"อัมพร"แจงมติบอร์ด กพฐ. ยังไม่ได้ให้ใช้หลักสูตรสมรรถนะ ยันมีขั้นตอนอีกยาว

"อัมพร"แจงมติบอร์ด กพฐ.7 เม.ย.65

ยังไม่ได้ให้ใช้หลักสูตรสมรรถนะ

ยันต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบอีกยาว

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการบอร์ด กพฐ. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงถึงการประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ที่มี ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ยังไม่ได้มีมติเห็นชอบการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560

เพียงแค่ที่ประชุมบอร์ด กพฐ.ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ  เพื่อทำหน้าที่ตรวจทานรายละเอียดการปรับปรุงร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ รวมทั้งพิจารณาเรื่องชื่อหลักสูตรใหม่นี้ด้วย เพราะไม่อยากสร้างความสับสนแก่สถานศึกษาที่นำไปใช้ ตามที่คณะอนุกรรมการ กพฐ.ด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และสำนักวิชาการและมาตฐานการศึกษา (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมนำเสนอ

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวชี้แจงต่อว่า การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องแยกให้ชัดเจนก่อนว่า ขณะนี้มีหลักสูตรแกนกลางการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 ที่เน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนได้ลงมือกระทำ ซึ่งก็คือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว

"ส่วนการปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการนำร่องทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อีกทั้งมีกลไกกระบวนการของการปรับปรุงอีกหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนทั่วไป และการพัฒนาครูผู้สอน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมอีกหลายขั้นตอน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลักสูตรอีกหลายชุด ก่อนที่จะประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นทางการได้” ดร.อัมพร กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ. แสดงความวิตกกังวลจากที่ปรากฏข่าวในสื่อสารมวลชนเรื่องมติ กพฐ. ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 7 เมษายน 2565 ที่ให้ทดลองใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2565 จากนั้นปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรฯชั้น ป.1 และ ป.4 รวมทั้งยังได้ขอร่นเวลาการประกาศใช้หลักสูตรฯจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 นั้น

ปลัด ศธ.กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่จู่ๆ กพฐ.ก็มีมติให้ประกาศใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะทั่วประเทศ จึงต้องสอบถามในที่ประชุม กพฐ.ครั้งหน้า เพราะมติ กพฐ.ก่อนหน้านี้ให้นำร่องใช้ร่างหลักสูตรฯในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปก่อน ตามข้อสั่งการของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่ต้องขยายไปทั่วประเทศ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่

มติ กพฐ.เดิมให้นำร่องใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหากโรงเรียนอื่นๆ จะใช้ ให้ขออนุญาตจาก สพฐ.เป็นรายโรงไป ผมจึงไม่แน่ใจว่า กพฐ.จะใช้ช่องว่างตรงนี้ในการประกาศใช้ทั่วประเทศหรือไม่ ซึ่งผมมีความกังวลทั้งในเรื่องความพร้อมของครูผู้สอน เรื่องการปรับเปลี่ยนหนังสือเรียนและวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ นี่ยังไม่รวมปัญหาในการผลิตครูของสถาบันผลิตครูที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแต่ละครั้ง จึงจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องมีการนำร่องทดลองใช้ เพื่อดูข้อดี ข้อเสีย แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาก่อนขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เปลี่ยนแบบทันที

“ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละครั้ง กพฐ.ควรจะต้องดูทิศทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯให้มุ่งเน้นอบรมพัฒนาครูให้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning” ดร.สุภัทร ปลัด ศธ. กล่าวย้ำถึงขั้นตอนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่บอร์ด กพฐ.ควรต้องคำนึงถึง

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)