มติ กมธ.ผ่านมาตรา 3 ร่าง กม.แก้คำสั่ง หน.คสช.19/60 ไม่คืนอำนาจ กศจ.ให้ กพท.

 

มติ กมธ.พิจารณาร่าง กม.แก้ไขคำสั่ง หน.คสช.19/60 ผ่านมาตรา 3 แล้ว เสียงส่วนใหญ่ 18:1 ยึดตามหลักการวาระหนึ่ง คืนอำนาจบริหารบุคคลให้ อ.ก.ค.ศ.เขต แต่ไม่คืนอำนาจทั่วไปให้ กพท. ยอมแค่ให้ กศจ.มอบหมาย ผอ.สพท.ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ชงสภาฯวาระ 2-3 ภายในปลาย พ.ย.

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 รศ.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 เปิดเผยกับสำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า

ในวันนี้ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ได้พิจารณาความในมาตรา 3 ซึ่งเป็นมาตราสำคัญ และตนได้เสนอให้มีการคืนอำนาจของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (กพท.) จากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ด้วย นอกเหนือจากการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาได้มีการบริหารงานครบทุกด้าน เกิดความร้อยรัดสอดคล้องกันและเกิดเอกภาพภายในเขตพื้นที่การศึกษา

แต่มติ กมธ.วิสามัญฯเสียงส่วนใหญ่ในวันนี้ 18:1 เสียง ยังคงให้ยึดตามหลักการของร่าง พ.ร.บ. คือให้คืนอำนาจหน้าที่ กศจ.ที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ ให้กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตามเดิม แต่ไม่คืนอำนาจหน้าที่ของ กศจ.ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้กับ กพท.

เพียงแต่ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 3 ให้ กศจ.ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัด ตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีข้อความเพิ่มต่อท้าย “ทั้งนี้ อาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ปฏิบัติหน้าที่แทนได้”

ดังข้อความต่อไปนี้ มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 8 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 (ที่บัญญัติเรื่องให้ กศจ.มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัด) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(1) อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ อาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฏิบัติหน้าที่แทนได้”

รศ.ดร.สุรวาทกล่าวต่อว่า การแก้ไขเพิ่มเติมข้อความต่อท้ายดังกล่าว โดยให้ กศจ.สามารถมอบหมายการใช้อำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กพท. ให้กับ ผอ.สพท.ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยองค์คณะบุคคล

แต่อย่างไรก็ตาม ตนได้ขอสงวนคำแปรญัตติวาระที่ 2 ในมาตรา 3 โดยจะเสนอให้ยกเลิกความในข้อ 8 (1) แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 ดังกล่าว เพื่อให้ กศจ.ต้องคืนอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ, กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้กับทั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ กพท. เพราะไม่ได้บัญญัติเรื่องให้ กศจ.มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดตามข้อ 8 (1) ไว้แล้ว

“คาดว่าการพิจารณาอีก 10 มาตราที่เหลือของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 จะแล้วเสร็จในการประชุมอีก 2 ครั้งในเร็วๆ นี้ เพราะผ่านมาตราสำคัญมาแล้ว และคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2564”

รศ.ดร.สุรวาท ยังกล่าวถึงข้อเสนอก่อนหน้านี้ให้ยุบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.), ศึกษาธิการภาค (ศธภ.), ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ว่า ตนได้ชะลอข้อเสนอดังกล่าวไว้ก่อน เพราะอาจถูกมองว่าห่างไกลจากหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 มา

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)