นายก ส.บ.ม.ท.โต้!นักวิชาการ แจงเหตุผลบัญญัติคำ "ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง"

นายก ส.บ.ม.ท.โต้!นักวิชาการ มหาวิทยาลัย แจงเหตุผลบัญญัติคำ "ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง" ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าว EdunewsSiam รายงานว่า จากกรณีมีองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกร้องให้รัฐบาลบัญญัติคำว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการที่เพิ่งผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา 

ตามที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา ๕๒ แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ว่า “ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการลดสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะเงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะ

กระทั่ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิชาการบางคน อาทิ ในระดับมหาวิทยาลัยเริ่มออกมาแสดงทรรศนะในทำนองว่า ครูไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง แต่ครูเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู 

รวมทั้งนักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่? ที่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ควรกำหนดให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง

พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า "ถ้าระบุไว้ใน พ.ร.บ.ว่า ครูเป็นอาชีพชั้นสูงแล้ว ต่อไปครูเดินไปไหนมาไหน คนที่เห็นต้องไหว้หรือไม่? หรือคนที่มีอาชีพชั้นสูงจะได้นั่งแถวหน้าเวลาไปดูคอนเสิร์ต? สรุปว่าเขียนไปก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อครูเลย ตรงกันข้ามการไปกำหนดว่าอาชีพครูเป็นอาชีพชั้นสูง ก็อาจจะเกิดคำถามต่อ เช่น อาชีพวิศวะน่าจะเป็นอาชีพชั้นสูงกว่าไหม เพราะทำงานตึกสูงตั้ง 40-50 ชั้น..."

 รัชชัยย์ ศรสุวรรณ

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า ตนขอเรียนและสื่อสารไปถึงบรรดานักวิชาการต่างๆ ดังกล่าวว่า ท่านคงไม่เข้าใจที่มาที่ไปของคำว่าอาชีพชั้นสูง เนื่องจากท่านได้พูดถึงเรื่องคนที่มีอาชีพชั้นสูงจะได้นั่งแถวหน้าเวลาไปดูคอนเสิร์ต หรืออาชีพวิศวะน่าจะเป็นอาชีพชั้นสูงกว่าไหม เพราะทำงานตึกสูงตั้ง ๔๐-๕๐ ชั้น เป็นต้น

ตนเชื่อโดยสนิทใจว่า ท่านผู้นั้นไม่เคยประกอบวิชาชีพครู ไม่เคยไปสัมผัสครูที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ไม่เข้าใจวิชาชีพครูที่แท้จริงว่า วิชาชีพครูนั้นต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ขอเรียนว่าผู้ที่ศึกษาวิชาชีพครูนั้น จะต้องถูกฝึกทั้งทางวิชาการและจิตวิญญาณ

ให้เตรียมรับมือกับภารกิจในการพัฒนานักเรียนทั้งในเรื่องความฉลาดรู้ ความประพฤติ ความมีคุณธรรม และการแก้ปัญหาต่างๆ ของนักเรียน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม โดยต้องถูกปลูกฝังในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากกว่า ๔-๕ ปี ในสถาบันการผลิตครู จะถูกปลูกฝังให้มีจิตสำนึกที่จะใส่ใจนักเรียน ในฐานะพ่อแม่คนที่สองของนักเรียน

เกี่ยวกับเรื่องการเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ขอเสนอแนะให้ผู้วิจารณ์หาความรู้เพิ่มเติมได้จากงานวิจัยของนายสุนทร มูสิกรังสี เรื่อง "การศึกษาพฤติกรรมของครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู" ซี่งงานวิจัยดังกล่าวนั้น ได้มีการกล่าวถึงวิชาชีพชั้นสูงตามแนวคิดของนักการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศไทย ดังนี้

​๑.เป็นวิชาชีพที่ให้บริการแก่สังคม ๒.เป็นวิชาชีพที่จะต้องได้เรียนรู้เป็นระยะเวลานานและวิชาต่างๆ จะต้องมีหลักการและทฤษฎีที่เชื่อถือได้ซึ่งจะต้องเกิดจากการวิจัย

​๓.เป็นวิชาชีพที่มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นขอบเขตแห่งความประพฤติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบอาชีพและป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการหรือสังคม ในกรณีที่ผู้ประกอบอาชีพเลินเล่อขณะทำการประกอบอาชีพและเป็นแนวปฏิบัติหรือข้อบังคับให้มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา

