หลักสูตรสมรรถนะ ศธ.ส่อล่ม! เรียกร้อง“ตรีนุช”หาผู้รับผิดชอบชดใช้งบฯ

หลักสูตรใหม่ ศธ.ส่อแววล่ม! "รองเลขาฯ กพฐ." เผย ตรวจสอบพบขออนุญาตนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะใน ร.ร.พื้นที่ Education Sandbox 8 จว.รวม 247 แห่ง แต่กลับดำเนินการจริงเพียง 5 โรงใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ทั้งยังทดลองไม่เต็มร้อย แค่ 5 จาก 6 สมรรถนะ ส่วนอีก 242 โรงเมิน เลือกทำตาม กม.ปฏิรูปประเทศ เดินหน้าใช้หลักสูตร พ.ศ.2551 บวกปรับครูสอนแบบ Active Learning "คนใน สพฐ."แฉมีงุบงิบชงบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่รับรองหลักสูตรสมรรถนะ 3 ก.พ.นี้ ทั้งที่จุดเริ่มต้นส่อทำผิด พ.ร.บ.การศึกษาชาติ

จากรณีมีคอลัมนิสต์สื่อมวลชนสำนักหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายสื่อมวลชน ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชุดที่ผ่านมา ได้เขียนบทความในห้วงเวลานี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์แล้ว ในทำนองเชิดชูร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งมีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

ทั้งยังกล่าวอ้างว่า แม้การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 มาสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นทดลองนำร่องใช้กับโรงเรียนใน 8 จังหวัด ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 226 โรงเรียน ก่อนขยายต่อไปทั่วประเทศทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน

แต่ถึงวันนี้มีผลทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฯได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 และมติที่ประชุม กพฐ.ได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยให้รับข้อสังเกตจากที่ประชุม กพฐ.และให้ดำเนินการต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ให้สัมภาษณ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวว่า การสื่อสารเรื่องร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนดังกล่าว อาจจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะตามหลักเกณฑ์การทดลอง ยังไม่มีหลักฐานว่าได้มีการนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะลงไปทดลองใช้ในโรงเรียน 100%

โดยจากการที่ตนได้ตรวจสอบหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 400 กว่าโรงเรียน แต่มีการขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 247 โรงเรียน

ในจำนวน 247 โรงเรียน พบว่า 242 โรงเรียน ยังใช้หลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) และมีการปรับการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน (แต่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ) แสดงว่าทั้ง 242 โรงเรียนนี้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

ส่วนที่เหลืออีก 5 โรงเรียน ทางโรงเรียนเหล่านี้ได้รายงานตามหลักฐานพบว่า ได้มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่ทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน) เพราะฉะนั้น โรงเรียนเหล่านี้ได้ทดลองใช้ร่างหลักสูตรไม่เต็ม 100% จึงยังไม่ถือว่าเป็นการทดลองนำร่องใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน หรืออาจเรียกได้ว่ายังไม่มีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเลย

อีกทั้ง 5 โรงเรียนดังกล่าวนี้ยังพบว่า อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ทั้งหมดด้วย ซึ่งนอกจากจำนวนโรงเรียนทดลองใช้ร่างหลักสูตรจะมีเพียง 5 โรงเรียน ซึ่งน้อยมากแล้ว และยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นไปตามหลักการวิจัยทดลองใช้หลักสูตร เพราะจะไม่เห็นข้อมูลรายละเอียดถึงความหลากหลาย และความแตกต่างของทั้งโรงเรียนและบริบทของพื้นที่ หนำซ้ำยังทดลองเพียง 5 สมรรถนะ จาก 6 สมรรถนะ เป็นการทดลองที่ไม่เต็ม 100% ตามหลักการวิจัยด้วย

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ตนพูดข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตามหลักฐานและหลักวิชาการ เพราะตามขั้นตอนการจะดำเนินการเรื่องใดกับสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 กำกับเฉพาะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาบอกให้โรงเรียนทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เสียก่อน

เพียงแต่คณะกรรมการนโยบายฯได้ให้อำนาจดำเนินการแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้นๆ ดังนั้น ถ้าจะใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะกับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดใด จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนฯจังหวัดนั้นๆ

"และตามกฎหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษายังบัญญัติด้วยว่า การจะใช้หลักสูตรใดๆ ในสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทางสถานศึกษานั้นๆ จะต้องจัดทำประชาพิจารณ์บุคลากรในสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้และมีส่วนร่วมก่อน โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้ปกครองได้รู้ล่วงหน้าว่า บุตรหลานของพวกเขาจะต้องเจอกับหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร"

ดร.เกศทิพย์ยังกล่าวถึงขั้นตอนการจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับชาติว่า ขั้นตอนที่ 1 คณะกรรมการ กพฐ.จะต้องมีนโยบายและมีความเห็นเป็นหลักการว่า เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ เช่น เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 จากนั้นขั้นตอนที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา จะต้องไปทำการบ้าน จัดการวิพากษ์ ตั้งคณะกรรมการเขียนร่างหลักสูตร แก้ไขปรับปรุง และจัดวิพากษ์ร่างหลักสูตรอีกครั้งจนไม่มีใครคัดค้านในสาระสำคัญแล้ว

