ค.อ.ท.ตามบี้ถอด‘เอกชัย กี่สุขพันธ์’ พ้น ศธ. ยื่นทวงถาม‘ตรีนุช’ ขู่เคลื่อนต่อ

 

ธนชน มุทาพร

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ในนามเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณี ค.อ.ท.ได้ออกแถลงการณ์ และทำหนังสือถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรียกร้องให้พิจารณาถอดถอน รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ออกจากทุกตำแหน่งหน้าที่ในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพครู ภายใน 1 เดือน

ทั้งตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) , ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา ซึ่งได้รับแต่งตั้งสมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2561 เรื่องการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

และตำแหน่ง รักษาการประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งจากคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ในฐานะกำกับดูแล สมศ.

สืบเนื่องจาก ค.อ.ท.เห็นว่า รศ.เอกชัยมีพฤติการณ์การสื่อสารในทางสังคมที่อาจมองได้ว่า มิได้มีเจตนายกย่องผู้ประกอบวิชาชีพครู ทำให้สังคมอาจมองได้ว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ด้อยค่า โดยมีพฤติการณ์การสื่อสารในลักษณะนี้หลายครั้ง เช่น ได้สื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ความว่า “ครูไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง แต่ครูเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู” เป็นต้น

อีกทั้ง ค.อ.ท.ยังเห็นว่า รศ.เอกชัยไม่เคยมีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีความชำนาญ จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง รศ.เอกชัยให้ลาออก และทำหนังสือเรียกร้องนางสาวตรีนุชให้พิจารณาถอดถอนจากทุกตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว

ตรีนุช เทียนทอง

ประธานชมรม ผอ.สพท. ในนามเครือข่าย ค.อ.ท. กล่าวต่อว่า จนถึง ณ เวลานี้ล่วงเลยมาร่วม 1 เดือนแล้ว เรื่องยังเงียบอยู่ นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และรักษาการประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) จึงได้ลงนามในหนังสือที่ ค.อ.ท. 008/2564 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ส่งถึงมือ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว เพื่อทวงถามผลการพิจารณาถอดถอน รศ.เอกชัยออกจากทุกหน้าที่ใน ศธ.

“และหากว่า เร็วๆ นี้ นางสาวตรีนุชยังไม่ดำเนินการใดๆ ค.อ.ท.จะเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งประเทศเข้าชื่อร้องเรียนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเรื่องยังเงียบอีก ค.อ.ท.จะเชิญชวนองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศขึ้นป้ายกดดันให้รัฐบาลและ ศธ.ถอดถอนนายเอกชัย รวมทั้งเชิญชวนให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาเลิกสังฆกรรมกับนายเอกชัย” นายธนชน แกนนำเครือข่าย ค.อ.ท.กล่าว

สำหรับประวัติการทำงานนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นอดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารการศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตประธานกรรมการบริหารหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์การต่างๆ ภาคเอกชน, วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน

ส่วนตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน ได้แก่ รักษาการประธานกรรมการบริหาร สมศ., ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน, ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา, ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) C Employers’ Confederation of Thailand 

อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เฟซบุ๊ก Ekachai Keesookpun เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เผยแพร่โพสต์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ไว้ดังนี้

“ความจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ที่สร้างความกังวลของผู้ที่ได้ข้อมูลเพียงบางส่วนตามที่ผู้เห็นต่างต้องการสร้างกระแส ในฐานะที่มีส่วนร่วมเป็นกรรมการกฤษฎีการ่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ขอเรียนผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลขั้นตอนของกฤษฎีกาที่ยกร่าง พ.ร.บ.ย่อๆ ดังนี้ครับ

1.ในกรรมการกฤษฎีกาที่ยกร่าง มีนักการศึกษาและอดีตเลขา สพฐ. ซึ่งท่านเป็นอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายท่านเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้อยู่ในวงการศึกษาทั้งพื้นฐาน อาชีวะ และอุดมศึกษาครับ (ที่บอกว่าไม่มีนักการศึกษาร่วมร่าง พ.ร.บ.นี้ คงไม่ทราบข้อมูล)

2.กรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ กอปศ.ยกร่างผ่าน ครม.แล้วเป็นรอบๆ ดังนี้ครับ