​๔.เป็นวิชาชีพที่ใช้ปัญญาอย่างมากในการประกอบอาชีพ จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบอย่างสูงต่อวิชาชีพและต่อผู้บริการตลอดเวลา ๕.เป็นวิชาชีพที่มีที่มีความอิสระในการประกอบอาชีพ มีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการตามสาระสำคัญแห่งวิชาชีพ ทั้งทางด้านเทคนิควิธีและกระบวนการให้สอดคล้องกันและเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการหรือสังคมได้โดยไม่มีข้อจำกัด

​๖.เป็นวิชาชีพที่มีฐานะทางสังคมอยู่ในระดับสูง ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูงและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ๗.เป็นวิชาชีพที่มีสถาบันของตนเองเพื่อควบคุม ส่งเสริม พัฒนา สร้างสรรค์สาระแห่งวิชาชีพ ตลอดจนเกียรติศักดิ์ศรีของวิชาชีพและบุคคลในวิชาชีพ

นายก ส.บ.ม.ท. กล่าวต่อว่า วิชาชีพครูในฐานะเป็นวิชาชีพชั้นสูงเพราะ ​๑.วิชาชีพครูมีบริการที่ให้แก่สังคมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและจำเป็นที่สังคมจำต้องมีบริการดังกล่าว ๒.วิชาชีพครูต้องใช้วิธีการแห่งปัญญาอย่างยิ่งเพราะการสอนเป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยมไปสู่เยาวชน

​๓.ผู้ที่เป็นครูจำต้องได้รับการศึกษาอบรมให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างลึกซึ้ง มีความรู้กว้างที่จะเข้าใจตนเอง ผู้อื่นและสังคม สิ่งแวดล้อม รู้หลักการและวิธีการสอนรวมทั้งสามารถประยุกต์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติวิชาชีพได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ ระยะเวลาที่ศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นครูจึงต้องยาวนานพอสมควร อย่างน้อยตบจบปริญญาตรี

​๔.ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีอิสระและเสรีภาพทางวิชาการในการให้บริการตามมาตรฐานของวิชาชีพ ๕.วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มุ่งบริการแก่ผู้อื่นมากกว่าการหาประโยชน์จากผู้รับบริการจึงต้องเป็นวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณ ​๖.วิชาชีพครูมีคุรุสภาเป็นสถาบันวิชาชีพที่เป็นแหล่งกลางในการควบคุมมาตรฐานและส่งเสริมความก้าวหน้าของวิชาชีพ

​"แนวคิดในเรื่องวิชาชีพชั้นสูง และแนวคิดเรื่องวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น เป็นแนวคิดที่ได้มาจาก ดร.ก่อ สวัสดิพานิชย์, ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน, อาจารย์จันทร์ ชุ่มเมืองปักษ์, อาจารย์ยนต์ ชุ่มจิต ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นนักการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ที่สำคัญคือวิชาชีพใดก็ตามที่มีองค์ประกอบครบตามข้อค้นพบของงานวิจัยเรื่องนี้ ก็สามารถยอมรับได้ว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง"

นายรัชชัยย์กล่าวถึงคุณภาพครูในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขาดจิตวิญญาณของความเป็นครูว่า เรื่องนี้มีต้นเหตุมาจากคุรุสภาที่บริหารโดยบุคคลที่ไม่เคยเป็นครู ไม่มีจิตวิญญาณครู ได้กำหนดระเบียบอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาอบรมเพื่อที่จะมาเป็นครู ไม่เคยถูกปลูกฝังทางจิตวิญญาณด้านวิชาชีพครู สามารถมาประกอบวิชาชีพครูได้ จนเป็นเหตุความล้มเหลวในการพัฒนาผู้เรียน

ตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจขอได้โปรดพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องการวางตัวบุคคลที่จะมาบริหารภารกิจของครูในทุกองค์กร โดยควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 15 ปี ไม่เช่นนั้นก็จะได้ผู้บริหารที่คิดและเสนอแนะอะไรต่างๆ นานาตามอำเภอใจของตนเอง ขาดการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มี จนทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงทางด้านการศึกษาของเยาวชน

"นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่ไม่ยอมรับให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ล้วนแล้วแต่ไม่เคยเป็นครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แม้แต่รายเดียว” นายรัชชัยย์ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)