ขยับแจ้ง 157-ฟ้องศาล!กล่าวหา “กพฐ.”ส่อเจตนาเร่งประกาศหลักสูตรสมรรถนะปีนี้

"แกนนำครู"ขยับแจ้ง 157-ฟ้องศาล กล่าวหา “กพฐ.” ส่อเจตนาเร่งประกาศใช้หลักสูตรสมรรถนะปี’65 นี้มิชอบ? ทั้งที่ (ร่าง) กรอบหลักสูตรยังไม่แล้วเสร็จ ส่อยังไม่ผ่านขั้นตอนนำไปทดลองใช้ในสถานศึกษาด้วยซ้ำ

จากกรณี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กพฐ. ได้ชี้แจงยืนยันว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กพฐ. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ยังไม่ได้มีมติเห็นชอบการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนเตรียมความพร้อมอีกหลายขั้นตอน รวมถึงต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลักสูตรอีกหลายชุด ก่อนที่จะประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นทางการได้นั้น

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้ ดร.อัมพรจะชี้แจงยืนยันกับสื่อมวชนระจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุม กพฐ.ยังไม่ได้มีมติให้ใช้หลักสูตรสมรรถนะในเร็วๆ นี้ เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอีกยาว แต่ตนก็ยังยืนยันเดินหน้าแจ้งความเอาผิดอาญามาตรา 157 กับคณะกรรมการ กพฐ. ซึ่งรวมถึงผู้บริหารและบุคลากรในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วย ฐานส่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดำเนินการขัดกับกฎหมายหลายฉบับ

ทั้งกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประกาศมีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้กำหนดเรื่องห้วงเวลาและงบประมาณดำเนินการชัดเจนให้หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน โดยยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) ไม่ได้ให้ สพฐ.และคณะกรรมการ กพฐ.มาออกหลักสูตรใหม่

ดังนั้น การที่คณะกรรมการ กพฐ. และ สพฐ.พยายามที่จะออกหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะมาใช้แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 ตามที่มีร่องรอยการดำเนินการปรากฏในบันทึกการประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ที่ผ่านมา จึงส่อเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวแล้ว และยังมีข้อสังเกตด้วยว่า สพฐ.ใช้งบประมาณส่วนไหนมาดำเนินการ ใช้งบฯแบบเร่งด่วนผิดประเภท ผิด พ.ร.บ.งบประมาณหรือไม่?

รวมทั้งยังส่ออาจไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ กพฐ.ต้องเป็นผู้ริเริ่มกำหนดเรื่องการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นใหม่ โดยต้องมีนโยบายเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ เพราะหลักสูตรเดิมมีปัญหา แต่ร่างหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะที่พิจารณาในขณะนี้ ส่อว่าไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของ คณะกรรมการ กพฐ.

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนจะยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้สั่งยกเลิกมติคณะกรรมการ กพฐ.ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เนื่องจากในที่ประชุม กพฐ.ส่อเร่งรีบดำเนินการหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ จนมีแนวโน้มอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนทำให้ด้อยลงได้

ดังที่ปรากฏหลักฐานในการประชุมบอร์ด กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 วาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา 4.1 แผนปฏิบัติการปรับปรุง (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช… ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …ระดับประถมศึกษา เช่น ช่วงประชุมที่ อ.ศิริเดช กล่าวช่วงเริ่มต้นตอนหนึ่งว่า “สรุปหลักการของ (ร่าง) กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะดีแล้ว แต่มีจุดที่ต้องปรับปรุง จึงมีการเสนอให้บอร์ด กพฐ.ได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจตรวจทานปรับปรุงกรอบร่างหลักสูตรฯและคู่มือ เพื่อให้การประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการ ซึ่ ผอ.สำนักวิชาการ สพฐ.ได้เห็นพ้องต้องกัน”