รอบแรก. เชิญคณะ กอปศ.เข้าร่วมชี้แจงประเด็นต่างๆ ตั้งแต่มาตราแรกจนสุดท้าย เหตุผลใดที่ กอปศ.เสนอยกร่างมาแบบนั้น มีการอภิปรายปรับปรุงสรุปด้วยความเห็นพ้องทุกฝ่าย

รอบสอง. เมื่อปรับปรุงรอบแรกเสร็จได้ร่างแรกแล้วก็เชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมประชุมให้ข้อคิด ความเห็นที่แตกต่างทีละมาตรา มีการปรับถ้อยคำ ภาษาให้เป็นไปตามที่เห็นร่วมกัน และยอมรับได้ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมีทั้งเลขาฯสภาการศึกษา เลขา สพฐ. เลขา สอศ. เลขา ก.ค.ศ. เลขา กศน. เลขา สช. ผอ สสวท. ผู้แทนสมาคมการศึกษาทางเลือก และอีกหลายท่าน ไม่มีใครครอบงำความคิดของใครได้ ทุกคนแสดงความคิดอย่างอิสระ

รอบสาม. มีการนำผลสรุปจากรอบสองขึ้น website เพื่อรับฟังความคิดเห็น และขอให้ผู้บริหารระดับสูงที่เข้าร่วมในรอบสอง นำร่างกลับไปปรึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการและหรือหน่วยงานของตนเอง เพื่อเสนอกลับมาก่อนจะสรุปสุดท้าย เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

3.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ไม่เคยมีแนวคิดการยกเลิกค่าวิทยฐานะ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ผู้บริหารสถานศึกษา การศึกษา หรือครูเคยได้รับ ตรงข้ามกลับคิดจะปกป้องครูไม่ให้ใช้ครูไปทำงานอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน หรือแม้แต่การสับเปลี่ยนโยกย้ายครู ก็เปิดโอกาสให้พิจารณาค่าตอบแทนพิเศษได้ด้วย

สำหรับการจะเปลี่ยนชื่อเรียกจากใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครูก็ไม่ทำให้ครูเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้แต่อย่างใด (ซึ่งผมเห็นว่าถ้าครูไม่สบายใจกับคำว่าใบรับรองความเป็นครู จะเรียกแบบเดิมใบประกอบวิชาชีพครูก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ)

การจะเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนแบบเดิม ไม่อยากได้คำว่าครูใหญ่ ถ้าส่วนมากมีความรู้สึกว่า ผู้อำนวยการดูดี มีศักดิ์ศรีมากกว่าคำว่าครูใหญ่ ก็ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะชื่อนั้นเป็นเพียงเปลือก แก่นคือคุณภาพการศึกษาต้องเกิดขึ้นให้ได้ และถ้าคุณภาพการศึกษาไม่ดีควรต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

4.เรื่องโครงสร้างบริหารที่ประชุมมองว่า ให้เป็นอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาฯ เป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อความคล่องตัว มากกว่าที่จะกำหนดตายตัวเหมือนแบบอดีต แต่หลักการสำคัญที่มีการพูดถึงก็คือ ปลัดกระทรวงต้องมีอำนาจในการกำกับดูแลทุกหน่วยงานในกระทรวงได้ (ไม่ใช่อิสระแบบปัจจุบัน) แม้จะให้ ซี เท่ากันก็ไม่ว่า ขอให้มีศูนย์กลางที่กำกับดูแลได้ครับ

ขอเรียนแจ้งข้อมูลเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือได้ข้อมูลเพียงบางส่วน มีโอกาสรับรู้ทำความเข้าใจ ขอเรียนย้ำอีกครั้งครับว่า ในที่ประชุมไม่เคยมีความคิดที่จะยกเลิกค่าตอบแทนวิทยฐานะ ที่ผู้บริหารสถานศึกษา การศึกษา ครู หรือศึกษานิเทศก์เคยได้แต่อย่างใด

การแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของครูและบุคลากรการศึกษาทุกคนถ้ามีเหตุผล ความจำเป็น และขอให้ทำเพื่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ผมว่าจะมีผู้สนับสนุนท่านแน่นอนครับ

เอกชัย กี่สุขพันธ์

ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

30 ตุลาคม 2562”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)