จึงจะนำไปทดลองใช้กับสถานศึกษาแบบ 100% ถือเป็นขั้นตอนที่ 3 ซึ่งต้องใช้เวลาทดลองร่างหลักสูตร 1 ปีการศึกษา หลังจากนั้นจะต้องดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนว่า จะต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรอีกบ้าง ก่อนจะประกาศใช้เป็นหลักสูตรระดับชาติได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในขั้นตอนที่ 3 นี้ อย่างน้อย 2 ปี นับจากเริ่มทดลองใช้ร่างหลักสูตรใหม่กับสถานศึกษา

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า เพราะฉะนั้น อาจเปรียบเทียบกับขั้นตอนการขับเคลื่อนร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในเวลานี้ ยังเท่ากับขั้นตอนที่ 2 คือการวิพากษ์ร่างหลักสูตรเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องตามที่ได้มีการนำข้อมูลร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะของช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 1-3) ไปแขวนเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ cbethailand จึงยังไม่ถือว่าเป็นขั้นตอนการนำร่างหลักสูตรสมรรถนะไปทดลองใช้กับสถานศึกษา

ทั้งนี้ จากข้อมูลร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่แขวนอยู่บนเว็บไซต์ cbethailand ซึ่งยังมีเพียงช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 1-3) ที่เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ ส่วนช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6) ยังไม่มีการนำขึ้นเผยแพร่ แล้วจะเอาตัวร่างหลักสูตรที่ไหนไปทดลองใช้ จึงส่งผลทำให้ทั้ง 5 โรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่ มีเนื้อหาร่างหลักสูตรไปทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะเท่านั้น จากทั้งหมด 6 สมรรถนะ เป็นการทดลองแบบไม่เต็ม 100%

ดังนั้น ถ้าไปทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ ในแค่ 5 โรงเรียน แล้วจะมาอ้างอิงเป็นการทดลองนำร่องในระดับชาติไม่ได้ ถือเป็นความเสียหาย เพราะเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การทดลองเพียงเท่านี้จะเป็นตัวแทนของประเทศได้เลย แล้วยังดำเนินการกับ 5 โรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันด้วย ยังบอกสังคมไม่ได้ด้วยว่า นี่คือหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ตามหลักการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักการวิจัย เนื้อหาร่างหลักสูตรที่นำไปทดลองใช้ในสถานศึกษาจะต้องครอบคลุมทั้ง สมรรถนะ และจะต้องมีจำนวนสถานศึกษาที่ร่วมการทดลองมากพอที่จะทำให้เห็นตัวแปรความหลากหลายและความแตกต่างของสถานศึกษาแต่ละขนาด และแต่ละบริบทของพื้นที่ ไม่ใช่ทดลองแค่ 5 สมรรถนะ ใน 5 โรงเรียน ทั้งยังอยู่ใน จ.เชียงใหม่ทั้งหมดด้วย 

"จริงๆ แล้ว ถือว่าร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังดำเนินการกันอยู่ ณ ขณะนี้ ยังเป็นแค่เพียงการทำร่างหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อตอบโจทย์การจัดการเรียนรู้ไปสู่สมรรถนะผู้เรียนเท่านั้น ไม่ใช่การทำหลักสูตรระดับชาติ ซึ่งหลักสูตรสถานศึกษานั้น ใครๆ ก็ทำได้”

ดร.เกศทิพย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเมื่อตามขั้นตอนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ที่กว่าจะประกาศใช้ได้จะต้องใช้เวลาหลายปีดังกล่าว แล้วโรงเรียนจะต้องไปรอให้เสียเวลาทำไม ในเมื่อหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ก็มีสมรรถนะอยู่ บวกกับการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่ดำเนินการอยู่แล้วและได้ผลลัพธ์ออกมาดีมากด้วย เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

ซึ่งคุณครูในโรงเรียนเหล่านี้ได้พัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนการสอน ด้วยการบูรณาการตัวชี้วัดและบูรณาการสอนข้ามกลุ่มสาระ แล้วใส่เรื่องของการลงมือปฏิบัติจริงของนักเรียน (Active Learning) เข้าไป เพื่อให้เด็กได้รู้สึกถึงการเข้าถึงความรู้ได้อย่างมีความหมาย จนเกิดเป็นสมรรถนะในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

แหล่งข่าวใน สพฐ.เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวหนาหูว่า อาจจะมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้คณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่ในคราวประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะถึงนี้ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ชุดที่แล้วให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ในการปรับปรุงแก้ไขร่างกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) พร้อมรับข้อสังเกตจากที่ประชุม กพฐ.ชุดเก่าไปดำเนินการต่อ

แต่อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.เกศทิพย์ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดบกพร่องการนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ในโรงเรียนดังกล่าว อาจจะทำให้คณะกรรมการ กพฐ.ชุดปัจจุบันยังจะไม่พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ

นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 บัญญัติว่า

“ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ

ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

ดังนั้น การจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาฯ ที่มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา อาจจะถือว่าส่อเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวหรือไม่ ? และส่อถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลในทางกฎหมายหรือไม่? เนื่องจากคณะกรรมการ กพฐ.ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นดำเนินการเองแต่อย่างใด

แหล่งข่าวใน สพฐ.กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้อง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตรวจสอบกระบวนการยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปจนถึงการนำร่างหลักสูตรไปทดลองใช้อย่างไม่สมบูรณ์แบบในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าว หากเกิดจากความบกพร่องของผู้เกี่ยวข้อง ขอได้โปรดเรียกชดใช้ความเสียหายต่องบประมาณที่ต้องสูญเสียไปจำนวนไม่น้อยด้วย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เป็นประธานเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) และนายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ร่วมงานด้วย โดยมีผู้แทนโรงเรียนนำร่อง 265 แห่ง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)