สอดรับกับบันทึกการประชุมช่วงท้าย ที่ท่านประธาน กพฐ.กล่าวตอนหนึ่งว่า “...และเราเองก็เห็นชอบอยากเห็นการประกาศใช้หลักสูตรนี้ในตุลาคม 2565 ในหลักการนี้ ส่วนชื่อหลักสูตรก็ใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะนี้ไปก่อนในการสื่อข่าว ส่วนทีมงานที่จะทำหลักสูตรมัธยมต่อไปก็ตระหนักรู้แล้วว่า ไม่ต้องรอต่อไป สามารถดำเนินการสำหรับหลักสูตรมัธยมต่อไป”

นายสานิตย์กล่าว่า แสดงให้เห็นชัดเจนว่า (ร่าง) กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงยังไม่มีร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ในสถานศึกษาเลยใช่หรือไม่? ซึ่งตรงกับที่ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. รับผิดชอบงานวิชาการของ สพฐ. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า “ที่ผ่านมามีการนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้เพียง 5 โรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่เท่านั้น หนำซ้ำยังทดลองแค่ 5 สมรรถนะ ไม่ครบ 6 สมรรถนะ จึงอาจเรียกได้ว่า ยังไม่มีการนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาเลย”

อีกทั้งยังทราบมาด้วยว่า สพฐ.เพิ่งจะจัดการอบรมทางไกลให้แก่ครูในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ราว 3,000 คน เมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องการนำหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะไปใช้, เรื่องการออกแบบการสอน Theme-based รวมทั้งจัดอบรมศึกษานิเทศก์ราว 1,000 คน ให้เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนในการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ

ฉะนั้น แล้วเหตุใดในที่ประชุม กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 จึงบันทึกว่า ประธาน กพฐ.ได้กล่าวตอนหนึ่งเรื่องเห็นชอบอยากเห็นการประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเดือนตุลาคม 2565 นี้ และยังระบุให้ทีมงานที่จะทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับมัธยมศึกษา ไม่ต้องรอ สามารถดำเนินการต่อไปได้เลย ทั้งที่ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับประถมศึกษายังไม่ได้ทดลองใช้ด้วยซ้ำว่า เป็นทิศทางที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

จนแม้กระทั่ง ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ. แสดงความวิตกกังวล โดยเฉพาะกรณีในที่ระชุม กพฐ.ได้มีการเสนอขอร่นเวลาการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565

ปลัดฯสุภัทรระบุว่า "มติ กพฐ.ก่อนหน้านี้ให้นำร่องใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปก่อน ตามข้อสั่งการของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่ต้องขยายไปทั่วประเทศ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ ผมจึงมีความกังวลทั้งในเรื่องความพร้อมของครูผู้สอน เรื่องการปรับเปลี่ยนหนังสือเรียน และวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ นี่ยังไม่รวมปัญหาในการผลิตครูของสถาบันผลิตครูที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย"

ที่สำคัญ ปลัด ศธ.ยังกล่าวย้ำด้วยการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละครั้ง กพฐ.ควรจะต้องดูทิศทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย ซึ่งให้ ศธ.มุ่งเน้นอบรมพัฒนาครูให้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ความเร่งรีบที่จะประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะในเดือนลาคม 2565 นี้ จึงเป็นที่น่าสังเกตและเคลือบแคลงสงสัยว่า มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

"ที่สำคัญสุ่มเสี่ยงส่งผลกระทบกับสภาพการเรียนการสอนและการเพิ่มภาระให้กับครูและนักเรียน จนอาจทำให้ด้อยคุณภาพลงได้ ผมจึงยืนยันเดินหน้าแจ้งความเอาผิดอาญามาตรา 157 และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกล่าวหาคณะกรรมการ กพฐ. ซึ่งรวมถึงผู้บริหารและบุคลากรใน สพฐ.ที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้แน่นอน”

นายสานิตย์กล่าวตอนท้ายว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และรับมอบอำนาจจากเครือข่ายผู้มีส่วนได้เสียในสถานศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนไปแจ้งความอาญา 157 ฐานส่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดำเนินการขัดกับกฎหมายหลายฉบับ ที่ สน.ดุสิต (รับผิดชอบพื้นที่ทำการ สพฐ.) และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองที่ จ.นครราชสีมาในเร็ววันนี้

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)