงช่วงวัยที่หกตามมาตรา ๑๒ จำนวนอายุตามช่วงวัยรวมสิบแปดปี ที่รัฐต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

๓) ประเด็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) ‘(ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...มาตรา ๑๒ กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลาสิบแปดปี ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๔ กำหนดให้รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

เหตุผลประการที่ ๒ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ขัดกับรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

๑) รัฐธรรมนูญฯ หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา ๒๖ การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

๒) (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ มาตรา ๑๐๗ วรรคสอง บัญญัติว่า ครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่และยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมาย ว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายดังกล่าว  หรือจะขอใบรับรองความเป็นครูตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

๓) ประเด็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖ วรรคสอง บัญญัติให้ กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง แต่ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ มาตรา ๑๐๗ วรรคสอง กำหนดบังคับโดย ให้ครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่และยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมาย มีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการบังคับเฉพาะกรณีให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ให้ได้รับสิทธิ์

#ประการสำคัญ โดยลำดับศักดิ์ของกฎหมาย รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด ส่วน พระราชบัญญัติคือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

เหตุผลประการที่ ๓ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... มีความคลุมเครือในการออกกฎหมาย (Coverage in legislation) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

๑)รัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ หน้าที่ของปวงชนชาวไทย บัญญัติว่า มาตรา ๕๐ บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๔) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ, หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ บัญญัติว่า มาตรา ๕๔ รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

๒) (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...หมวด ๔ การจัดการศึกษา ส่วนที่ ๓ ระบบการศึกษา บัญญัติว่า

มาตรา ๕๐ ให้มีการศึกษาภาคบังคับตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ

๓) ประเด็นความคลุมเครือในการออกกฎหมาย (Coverage in legislation) คือ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ มาตรา ๕๐ ไม่ระบุจำนวนปี ระดับการศึกษา และอายุของผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับ ตามที่มาตรา ๕๔ กำหนด ทั้งที่การศึกษาภาคบังคับเป็นหัวใจหลัก ของการจัดการศึกษาแห่งชาติที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน จึงเป็นความคลุมเครือในการออกกฎหมาย (Coverage in legislation)อย่างที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

๔) ตัวอย่างการออกพระราชบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ไม่มีความคลุมเครือในการออกกฎหมาย (Coverage in legislation) คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ดังนี้ (๑)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย *มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

(๒) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา๑๗ ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

#จากความชัดเจนในการออกกฎหมายข้างต้น จะเห็นว่าประเทศไทยมีตัวอย่างที่ดีในการออกกฎหมายการศึกษาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่นำตัวอย่างดีๆมาใช้ในการร่างกฎหมายฉบับใหม่?

เหตุผลประการที่ ๔ การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ดังนี้

๑) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ (๒) ศึกษาและเสนอแนะกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู และอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทน ที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการ บริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู ต่อคณะรัฐมนตรี

๒) (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ข้อ (๒) ดังนี้ มาตรา ๓๘ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและสำนักกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันจัดให้มีการศึกษาและวิจัยต้นแบบ กระบวนการและวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนในการผลิตครู ที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) รวมตลอดทั้งวิธีการ ในการพัฒนาศักยภาพครูให้สูงขึ้น และทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ ได้

ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจหรือสิทธิของสถาบันอุดมศึกษา ในการศึกษาและวิจัยตามหน้าที่ของตน

*จะเห็นได้ว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ศึกษาและเสนอแนะกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู และอาจารย์ แต่ประการใด

เหตุผลประการที่ ๕ การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

๑) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ(๔) ศึกษาและเสนอแนะแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ต่อคณะรัฐมนตรี

๒) (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ไม่มีการบัญญัติ โครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ต่อคณะรัฐมนตรี ตามอำนาตหน้าที่ในข้อ (๔)แต่ประการใด

#มีเพียง มาตรา ๙๖ ที่บัญญัติ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นส่วนราชการในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น

๓) ตัวอย่างการกำหนดโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พศ..๒๕๔๒ ตามข้อ (๔)

มาตรา ๓๒ ให้กระทรวงมีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภา หรือในรูปคณะกรรมการจำนวนสี่องค์กร ได้แก่ สภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรา ๓๗ การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษา โดยคำนึงถึงปริมาณสถานศึกษา จำนวนประชากรเป็นหลัก และความเหมาะสมด้านอื่นด้วย

ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสถานศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษา

มาตรา ๕๔ ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งของหน่วยงานทางการศึกษาในระดับสถานศึกษาของรัฐ และระดับเขตพื้นที่การศึกษาเป็นข้าราชการในสังกัดองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูโดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

เหตุผลประการที่ ๖ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่งตั้งโดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐ ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

แต่ปัจจุบันภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ มีคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๖๒ ตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒  โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ดังนั้น (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงไม่ควรมีผลผูกพันกับรัฐบาลปัจจุบัน ที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นคณะรัฐมนตรีคนละชุดกัน

การไม่เสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  จึงเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

เหตุผลประการที่ ๗ ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ (ฉบับที่ ๒)ที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ และมติคณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับที่ ๒) มีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และโดยที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ (ฉบับที่ ๒) ไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต้องจัดทำ (ร่าง)กฎหมายภายใต้ผลผูกพันกับ (ร่าง) กฎหมายของคณะกรรมการชุดแรกที่ถูกยกเลิกด้วย

ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๒) จึงควรต้อง (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีความเป็นสากล และได้รับการยอมรับจากบุคคลทั้ง ๓ กลุ่ม ได้แก่ (๑) ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง (customer) , (๒) ผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม (consumer) และ (๓) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder)

### ด้วยเหตุผล ๗ ประการข้างต้น ผู้เขียนจึงขอวิงวอนรัฐบาลโปรดอย่าทำผิดกฎหมายด้วยการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับที่สร้างความแตกแยกมากที่สุด เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ขอให้ฝันร้ายด้านการศึกษาจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...หายไปด้วยเถิด”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)