แฉยับ!นำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ เข้าข่ายบิดเบือน? สะเทือนถึง"ตรีนุช"

เสวนากับบรรณาธิการ 10 กุมภาพันธ์ 2565

 

แฉยับ! นำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ 

เข้าข่ายบิดเบือนต้อน "ตรีนุชเร่งตัดสินใจ

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

❝...ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าหลักสูตรที่เราใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถเน้นสมรรถนะได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของครูผู้สอน เช่น ครูผู้สอนที่ผ่านการอบรมของศูนย์ HCEC ก็สามารถนำทักษะความรู้แบบ Active Learning มาจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะให้กับเด็กได้...❞

ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร กพฐ. ครั้งที่ 2/2565  เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ กระทรวงศึกษาธิการ ที่มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งมีนักวิชาการ นักการศึกษา ล้วนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการศึกษา รวม 23 คน ร่วมอยู่ในคณะ

 

ดร.สิริกร มณีรินทร์ 

ยกรายชื่อคนดัง ที่เรียงแถวกันเข้ามาร่วมวงคณะกรรมการอำนวยการฯ มาให้เห็น อาทิ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช, รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี, รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก, รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม, นางศรินธร วิทยะสิรินันท์, ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์, นายสราวุฒิ อยู่วิทยา, นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม เป็นต้น  

ไม่เพียงเอกอุกทางอภิมหาปัญญาเป็นที่ยอมรับแล้ว ยังมีวุฒิภาวะสูงยิ่งในทุกด้านอีกด้วย

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช 

ทั้งหมดนี้ลงนามแต่งตั้ง โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ให้มีอำนาจหน้าที่ อำนวยการ กำกับทิศทาง ขอบข่าย และภารกิจในการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา

ก็แปลกใจว่า เหตุเกิดขึ้นในโครงการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยระบุไว้ว่า จะมีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัดดังกล่าว 

 

ทำไมถึงไม่มีใครเห็นความผิดปกติหรือออกมาให้ความเห็น เพื่อให้สังคมคลี่คลายความกังวลในสิ่งที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร หรือจะเดินหน้ากันต่อไปเช่นไร

เนื่องจากการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ  ที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง  วางลำดับเป็นนโยบายเร่งด่วนยกกำลัง 2 ให้การดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 5 เดือนนั้น รวมอยู่ในนโยบาย 7 วาระเร่งด่วนด้วย

Kick-Off  เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ลุเข้ากลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการออกข่าวถึงการนำร่องทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใน 265 โรงเรียนกันแล้ว

 

แต่ก็เต็มไปด้วยข้อเคลือบแคลงที่น่าติดตาม ต้องไถ่ถามกันถึงข้อเท็จจริง และข้อกังวลที่น่าเป็นห่วง คละเคล้ากันไปในหลากหลายประเด็นที่คณะกรรมการอำนวยการฯอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก  แต่ก็พร้อมจะแตกตัวขยายวงเป็นเรื่องใหญ่ได้ทุกนาทีที่การขับเคลื่อนมีความผิดพลาด

ไม่ว่าจะกล่าวถึงการปรับหลักสูตรสถานศึกษาของกลุ่ม ร.ร.ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในบางจังหวัด หลังการได้รับการอบรมเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะจาก สพฐ.แล้ว ก็มีเสียงบ่นและฝากความเป็นห่วงในทำนองหนักใจว่า น่าจะไปผิดทาง เนื่องจากไปสร้างวิชามากขึ้น กิจกรรมมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมสมรรถนะ 6 ข้อ ที่กำหนดล่าสุด

แทนที่จะลดลงได้ แทนที่จะบูรณาการข้ามศาสตร์กันได้ กลายเป็นการทำให้เด็กเรียนหนักขึ้น ครูสอนหนักขึ้น เพราะของเดิมก็ต้องทำ ของใหม่ก็ต้องแบกเพิ่มมาอีกหรือไม่??

