สพฐ.สืบสานฯปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา สนองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยั่งยืน

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

editor@edunewssiam.com

 

สพฐ.สืบสานปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา สนองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยั่งยืน  

 

"...การทำทฤษฎีใหม่ ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ สามารถปรับสัดส่วนการใช้ พื้นที่ให้มีความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีระบบซลประทานเช้าถึง แปลงทฤษฎีใหม่ก็ทำบ่อเก็บน้ำให้เล็กลง แล้วเพิ่มที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผัก แทน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน ก็ต้องทำบ่อเก็บนํ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะต้องรับน้ำฝนมาเก็บไว้ใช้ทำกินตลอดปี..."

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ณ โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชซนนิอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

 

“โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นอีกโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชทาน ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ ด้วยการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นฐานแนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาได้จริงในท้องถิ่น

น่ายินดีว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้น้อมนำโครงการสู่การอารยเกษตรฯ สู่การเรียนรู้และปฏิบัติในสถานศึกษา เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้ สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มีพิธีเปิดโครงการไปปแล้วหลายต่อหลาย ร.ร.

 

 

ทั้งนี้ สพฐ.ศธ.มิได้ดำเนินการแต่เพียงลำพัง ยังมี ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม เนื่องจากเห็นความสำคัญ นอกจากมุ่งเน้นให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนแล้ว ยังนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ไปประยุกต์ลงมือปฏิบัติตามแบบชาวบ้านทั่ว ๆไปเขาทำกันอีกด้วย

มองไปที่  โคก หนอง นา ที่เด็ก ๆ หรือเกษตรกรในชนบทต่างจังหวัดได้สัมผัสรับรู้อยู่ทุกวัน แม้ในพื้นที่ขนาดเล็ก ก็สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ มาดำเนินการได้แบบไร้เงื่อนไข ด้วยการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา มาเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพอย่างมีความสุขได้เช่นกัน

เพียงแค่ ปรับเปลี่ยนพื้นฐาน แนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ สู่การเรียนรู้ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเด็กและเยาวชนระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา ได้รับการอบรมบ่มเพาะถึงการเป็นคนดี มีระเบียบวินัย พึ่งพาตนเองได้ เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เกิดผลในมิติต่าง ๆ ทั้งการพึ่งพาตนเอง ความกตัญญู การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางปัญญา ย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหาจริงได้จริงในท้องถิ่น เป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เท่าที่ติดตามข่าวคราว ล่าสุดน่ายินดีว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้น้อมนำโครงการมาปฏิบัติ โดยดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ระยะที่ 1 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ้น 102 โรงเรียน

ซึ่งกลางเสียงตอบรับจากบรรดาสถานศึกษา ล้วนมีความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาจัดระบบการเรียนการสอน ตามหลักการ 5 เปลี่ยน และหลักการ 5 ประเมิน  ทุกแห่งสามารถปรับให้เข้ากับภูมิสังคมและบริบทของแต่ละท้องถิ่นได้ มั่นใจถึงโครงการฯ

ก่อนหน้านี้ แนวคิด โคก หนอง นา ในภาคส่วนองค์กรภาคราชการและภาคเอกชนรวมถึงภาคประชาชน ได้ไปดำเนินการภายใต้กิจกรรม "แตกตัวทั่วไป เอามื้อสามัคคี" ก้าวสู่ปีที่ 6 พบความจริงว่า การปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา สามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน  หรือ Sustainable Development  และสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสังคมทั้ง 4 ด้าน

เริ่มจาก ด้านการศึกษา ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ที่ช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ การฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และ ด้านการส่งเสริมคนในองค์กร มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม

จากนั้น มีการขยายผลนำเรื่องราวจากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ครอบคลุมถึง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย เท่ากับเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านการถ่ายทอดของผู้นำศาสตร์พระราชา ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิสังคมนั้น ๆ อย่างเข้าใจ เข้าถึง บังเกิดผลดีต่อชุมชนจนเป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน  

พิสูจน์ได้ถึงแก่นแท้ที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานสู่พสกนิกรของพระองค์ ให้นำไปสู่การปฏิบัติเท่าที่จะทำได้นั้น จะช่วยให้ชาวโลกอยู่รอด แม้นานาชาติก็ยังทึ่งในพระปรีชาญาณในเรื่องนี้

 

ดังนั้น แนวคิด โคก หนอง นา ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ใช่ทางเลือกรอง แต่เป็นหนึ่งในทางเลือกหลัก ดังนั้นการเริ่มต้นสานต่อ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศธ. ในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาวางพื้นฐาน ได้สืบสาน รักษา ต่อยอดการปลูกฝังมีกิจกรรมปฏิบัติ ให้กับ เด็ก เยาวชนส่วนใหญ่ ที่เป็นอนาคตของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ดี

และเหนือสิ่งอื่นใด วันนี้ สังคมมั่นใจว่า โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” คือ ความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธาน ของ สพฐ.ศธ. ที่จะนำนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ครู บุคลากรทางการศึกษา ชาวบ้านและคนเมือง ได้มีความรู้ความเข้าใจในแผนแนวทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนที่ชัดเจน เพื่อนำไปพัฒนาจัดระบบการเรียนการสอน ที่สามารถปรับให้เข้ากับบริบทแต่ละท้องถิ่น

อันมีหมุดหมายสำคัญ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ของศาสตร์พระราชา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สามารถพึ่งพาตนเองและสร้างความยั่งยืนได้ เป็นที่พึ่งของชุมชนได้ทังในปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้น เมื่อ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” จึงเป็นโครงการที่สถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และในระดับจังหวัด จักควรเป็นต้นแบบตัวอย่างของความสำเร็จ โดยน้อมนำองค์ความรู้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ด้วยการได้ลงมือ ลงใจศึกษา และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กด้วยตนเอง จนเกิดผลทางด้านรูปธรรมและคุณธรรม ตามแนวทางพระราชทานอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั่นเอง

 

หวังว่า โครงการอารยเกษตร โคก หนองนา แห่งน้ำใจ ซึ่งเป็นโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เท่ากับเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  อย่างแท้จริง  

editor@edunewssiam.com 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)