งบกลาง 395.2 ล้าน ให้ สพฐ. ช่วยร.ร.ประสบภัย ไม่บกพร่อง ต้องโปร่งใส

งบกลาง 395.2 ล้าน  ให้ สพฐ. ช่วยร.ร.ประสบภัย ไม่บกพร่อง ต้องโปร่งใส    

ตามที่ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในกรอบวงเงิน 395,237,200 บาท ให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นงบกลาง แม้จะดูไม่มากนัก แต่ก็เป็นรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่น ให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติ ในสังกัด สพฐ. จำนวน 1,071 รายการ นับเป็นข่าวน่ายินดียิ่ง

ก็ด้วยเหตุผลดังยกอ้าง เนื่องจากในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติในสังกัด สพฐ. จำนวนมาก คือ อาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นไม่มีความพร้อมในการใช้งาน เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในการใช้สถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอน และสร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองและประชาชนโดยรอบที่ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน

หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่ง สพฐ. ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว

เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเตรียมความพร้อมทางด้านอาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถานศึกษารองรับการเปิดภาคเรียน รวมทั้งเพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มรูปแบบ จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณฯ งบกลาง เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่น ให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติให้กลับสู่สภาพปกติอย่างเร่งด่วนนับเป็นเรื่องดี เป็นเหตุเป็นผล แต่กระนั้นก็ยังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากเกรงว่าเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้นจะสิ้นปีงบประมาณ 2565 แล้ว สพฐ.จะสามารถดำเนินการใช้งบฯ ดังกล่าวเพื่อการนี้ได้ทันหรือไม่   

ถึงแม้ว่า จะมีการรับรองด้วยความแข็งขันถึงการเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อใช้จ่ายงบฯด้วยเหตุและผล ตามเงื่อนไขเวลาของแต่ละแห่งที่รับงบไปดำเนินการ แต่ย่อมเป็นที่มาของการจับตามองจากสังคมตลอดข้อครหา อาจนำมาซึ่งการสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องคุณภาพผลงาน ตลอดถึงขั้นตอนการทำเอกสารว่าจ้างที่มีความผิดพลาดในระบบธุรการ จนเกิดเป็นการฟ้องร้องกล่าวหาในเชิงปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือเกิดการทุจริต ในลักษณะใช้งบแผ่นดินกินตามน้ำ ไม่โปร่งใส ก็ได้

และสุดท้ายแล้วเกรงว่า ผู้ที่มักจะตกเป็นจำเลย คงหนีไม่พ้นครูผู้น้อย เจ้าหน้าที่ธุรการ หรืองานบริหารทั่วไปในสถานศึกษา ที่ถูกผู้อำนวยการสถานศึกษา นั้น ๆ แต่งตั้งมอบหมายให้ดำเนินการอย่างมิอาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได

 

ยิ่งมาดูคู่มือ แนวทางการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนประสบอุบัติภัย กรณีที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ได้รับเหตุภัยพิบัติ เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม พายุรุนแรง หรือ อื่น ๆ แล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการโรงเรียนต้องดำเนินการทันที จะพบว่า มีรายละเอียด มากมายที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจาก...

๑.ทำรายงานถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเบื้องต้น 

๒.เวรรักษาการณ์ของโรงเรียนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ ผอ.ทราบเป็นลายลักษณ์ 

๓.โรงเรียนต้องรายงานเหตุการณ์ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด ระบุ วันที่ เวลา และสถานที่เกิดเหตุ

จากนั้นมาถึง เรื่องที่โรงเรียนจะต้องดำเนินการของบประมาณรายการค่าซ่อมแชมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดและประสบอุบัติภัยในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม โดยปกติไม่ควรเกิน ๒ สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ โดยการเสนอของบประมาณไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ให้โรงเรียนแนบเอกสาร ดังนี้ 

- ภาพถ่ายสภาพความเสียหายที่ชัดเจน ระบุ รายละเอียดตามรายการที่ของบประมาณซ่อมแชมพร้อมรับรองเอกสาร สำเนาบันทึกสมุดการอยู่เวรของครูเวรประจำโรงเรียนที่มีการระบุวัน เวลา ในการเกิดอุบัติภัย พร้อมรับรองเอกสาร สำเนาบันทึกการตรวจสอบของคณะกรรมการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ

- คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจ / ตรวจสภาพ ความเสียหายของโรงเรียนและผลสรุปรายงาน ความจำเป็นของคณะกรรมการ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

- รายละเอียดการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ โดยถ้าเป็นรายการปรับปรุงซ่อมแชมต้องแนบ รายการประปริมาณงานและราคา (ปร.๔ ) สรุปค่าปรับปรุง ซ่อมแซม (ส่วนค่างานต้นทุน) ปร.๕ และ สรุปค่าปรับปรุง ซ่อมแซม ปร.๖ มาพร้อมด้วย (ต้องสอดคล้องกับข้อมูลข้อ ๑ - ๓)

- สำเนาทะเบียนที่ราชพัสดุในส่วนของอาคารเรียน อาคารประกอบ ที่ต้องการของบประมาณค่าซ่อมแซม พร้อมรับรองเอกสาร

แม้จะมีรายการเอกสารตามข้อเท็จจริงที่ต้องทำ อาจยุ่งยากเนื่องจากต้องคิดอ่านตามข้อเท็จจริงมากมาย เพื่อให้ได้งบมาตามคำขอ ก็มิใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดประการใดในระบบราชการ ที่ยึดเอกสารทางราชการเป็นหลัก น่าจะเป็นการดีด้วยซ้ำ

แต่..ทางรอดปลอดภัยของบุคลากรที่ได้รับมอบหมาย ในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในกรอบวงเงิน 395,237,200 บาท ซึ่งเป็นงบกลางให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติ ในสังกัด สพฐ. ครั้งนี้ หากดำเนินกิจกรรมด้วยความโปร่งใสทุกขั้นตอน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยเปิดเผยข้อมูลทุกรูปแบบ

 

เท่ากับสร้างเกราะคุ้มภัยให้กับตนเองและได้ชื่อว่า ถือปฏิบัติตามเจตจำนงการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างมีคุณธรรมและโปร่งใส โดยแท้   

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)