จึงทำให้สังคมเข้าใจว่า ร.ร.ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่กำลังนำร่องในตอนนี้ อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องสมรรถนะ และแนวทางการออกแบบกระบวนการเรียนรู้  แถมไม่มีใครแนะนำให้ถูกทางได้ เพราะศึกษานิเทศก์เองก็เพิ่งเรียนรู้ไปด้วยเช่นกัน  ทุกคนจึงได้แต่รับฟังแล้วปรบมือชมเชย โดยที่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาถูกทางหรือไม่ถูกทางอย่างไร??

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรทำอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถ้าไม่เร่งปรับให้ถูกทาง ย่อมทำให้ไม่เกิดผลตั้งแต่โรงเรียนที่กำลังลงมือนำร่อง  เมื่อใดที่นำไปเร่งขยายผลในปีการศึกษา 2565 ก็จะกลายเป็นปัญหาทั้งประเทศ เพราะไม่มีต้นแบบที่ดีให้ได้เรียนรู้จริง ๆ ว่า เขาทำกันอย่างไร จึงจะได้ประสิทธิผล

อย่าว่าแต่ครูและศึกษานิเทศก์เลย แม้แต่สื่อมวลชนหลายสำนักที่นำเสนอข่าวและบทความเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะเอง ก็ยังเป๋ ซึ่งจะไปโทษสื่อเขาก็ไม่ถูก เพราะข่าวที่ออก มาจากแหล่งข่าวผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งล้วนมักจะปกปิดความล้มเหลว แต่อวดอ้างถึงผลงานความก้าวหน้ามากกว่าจะแจงถึงเหตุ ปัจจัย ปัญหา และทางออก

มีบทความข้อเขียนจากสื่อมวลชน 1-2 สำนัก ที่พยายามจะผลักดันให้นางสิริกร มณีรินทร์ และ รมว.ศธ.ที่เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา เดินหน้าจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ต่อไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา  

สื่อบางสำนักยกอ้างถึงร่างหลักสูตรสมรรถนะในสมัยอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่บอกว่าจะนำไปนำร่องในโรงเรียน สพฐ.เขตพื้นที่ละ 3 แห่ง (ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก)  

ขณะที่ สื่อบางสำนักอ้างถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาได้ร่วมมือกันทำงานหนักเรื่องหลักสูตรสมรรถนะมาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่...

ก็ไม่ทราบว่า สื่อสารกันอย่างไรกับสื่อมวลชนเหล่านี้ จึงกลายเป็นว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ทำกันมาแล้วเกือบ 5 ปี ทั้ง ๆ ที่ เพิ่งเริ่มต้นตั้งหลักตั้งคณะกรรมการในยุค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คนปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๔ นี้เอง และ น.ส.ตรีนุชเพิ่ง Kick-Off  เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564

จึงควรจะเป็นผลงานของท่าน รมว."ครูเหน่ง" ที่แต่งตั้งให้ท่านสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ ใช่หรือไม่?

ความงงงวยในประการต่อมา จากการอ่านบทความของสื่อมวลชน 2 สำนัก พาดหัวว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะกำลังติดหล่ม กำลังเจอตอ และสื่ออีกสำนักหนึ่งระบุชัดเจนว่า สพฐ.ตั้งตนเป็นผู้ขัดขวางการบังคับใช้หลักสูตรใหม่นี้... กำลังจะสื่ออะไร (ฮา)     

                                                                                                                                                                      ยังพบเนื้อหาในสื่อใหญ่อีกสำนักระบุย้ำว่า เป็นเรื่องของการสูญเสียผลประโยชน์การผลิตสื่อตำราเรียนของสำนักพิมพ์ ทำนองว่าของเดิมที่ผลิตไว้ยังขายไม่หมด เลยเดือดร้อนเสียหาย...

แต่ไม่เคยถามหาข้อเท็จจริงสักครั้งว่า ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาฯชุด ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการ ประกาศชัดมี 6 สมรรถนะ ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืนนั้น

ทำไมถึงกลับนำไปทดลองจริงกับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพียง 5 สมรรถนะ และยังทดลองแค่ 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น จริงหรือไม่ ???? 

