ถกร่าง กม.แก้คำสั่ง หน.คสช.19/60 รอง ปธ.กมธ.เสนอยุบ คปภ.-ศธภ.-ศธจ.

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 2564 มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยที่ประชุมยืนยันคืนอำนาจงานบริหารบุคคลจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ให้กับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา

ทั้งนี้ รศ.สุรวาท ทองบุ รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่สี่ ได้เสนอให้มีการคืนอำนาจของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (กพท.) จาก กศจ.ด้วย เพื่อให้การบริหารงานครบทุกด้านเกิดความร้อยรัดสอดคล้องกันและเป็นเอกภาพคืนแก่เขตพื้นที่การศึกษา

  

นอกจากนี้ รศ.สุรวาทได้เสนอให้ยุบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.), ศึกษาธิการภาค (ศธภ.), ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และให้แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบ ที่มา และคุณสมบัติของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาด้วย 

อย่างไรก็ตาม ตามร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ที่รับหลักการมา ประกอบกับความเห็นของคณะกรรมาธิการส่วนหนึ่งเห็นว่า คืนเพียงอำนาจการบริหารงานบุคคลจาก กศจ.ให้กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น ซึ่งการประชุมยุติลงและพิจารณาแล้วเสร็จเพียง 2 มาตรา ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะคืนอำนาจจาก กศจ.ทั้งหมดให้กับอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาหรือไม่ โดยได้นัดประชุมครั้งต่อไปวันที่ 19-20 ตุลาคม 2564

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวที่ จ.สระแก้วในวันเดียวกันนี้ว่า ประเด็นที่มีการสอบถามถึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาล ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาแล้วนั้น ไม่ต้องกังวล เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้าในเดือนพฤศจิกายนนี้เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาอย่างแน่นอน เพราะเป็นกฎหมายสำคัญ

อนึ่ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ที่ รศ.สุรวาทในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ได้เสนอให้ยุบนั้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่มีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

(๑) กําหนดทิศทางการดําเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด (๒) โอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้ และเงินงบประมาณของส่วนราชการใดในกระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกําหนด รวมทั้งพิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด (๓) วางแผนงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาค หรือจังหวัด 

(๔) เกลี่ยอัตรากําลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เงินงบประมาณและทรัพย์สินของส่วนราชการต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการได้ทั้งกระทรวงโดยต้องไม่เพิ่มอัตรากําลังคนและงบประมาณ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

การเกลี่ยอัตรากําลังตามวรรคหนึ่ง ให้ตัดโอนอัตราตําแหน่งและเงินงบประมาณแผ่นดินประจําอัตรา รวมตลอดทั้งงบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจํา และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งตั้งไว้สําหรับตําแหน่งที่เกลี่ยนั้นมาเป็นของส่วนราชการที่รับโอน และการโอนหรือการนํารายจ่ายที่กําหนดไว้สําหรับส่วนราชการใดในกระทรวงศึกษาธิการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไปใช้สําหรับส่วนราชการที่รับโอน นอกเหนือจากกรณีตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.๒๕๐๒ ให้กระทําได้

(๕) แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในตําแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด ทั้งนี้ตามประเภทหรือระดับตําแหน่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกําหนด

ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีบทบัญญัติใดกําหนดให้องค์กรอื่นใดมีอํานาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง มิให้นําบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับแก่องค์กรซึ่งมีอํานาจหน้าที่ดังกล่าว

(๖) สั่งให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในตําแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือให้พ้นจากตําแหน่ง

ในกรณีที่ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานผู้ใดถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกสั่งให้พ้นจากตําแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้งดการจ่ายค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ในตําแหน่งในระหว่างที่ถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกสั่งให้พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่ได้รับทราบคําสั่ง

(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตามข้อ ๙ (๘) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทํางานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจําเป็น และ (๙) เชิญข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริง รวมทั้งเรียกเอกสารจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)