เสวนากับบรรณาธิการ ออมสิน-สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ บริการแห่งความเมตตาของรัฐ หรือ ธุรกิจเอกชน

เสวนากับบรรณาธิการ

ออมสิน-สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ บริการแห่งความเมตตาของรัฐ หรือ ธุรกิจเอกชน

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์

“ ทายสิ...เงินเดือน ค่าตอบแทน ผู้จัดการสกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ รับกันเท่าไร ?     

                        

ธนาคารออมสิน มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงการคลัง

 

สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินแบบหนึ่ง เป็นการดำเนินธุรกิจของเอกชน ที่มีสมาชิกเป็นบุคคลซึ่งมีอาชีพอย่างเดียวกัน หรือที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน

 

ในที่นี้ ขอกล่าวจำเพาะ 2 สถาบันสำคัญการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ. ดูวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งแล้ว น่ายกย่องชื่นชมในความรักเข้าถึงความรู้จักแบ่งปันมีน้ำใจ คอยห่วงหาอาทรต่อกันเมื่อเพื่อนมนุษย์ยามทุกข์ยาก  รักเด็ก ประชาชนเป็นสำคัญ

 

มองในภาพรวมแห่งวัตถุประสงค์ ไม่ว่ามุมไหน ล้วนดูดี ชัดเจน มุ่งมั่นส่งเสริมให้มีการออมเงิน ตามด้วยผลตอบแทนทั้งกู้ยืมและฝากในรูปของดอกเบี้ยตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ

 

จะต่างกันเพียงสถานะภาพตรงที่ ธนาคารออมสิน มีสถานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ขณะที่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงิน ที่มีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจของเอกชน   

***อ้างอิง คำตัดสินศาลปกครองสูงสุด เคยมี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 คำสั่งที่ คร.๒๐๖/๒๕๖๓ ไม่รับคำฟ้องจากผู้ฟ้องคดีระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษา จังหวัดเลย อ้างถึงตามนัยมาตรา ๓๓ ประกอบมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า...

 

...สหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯไม่ใช่กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา จึงไม่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง...”

 

แต่มีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจของเอกชน

 

 

 เมื่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯไม่ใช่กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น  ดังนั้น การที่ใครจะไปบีบบังคับ คิดอ่านไปฟ้องร้องเอาเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ในทำนองไม่สนองนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สิน หรือขู่คิดจะเอาโทษผู้บริหารโรงเรียน และเจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียน รวมทั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ในการไม่ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด หรือจะใช้วิธีการชักชวนเพื่อนครูที่เป็นสมาชิกและบุคลากรทางการศึกษา แห่กันไปกดดัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ให้ดำเนินการตามที่คิดนั้น ก็คงจะยาก

 

ดีไม่ดี อาจจะหน้าหงายมีแผลออกมา แบบหมอไม่รับเย็บ

 

ทุกวันนี้ ในเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินครู เชื่อว่าอยู่กลางความทุกข์เกาะกินใจทุกวัน หลังจากนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประธานคณะกรรมการ ได้ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว คงต้องให้กำลังใจกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลมาถึงวันนี้ และต้องมาสะดุดที่คนในบังคับบัญชามาใส่เกียร์ว่าง ซะงั้น

 

 

แต่เมื่อ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้ามารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ศธ. แทน ก็ยังถือเป็นธุระไม่วางเฉย ทั้ง ๆ ที่มีเวลาเหลืออีกเพียงเดือนเศษๆ สิ้นกันยายนนี้แล้ว จะก้าวพ้นเก้าอี้ปลัด ศธ.ทนเห็นความเดือดร้อนซึ่งเป็นทุกข์ของบรรดาคุณครูผู้มีหนี้สินทุกข์ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด  

   

จึงได้มีหนังสือ ที่ ศธ.๐๒๐๗/๒๒๘๒ กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ถึง ผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารออมสิน ขอขยายเวลาชะลอการดำเนินการทางกฎหมายให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีรายละเอียดระบุถึงปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการครูจำนวนมาก ว่า...