ถามว่า ผิดหรือไม่ ?? ที่พบว่า การไม่ได้นำไปทดลองใน 265 โรงเรียน ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตามที่ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ.แถลง Kick-Off  เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564  ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564)

ถ้าจะว่ากันตามเงื่อนไขตามภาคบังคับแล้ว เท่ากับว่าโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะล่าช้าไปกว่า 4 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ภายใต้สถานการณ์เชื้อระบาดโควิด 19 ก็ยังทำใจรับได้  

แต่สิ่งที่นำมากล่าวเล่าความตั้งแต่ต้น จะเนื่องด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม  ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นความเสียหายร้ายแรงอาจทำให้เกิดความล้มเหลวสมรรถนะทางพหุปัญญาครั้งใหญ่ทางการศึกษา ทีมีเด็กของชาติทั้งประเทศเป็นเดิมพัน ขณะที่ผู้รับผิดชอบต่างหลบลี้หนีหน้าหายไปแบบไม่ต้องรับผิดชอบ กับสิ่งที่คณะของตนเองก่อขึ้น ที่น่าจะเข้าข่ายการปิดบัง ซ่อนเร้น อำพราง ความจริง หรือไม่??

 

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช

ยิ่งมีการเปิดเผยผลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา อ้างถึง ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุพบยังไม่มีโรงเรียนไหนทดลองใช้ 100 %

รวมถึงจำนวนสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด  ที่มีทั้งสิ้น 400 กว่าโรงเรียน แต่มีการขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ เพียง 247 โรง มิใช่ 265 โรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอีกด้วย

และในจำนวน 247 โรงดังกล่าว ยังพบว่ามีสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด  242 โรง ยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (อิงมาตรฐาน) ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นหลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  คือ ยังเดินตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้ เพียงแต่ปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน 

ส่วนสถานศึกษาที่เหลือ 5 แห่ง และล้วนตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ทั้งหมด ได้ขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ 

 

แต่ที่สำคัญทั้ง 5 โรงเรียนที่ว่านี้ ได้ทดลองหลักสูตรฐานสมรรถนะเพียง 5 สมรรถนะเท่านั้น  จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ ที่กำหนดไว้ ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน

ตามหลักการวิจัย ถือว่าโรงเรียนเหล่านี้ทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่เต็ม 100%  เช่นกันใช่ไหม???

แสดงว่า โครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีปัญหาจริง ๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น อะไรคือเรื่องจริง อะไรคือเรื่องเท็จ ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาด้วยเหตุผลเบื้องหลังประการใด  คณะกรรมการอำนวยการฯทำหลักสูตรไม่รู้อาจไม่เป็นไร แต่ประธานกรรมการอำนวยการฯจะนั่งลอยตัวเหนือปัญหาได้หรือ??

ย้อนกลับไปที่บทบาทความเป็นสื่อมวลชนบางสำนัก ซึ่งว่ากันว่าอาจจะมีนัยอะไรแฝงอยู่หรือไม่ ก็ไม่อาจจะไประบุได้ว่า อาจจะเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับกระแสข่าวที่ออกมาในช่วงเวลานี้หรือไม่?? แต่รับทราบมาว่า มีความพยายามชงเรื่องตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ซึ่งระบุในมาตรา ๕๘ แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเห่งชาติฉบับใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปยัง ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 

แน่นอนว่า สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามมาด้วย ทั้ง ๆ ที่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ยังไม่มีวี่แววว่า จะตราออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทันสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ

ในที่สุดแล้ว ทางออกที่ดีของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ในฐานะเจ้ากระทรวง ควรออกมาชี้แจง หรือกล้าตัดสินใจเลือกเอาระหว่างโวหารที่ว่า  “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ” ตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง

 

ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

หรือจะเลือกทางเดิน ดังที่ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานการประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ได้สรุปไว้ตอนหนึ่งที่ว่า...

❝...หลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถเน้นสมรรถนะได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของครูผู้สอน เช่น ครูผู้สอนที่ผ่านการอบรมของศูนย์ HCEC สพฐ. ก็สามารถนำทักษะความรู้แบบ Active Learning มาจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะให้กับเด็กได้...❞

นับเป็นทางเลือกและเป็นทางออกที่ค่อนข้างลงตัว   

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)