ค.อ.ท.เคลื่อนต่อ!ผลักดันสภาแก้ร่าง กม.ศึกษาชาติ ห่วงครูส่ออยู่ใต้อาณัติ ผวจ.

นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับแก้ไขล่าสุดและผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564

ตามที่ ค.อ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศร่วมกันคัดค้านและเรียกร้องให้แก้ไขในหลายประเด็นสำคัญ ตามข้อห่วงใยของครูและบุคลากรทางการศึกษา จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียอมรับฟัง และมอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศธ. รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่มิได้มีตัวแทนของ ค.อ.ท.เข้าร่วมประชุมด้วย

โดยการประชุมในวันดังกล่าวทราบว่า ในที่ประชุมได้ข้อสรุปเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปแก้ไขรวม 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ให้ใช้คำว่าใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพครูเช่นเดิม 2.ให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นวิชาชีพควบคุม 3.ให้ใช้คำว่าผู้บริหารสถานศึกษา และ 4.ให้ปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ  

แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกลับส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเพียง 3 ประเด็นแรกเท่านั้น โดยไม่ได้นำเสนอประเด็นที่ 4 คือการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขแต่อย่างใด

"จึงเป็นที่สงสัยและคลางแคลงใจของ ค.อ.ท.อย่างยิ่งว่า ทำไมสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงไม่ส่งประเด็นแก้ไขดังกล่าวไป และ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบข้อเสนอนี้จากที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 หรือไม่"

นายธนชนกล่าวต่อว่า ค.อ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศต่างเรียกร้องมาโดยตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้าง ศธ.ที่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งในร่าง พ.ร.บ.มาตรา 106 ที่ให้อำนาจปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ, การให้อำนาจ ศธ.ชี้นำรัฐสภาในการออกกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ

และสาระบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาแต่อย่างใด แต่กลับกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจจัดการประชุมประธานคณะกรรมการสถานศึกษา แทนที่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

ค.อ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศจึงคลางแคลงใจอย่างยิ่งว่า โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาจะมีหรือไม่ หรือจะให้ปลัด ศธ.มอบอำนาจการบังคับบัญชาครูให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเข้าสู่โครงสร้างอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้น 

โครงสร้างอำนาจลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาได้มีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการบริหารแบบรวบอำนาจ single comand ซึ่งไม่เหมาะกับกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นกระทรวงสร้างคนให้มีปัญญา มีความเป็นอิสระ สร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้อำนาจใดมากดทับความคิดและความอิสระของหน่วยงานการศึกษาทุกระดับ

การมีหน่วยงานการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ยังมีความจำเป็น เพราะจะเป็นโซ่ข้อกลางคอยประสาน ส่งเสริม สนับสนุนและติดตามการนำนโยบายจากส่วนกลางสู่การปฏิบัติของสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประธานชมรม ผอ.สพท.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 88 และมาตรา 93 ที่บัญญัติถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ  และอำนาจหน้าที่ แสดงให้เห็นถึงการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างชัดเจน ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติรับผิดชอบในการกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ และแนวปฏิบัติต่างๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ โดยไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การไม่กำหนดให้มีผู้บริหารการศึกษา, ความไม่ชัดเจนของคำว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนั้น หมายถึงหน่วยงานใด  

รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายตามร่างมาตรา 8 ให้ครูและนักเรียนปฏิบัติตายตัวมากเกินไป โดยไม่ยืดหยุ่น, การให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้ครูมีลักษณะเฉพาะตามร่างมาตรา 37 จนยากที่จะปฎิบัติได้

การเอื้อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาเกินความเหมาะสมมากเกินไป เป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนให้กับบุตรหลานเพิ่มขึ้น และอาจเปิดโอกาสให้นายทุนทั้งในและนอกประเทศเข้ามาลงทุนการจัดการศึกษา จนอาจกระทบต่อสถานศึกษาเอกชนที่จัดการศึกษาอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งอาจมีปัญหาต่อความมั่นคงของชาติได้ในอนาคต 

ดังนั้น ยังมีประเด็นต่างๆ อีกมากที่ ค.อ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศจะต้องขับเคลื่อนเรียกร้องและผลักดันให้รัฐสภาช่วยแก้ไข เฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในร่าง พ.ร.บ.มาตรา 106, มาตรา 88 และมาตรา 93 ขอให้แก้ไขเป็นโครงสร้างอำนาจที่เอื้อต่อการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง โดยลดอำนาจส่วนกลางให้เล็กลง และให้อำนาจหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติให้มากขึ้น

"เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านการตราออกมาเป็นกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่ดีที่สุด ให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป" ประธานชมรม ผอ.สพท. และแกนนำเครือข่าย ค.อ.ท. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)