 

หลังจากที่หักเงินเดือน เพื่อชำระหนี้ตามที่เจ้าหนี้ทุกรายได้เรียกเก็บมาแล้ว ปรากฎฏว่า ลูกหนี้มีเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่แม้จะมีหนี้สิน แต่ก็มีสิทธิที่จะมีเงินเหลือไว้ สำหรับดำรงชีพ

 

พร้อมขอเรียนว่า นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเกณฑ์ residual income ที่จะต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ รวมถึงการปฏิบัติตามศาลปกครองในปี ๒๕๖๒ ได้พิพากษาให้ กระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด

 

เห็นไหม อ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย เป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก รู้จักใช้ลมปากหวานหูไม่รู้หาย โดยไม่ต้องสำแดงอิทธิฤทธิ์ ยกกฎหมายขึ้นมาข่มขู่ แบบพวกมากลากไป จะพลอยทำให้เสียมิตรภภาพไปเปล่า ๆ

 

นอกจากนี้ ในหนังสือของปลัด ศธ.ยังท้าวความถึงการทำงาน ในลักษณะเป็นตัวแทนบรรดาลูกหนี้ อีกว่า.

 

อีกทั้งในปี ๒๕๖๔ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่หน่วยงานทางการศึกษาผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด

 

นั่นหมายถึง การอธิบายความถึงความเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด  จึงขอความร่วมมือธนาคารออมสิน ใน 3 ประเด็น คือ 

 

๑. ขยายระยะเวลาดำเนินการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผิดนัดชำระหนี้ออกไปถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ 

 

๒. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือ ร้อยละ ๔ และ 

 

๓. ในกรณีที่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหรือสินเชื่อที่ต้องจ่ายคืนระยะสั้น ๑-๒ ปี ให้เปลี่ยนเป็นสินเชื่อเงินก้อน ที่มีระยะเวลาผ่อนชำระนาน ๑๐ ปี 

 

แสดงว่า ศธ.ได้ทำหน้าที่นี้ไปก่อนที่สมาคม ชมรม หรือกลุ่มแกนนำครูอื่น ๆ  จะมีความเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องเสียอีก  

 

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ จะยังไร้การขานรับ จากผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารออมสินก็ตาม ซึ่งคงต้องให้เวลานำไปพิจารนาไตร่ตรองกันบ้าง หากได้คำตอบอย่างไร ค่อยว่ากันตามวิถีทางใครทางมันก็แล้วกัน

 

แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินข้าราชการครู จะเห็นว่า นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งหนังสือแนวปฏิบัติตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ เพิ่มเติม  ถึงส่วนราชการผู้เบิกหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ดังเหตุผลแห่งความสำคัญที่เป็นข้อเท็จจริงแห่งปัญหา ตรงประเด็นว่า... 

 

....เนื่องจากปรากฏว่า ส่วนราชการผู้เบิกมีการหักเงินเดือนข้าราชการ ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันเพิ่มเติม

 

ข้อ ๑ ให้ส่วนราชการผู้เบิกหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเพื่อชำระเงินให้แก่สหกรณ์ ที่จัดตั้งโดยส่วนราชการและค่าสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเช่น เงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. เงินกู้ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือชำระตามข้อผูกพันกับทางราชการ์เท่านั้น โดยจะต้องมีหนังสือยินยอมจากข้าราชการ 

 

ข้อ ๒ ส่วนราชการผู้เบิกหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเพื่อชำระเงินตามข้อ ๑ เมื่อรวมกับเงินอื่นที่จะต้องหักจากเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย เช่น ภาษี กบข. หรือ กยศ.แล้วจะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักเงินเดือนแล้วเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐

 

ข้อ ๓ ข้าราชการรายใด เมื่อส่วนราชการผู้เบิกหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญแล้ว มีเงินเดือนสุทธิหลังหักเงินเดือนเหลือน้อยกว่าร้อยละ ๓o ให้ส่วนราชการผู้เบิก งดการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการดังกล่าว จนกว่าจะดำเนินการให้มีเงินเดือนสุทธิหลังหักเงินเดือนแล้วเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐

 

ข้อ ๔ ข้าราชการรายใด เมื่อส่วนราชการผู้เบิกหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้แล้ว มีเงินเดือนสุทธิหลังหักเงินเดือนเหลือน้อยกว่า ร้อยละ ๓o  และได้สมัครเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ ให้หัวหน้าส่วนราชการผู้เบิกหรือผู้บังคับบัญชาชั้นต้นพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือวางแผนการชำระหนี้เงินกู้ เงินสวัสดิการภายในของส่วนราชการสหกรณ์หรือสถาบันการเงิน

 

ข้อ ๕ ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ ๔ ได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการผู้เบิกงดการหักเงินเดือนจนกว่าจะมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือแนวปฏิบัตินี้

 

อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู (แนบท้ายหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0๒๐๙/๒๓๘๕ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

 

นี่ก็ต้องรอดูว่า หนังสือคำสั่ง จะเป็นแค่กระดาษที่นำไปสู่การปฏิบัติในเชิงคำสั่งทางปกครองหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรอการตอบรับจาก ธ.ออมสิน ส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้ดีว่าทุกข้อที่ศธ.ขอไป ล้วนยากสุด โดยเฉพาะเรื่องการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือร้อยละ ๔ อาจไปกระทบกับบัญชีอัตราเงินเดือนชั้นต้น-ขั้นสูง แต่ละตำแหน่ง ที่ได้รับตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 119  แห่ง ทั่วประเทศ นี่ยังไม่รวมค่าจัดการอื่น ๆ 

 

ว่ากันว่า เฉพาะตำแหน่งผู้จัดการ มีเงินเดือน ขั้นต้น 31,220 บาท  ขั้นสูง ได้ถึง 101,790 บาท ยังไม่รวม เงินประจำตำแหน่ง อีกเดือนละ 11,200 บาท อีกด้วย

 

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ ผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา บางแห่งบางคนส่วนใหญ่ ที่มีตำแหน่งประธานสหกรณ์ฯหรือผู้จัดการกรรมการ พ่วงด้วยบรรดาครูที่เป็นพรรคพวกบริวาร ที่มาจากเขตพื้นที่แต่ละเขตตั้งแต่ 2 – 3 คน ที่เข้าไปเป็นใหญ่ในคณะกรรมการดำเนินการ ตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง อีกจำนวนหนึ่งทุก 4 ปี ล้วนแล้วเป็นข้าราชการ มีผลประโยชน์ร่วม ส่วนใหญ่จะวางเฉย ในทำนอง ใส่เกียร์ว่าง...

 

 

ด้วยถือว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ เป็นการดำเนินธุรกิจของเอกชน ไม่ได้อยู่ในสังกัดศธ. เพราะบรรดาผู้จัดการ กรมการสหกรณ์ฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา,ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 

 

ต้นสังกัดไม่มีอำนาจไปสั่งได้ เนื่องจากทำงานให้กับกรมสหกรณ์ อาศัยอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออก กฎกระทรวงไว้ ในอดีตเล่ากันว่า เคยมีผู้จัดการฯ เชิดหน้าใส่ รมว.ศธ.ก็มี 

 

 

เรื่องอย่างนี้ มีหรือที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. หรือ ปลัดสป.ศธ.นายสุภัทร จำปาทอง จะมองไม่เห็นความผิดปกติในเรื่องของส่วนราชการผู้เบิกมีการหักเงินเดือนข้าราชการ ทำไมไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ กำหนดไว้ 

 

จึงอดเป็นห่วงมิได้ว่า แม้ ศธ.จะออกหนังสือแจ้งถึงส่วนราชการผู้เบิกหักเงินเดือนของข้าราชการ เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ศธ. เพื่อชำระเงินให้แก่สหกรณ์ ดังว่า อีกสักกี่ร้อยฉบับ ก็ยากที่จะได้ผลตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น 

 

 

เท่ากับว่า ผู้มีอำนาจการจัดการในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ แต่ละแห่งนั้น น่าจะรู้อยู่กับใจถึงจิตสำนึกอันมีพฤติกรรมลักษณะเป็นปลาสองน้ำ บ่าวสองนาย แต่ตัวเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษา  ยังไปใช้เวลาราชการไปดำเนินงานธุรกิจเอกชนมาทำ โดยรับค่าตอบแทนนับแสนบาท/เดือน นั้น อาจเข้าข่ายความผิดวินัยร้ายแรงก็ได้ หากมีผู้ใดยกขึ้นเป็นเหตุกล่าวหาเป็นประเด็นฟ้องร้อง  

 

ซึ่งในหลักราชการ แค่รับเกิน 3,000 บาท ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดสมบูรณ์แล้ว

 

หรือว่า...มีระเบียบ กฎ ของศธ.ฉบับใด ข้อใดอนุญาตให้ไปทำได้บ้าง 

 

หรือคงลืมไปว่า ข้าราชการพลเรือน พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ต้องรักษาวินัยของข้าราชการโดยกระทำการหรือไม่กระทำการตามที่บัญญัติ ไว้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ

 

หากไม่กระทำการตามที่บัญญัติไว้  เห็นทีคงต้องใช้อำนาจทางการปกครอง เข้าดำเนินการ 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)