'องค์กรนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน' ต้าน อ.ก.ค.ศ.จว. อ้างผู้ว่าฯไม่มีเวลา

 

ไพศาล ปันแดน

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 นายไพศาล ปันแดน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๑ ในฐานะนายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการประชุมกรรมการบริหารสมาคม ฯ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ ว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่เห็นชอบร่างปรับปรุงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๑๙/๒๕๖๐ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับปรุงเสนอ

โดยมีสาระสำคัญคือแยกอำนาจการบริหารงานบุคคลจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มาให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จังหวัด คืนอำนาจการบรรจุแต่งตั้งตามมาตรา ๕๓ กลับคืนมายังผู้บังคับบัญชาเหมือนเดิม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กศจ.

มีอนุกรรมการโดยตำแหน่ง ๓ คน ประกอบด้วย ผู้แทน ก.ค.ศ. ศึกษาธิการจังหวัด และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา. อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ คน คือด้านบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา และด้านกฎหมาย อนุกรรมการประเภทผู้แทน ๓ คน คือ ผู้แทนข้าราชการครู ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา และผู้แทนจากบุคลากรทางการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต ๑ หรือเขตเดียว เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ซึ่งที่ประชุมกรรมการบริหารสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาร่างปรับปรุงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ดังกล่าว ที่ให้มี อ.ก.ค.ศ. จังหวัดบริหารงานบุคคลแทน กศจ.นั้น เนื่องจากการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาเป็นฐาน ซึ่งประกอบด้วย เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจำนวน ๑๘๓ แห่ง เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจำนวน ๖๒ แห่ง รวมเป็น ๒๔๕ เขตพื้นที่การศึกษา แต่มีองค์คณะบุคคล (อ.ก.ค.ศ.จังหวัด) จำนวน ๗๗ แห่ง จึงทำให้เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ไม่ใช่เขต ๑ หรือเขตเดียว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลจำนวนทั้งสิ้นกว่า ๑๐๐ เขตพื้นที่การศึกษา

ดังนั้น การมี อ.ก.ค.ศ.จังหวัดตามองค์ประกอบดังกล่าวนี้ จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์สำคัญที่ผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย คือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๑๐๖ แห่ง ไม่มีอำนาจบริหารงานบุคคลพิจารณาให้คุณให้โทษต่อผู้ใต้บังคับบัญชาได้ มีอำนาจเพียงแต่การสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมติที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.จังหวัดเท่านั้น

นอกจากนี้ การให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด ยังไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจตามมาตรา ๙ (๒) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้กระทรวงกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าวนี้ ที่ประชุมกรรมการบริหารสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย จึงมีมติเห็นชอบให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ของ ๖ พรรคการเมือง ที่ได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้แล้ว และสมาคมฯจะทำหนังสือในเร็วๆ นี้ เรียนไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อได้โปรดพิจารณาให้การสนับสนุนร่างฯของ ๖ พรรคการเมือง” นายไพศาล กล่าว

ธนชน มุทาพร

ด้าน นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย , เลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า

จากการประชุมแกนนำเครือข่าย ค.อ.ท.มีมติพ้องกันว่า ควรกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลมายัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพราะอยู่ใกล้สถานศึกษา รู้และเข้าใจปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี รวมทั้งมีความรวดเร็วในการบริหารงานบุคคลได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของสถานศึกษา สามารถเชิญประชุมองค์คณะได้ทันที เพราะไม่มีข้อจำกัดของการกำหนดเวลาการประชุม เนื่องจากมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน

ไม่เหมือนการมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมามีหลาย กศจ.ที่เสียโอกาสในการบริหารงานบุคคลที่เกิดจากข้อจำกัดในการบริหารเวลาของประธาน เพราะมีภารกิจงานมาก จึงมีหลาย กศจ.ที่ไม่สามารถประชุมได้ให้ทันกับความต้องการของสถานศึกษา

นายธนชน กล่าวต่อว่า สำหรับข้อห่วงใยของการทำนาบนหลังครู หรือเรียกรับเงินจากการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ถือว่ามีส่วนน้อยมาก แต่เป็นเหตุผลสำคัญของการยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาในอดีตนั้น ที่ประชุม ค.อ.ท.เชื่อมั่นว่า คงไม่มีใครกล้าขุดหลุมฝังศพตัวเองให้ชีวิตราชการตายก่อนเวลาอันควร เพราในยุคโซเซียลมีเดียจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างระบบธรรมาภิบาลให้เข็มแข็ง

อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อกำจัดบุคคลที่สร้างความเสียหายให้กับองค์คณะบุคคล โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออก กฎ ก.ค.ศ. ระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวปฏิบัติ ที่ไม่เอื้อต่อการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต

กฎ ก.ค.ศ. ระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวปฏิบัติต่อการบริหารงานบุคคลนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลให้เกิดความโปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ และเป็นหลักประกันสำคัญที่สุดที่จะยุติปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลใจในเรื่องนี้

ที่สำคัญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ เป็นน้ำใหม่ที่จะต้องเป็นแบบอย่าง “หัวไม่ส่าย หางต้องไม่กระดิก” และควบคุมไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)