ร้อง“บิ๊กตู่” จ่อแจ้ง 157-ฟ้องศาล กล่าวหา“กพฐ.” ไฟเขียวหลักสูตรสมรรถนะมิชอบ

แกนนำครูร้อง “บิ๊กตู่” จ่อแจ้งอาญา 157-ฟ้องศาล

เอาผิด “บอร์ด กพฐ.”

กล่าวหาเปิดไฟเขียว "หลักสูตรสมรรถนะ" มิชอบ

จากกรณีปรากฏข่าวในสื่อสารมวลชนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) (มีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...ระดับประถมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกำหนดชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...” และเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ”

พร้อมทั้งเห็นชอบแผนการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ ดังนี้ 1) ปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2) ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ 3) ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรฯในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ช่วงชั้นที่ 1) และประถมศึกษาปีที่ 4 (ช่วงชั้นที่ 2) นอกจากนี้ ได้ขอร่นเวลาการประกาศใช้หลักสูตรฯจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 นั้น

สานิตย์ พลศรี

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ตนขอคัดค้านมติที่ประชุม กพฐ.ดังกล่าว เพราะส่ออาจผ่านการพิจารณาโดยมิชอบ เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนบุคลากรในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเชิงกล่าวหาว่า การดำเนินการเรื่องหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะของบอร์ด กพฐ.ส่ออาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายฉบับหรือไม่?

เช่น ส่ออาจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดห้วงเวลาชัดเจนให้หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน โดยยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) ไม่ได้ให้ออกหลักสูตรใหม่

นอกจากนี้ ส่ออาจไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 ที่บัญญัติให้ กพฐ.ต้องเป็นผู้ริเริ่มกำหนดการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ โดยต้องมีนโยบายเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ เพราะหลักสูตรเดิมมีปัญหา ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทำร่างหลักสูตรใหม่โดย สพฐ. ซึ่งต้องใช้เวลาร่วม 2-3 ปี ในการยกร่าง ประชาพิจารณ์ ทดลองใช้ ปรับปรุงฯลฯ

แต่ครั้งนี้ กพฐ.ชุดใหม่ส่ออาจยังไม่ได้ประเมินผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 ที่ใช้มาครบ 4 การศึกษา ด้วยซ้ำ ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง เพราะอาจได้รับข้อมูลบิดเบือนจนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนแต่แรกว่า ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 และส่อไม่ได้ศึกษาด้วยว่า มีข้อดี ข้อเสียและแตกต่างกับร่างหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะหรือไม่ อย่างไร? กพฐ.ทราบข้อมูลทางวิชาการใน สพฐ.หรือไม่ ที่ได้มีการศึกษาเทียบเคียงสมรรถนะ 6 ด้าน อยู่ในกรอบของทั้ง 2 หลักสูตรเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย

ที่สำคัญ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. รับผิดชอบงานวิชาการของ สพฐ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า “ที่ผ่านมามีการนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้เพียง 5 โรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่เท่านั้น หนำซ้ำยังทดลองแค่ 5 สมรรถนะ ไม่ครบ 6 สมรรถนะ จึงอาจเรียกได้ว่า ยังไม่มีการนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาเลย”

อีกทั้ง ดร.เกศทิพย์ ยังกล่าวในการประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ชี้แจงนโยบาย สพฐ.แก่คณะผู้บริหาร ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญใน สพฐ.ส่วนกลาง, คณะผู้บริหารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ และทีมในเขตพื้นที่การศึกษา ตอนหนึ่งชัดเจนถึงการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ตามแผนปฏิรูประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับรุง พ.ศ.2560) โดยปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ บูรณาการตัวชี้วัด ใส่ Attitude+Value ผ่านกระบวนการ Active Learning

นอกจากนี้ ดร.เกศทิพย์ ได้อธิบายชัดเจนถึงความไม่แตกต่างของการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับรุง พ.ศ.2560) ในสถานศึกษาปัจจุบันทั่วไป กับการใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้น 2 ในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด (ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565) พร้อมทั้งกล่าวสรุปไว้ด้วยว่า ไม่ว่าสถานศึกษาจะใช้หลักสูตรไหน ถ้าได้มีการปรับการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว ก็จะสามารถทำให้นักเรียนเข้าถึงสมรรถนะผู้เรียนได้ทั้งนั้น (ชมคลิป)

แล้วเหตุใดที่ประชุม กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 จึงได้เร่งรีบพิจารณาเรื่องระยะเวลาการนำหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะไปใช้ในโรงเรียน จนอาจทำให้ดูคล้ายกับว่า กพฐ.ดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะโดยมิชอบหรือไม่? และอาจไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศด้วยว่า จะด้อยลงหรือไม่? สุ่มเสี่ยงส่งผลกระทบกับสภาพการเรียนการสอนและการเพิ่มภาระให้กับครูและนักเรียน จนอาจทำให้ด้อยคุณภาพลงหรือไม่?

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ราวช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตนได้ทำหนังสือถึง ศ.บัณฑิต ประธาน กพฐ.ขอให้ตรวจสอบและตอบข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ตนยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมาเลย ดังนั้น ตนจึงกำลังปรึกษานักกฎหมายเพื่อแจ้งความเอาผิดอาญามาตรา 157 กับบอร์ด กพฐ. ฐานส่อปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากส่ออาจดำเนินการขัดต่อกฎหมายต่างๆ ดังกล่าว

รวมทั้งจะยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้สั่งยกเลิกมติคณะกรรมการ กพฐ.ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เนื่องจากส่อเร่งรีบดำเนินการหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ จนมีแนวโน้มอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนทำให้ด้อยลงได้

“ขณะนี้ผมกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อประกอบการแจ้งความเอาผิดอาญามาตรา 157 และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเร็วๆ นี้” นายสานิตย์ กล่าว และว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ตนได้ทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิส่งถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ดังกล่าวด้วยแล้ว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)