"ดร.นิวัตร นาคะเวช"วิพากย์!ร่าง กม.ศึกษาชาติ : คุณภาพผู้เรียนที่ต้องการ (ตอน 1)

 

วิพากย์การศึกษา: ว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ 

กับคุณภาพของผู้เรียนที่เราต้องการ (ตอน 1)

 

โดย: ดร.นิวัตร นาคะเวช อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

เรียบเรียงโดย: นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง

              การศึกษาในประเทศไทย เป็นการศึกษาที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยภาครัฐจะเข้ามาดูแลโดยตรงและเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา สำหรับการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยนั้นได้กำหนดให้พลเมืองไทยต้องจบการศึกษาอย่างน้อยที่สุดในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และต้องเข้ารับการศึกษาอย่างช้าสุดเมื่ออายุ 7 ปี ซึ่งการศึกษาภาคบังคับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแบ่งออกเป็นระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปีและมัธยมศึกษา 6 ปี นอกจากนี้แล้วการศึกษาขั้นพื้นฐานยังรวมถึงการศึกษาปฐมวัยอีกด้วย ทั้งนี้รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

              โดยที่มาตรา 54 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

             รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

             รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

              การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

              ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

              ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูโดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว (มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนคำปรารภที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ)

               มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้

               . ด้านการศึกษา (ก – ช รวม 7 ด้าน)

(1) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

(2) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา ๕๔ วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอนรวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

(4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

             มาตรา 261 ในการปฏิรูปตามมาตรา 258 . ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

             ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

(ประเด็นสำคัญเพิ่มเติม) ทั้งนี้ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ความคล่องตัวที่จะรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

               โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา บัญญัติให้มีการ ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และมาตรา 261 บัญญัติให้ในการปฏิรูปตามมาตรา258 จ. ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดําเนินการด้านการศึกษาและจัดทําข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดําเนินการต่อไป อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) จํานวน 25 คน โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการ โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเลขานุการ มีวาระการทำงาน 2 ปี ซึ่งครบวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 และได้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาแล้ว ผลงานของ กอปศ.นั้นนับว่าสร้างความแตกตื่น สร้างความไม่สบายใจให้แก่ข้าราชการครู ได้อย่างกว้างขวางและกระทบกระเทือนต่อผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา นั่นก็คือ “การยกร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ......”

เหตุผลในการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)

                 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ดำเนินการศึกษาและทบทวน ผลการศึกษาวิจัย ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนทบทวนผลลัพธ์และ ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาของประเทศที่มีการทดสอบและสำรวจไว้จากแหล่งอ้างอิงทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงสรุปข้อคิดเห็นจากการเยี่ยมพื้นที่และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ กอปศ. จัดขึ้นร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากว่า 20 ครั้ง ร่วมกับข้อคิดเห็นที่ได้รับผ่านทาง เว็บไซต์ของ กอปศ. (www.thaiedreform.org) และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทำให้สรุปปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษาของประเทศ ได้โดยย่อดังนี้

1. ปัญหาของระบบการศึกษาของไทยมีความซับซ้อนสูง และมีองค์ประกอบในการจัดการหลายด้าน ทั้งในด้านการเชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน และด้านการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระบบงานของหลายกระทรวงไม่ใช่เพียงแต่ กระทรวงศึกษาธิการ การศึกษามีทั้งส่วนที่เป็นการพัฒนาเด็กเล็ก การจัดการศึกษาสำหรับการพัฒนาผู้เรียนที่เป็นเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ครอบคลุมไปถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนวัยต่างๆ เพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตที่ดี ซึ่งพบว่ามี กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกฎ ก.ค.ศ. รวมไม่น้อยกว่า 100 ฉบับ และมีหน่วยงานสำคัญของรัฐที่ได้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการศึกษาไว้แล้วไม่น้อย กว่า 4 ชุด ครอบคลุมประเด็นต่างๆ จำนวนมาก

2. คุณภาพของการศึกษาต่ำ จากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) (2561) ของนักเรียนทั่วประเทศพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำมาก คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกรายวิชา รวมถึงผลการทดสอบจากโครงการประเมินผลนักเรียน ระดับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) ในปี ค.ศ. 2015 พบว่าคะแนนที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานโลก มีผู้สอบได้คะแนนต่ำกว่าระดับ “Below minimum” ในวิชาคณิตศาสตร์ถึงร้อยละ 53.8 และในวิชาวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 46.7

3. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง พบว่าคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนขนาดใหญ่มีระดับที่สูงกว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมากในทุกรายวิชา ในขณะที่พบว่ามีนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนสาธิตเท่านั้นที่มีคะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบ PISA ในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สูงกว่ามาตรฐานที่ระดับ 500 คะแนน นักเรียนของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีคะแนนน้อยกว่า 400 คะแนน นอกจากนี้การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการประกันคุณภาพศึกษาและการประเมินคุณภาพ ในแนวทางที่ได้ดำเนินการผ่านมาพบว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และยังสร้างภาระจำนวน มากให้แก่ครูและสถานศึกษา

4. ปัญหาของระบบการศึกษาเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ Global Competitiveness index 2017 - 2018 ได้จัดให้ประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ในภาพรวม แต่การศึกษาตกอยู่ที่อันดับ 56 มหาวิทยาลัยของไทย ไม่ติดอันดับใน 200 อันดับแรกในการจัดอันดับของ Times World University Rankings และ QS World University Rankings ในปี 2561ในขณะที่มหาวิทยาลัยของไต้หวัน มาเลเซีย และฮ่องกง ติดอันดับและพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ข้อจำกัดต่างๆ ใน ระบบการศึกษาของไทยยังทำให้การจัดการศึกษาไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาตาม ความก้าวหน้าของความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนไปตาม ความถนัดและศักยภาพ รวมถึงไม่สามารถชี้นำผู้เรียนให้เรียนในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการ ของประเทศ โดยเฉพาะอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 มีผู้ว่างงานราว 449000 คน โดยเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาถึงประมาณ 150000 คน

5. การใช้ทรัพยากรทางการศึกษายังไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยใช้งบประมาณด้าน การศึกษาคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดินของประเทศ หรือ ประมาณร้อยละ 4.2 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ผลลัพธ์การศึกษา ที่ประเมินโดย PISA กลับอยู่ในระดับ “Poor” เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เวียดนามที่มี ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง แต่ผลการทดสอบ PISA อยู่ในระดับ “Great” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงการใช้ทรัพยากรไม่ตรงประเด็นที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพทางการศึกษา อีกทั้งยังขาดข้อมูลและสารสนเทศในการจัดการที่ทันการณ์และมีคุณภาพ 3 เพียงพอที่จะเอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพตรงประเด็น ไม่ซ้ำซ้อน และมีความเป็นธรรม

6. การกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบการศึกษาของภาครัฐในด้านธรรมาภิบาลเป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนประสิทธิผลของการนำประเด็นการปฏิรูปการศึกษาสู่การปฏิบัติ ในช่วงเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา การจัดโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการไม่เอื้อต่อการจัดความรับผิดรับชอบต่อผลการดำเนินการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการศึกษา รวมถึงการตอบสนองอย่างทันการณ์ต่อ ความต้องการของตลาดการจ้างงาน การบริหารจัดการระบบการศึกษามุ่งสร้างมาตรฐานบน ความ “เหมือน” ทั้งที่ข้อเท็จจริงระบบต้องการ “คุณภาพบนความหลากหลาย” การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างจำกัดทำให้สถานศึกษาของรัฐต้องรับภาระจากคำสั่งเพื่อปฏิบัติงานต่างๆ จนทำให้ครูไม่สามารถใช้เวลาในห้องเรียนได้เต็มที่

7. บริบทของประเทศและของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดจนนวัตกรรมของเทคโนโลยีต่างๆ มีแหล่งความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ซึ่งเหมือนเป็นโอกาสในทางหนึ่ง แต่ในอีกทางหนึ่งการเปลี่ยนแปลง ข้างต้นส่งผลให้ประชาชนต้องมีความสามารถและสมรรถนะในการเลือกเรียนรู้สิ่งใหม่และ การปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ระบบการศึกษาจึงต้องมุ่งพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เปิดทางเลือกให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ เชี่ยวชาญในเรื่องที่ถนัดและสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถดูแลสุขภาวะของตนเองและครอบครัว ในขณะเดียวกับที่ยังคงต้องมุ่งเน้นการให้มีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นเป็น คนดี รับผิดชอบต่อสังคมและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ทิศทางของการพัฒนาประเทศจากการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กำหนดประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมเพื่อสร้างคนดี มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม มีการพัฒนาศักยภาพของคนตลอดช่วงชีวิต ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วย

             นี่คือเหตุผลในการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...แต่สิ่งสำคัญที่ กอปศ.เน้นย้ำก็คือ นำผลการทดสอบฯต่าง ๆ มากำหนดคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งเหตุผลในเรื่องนี้ดูจะเป็นการมองที่ไม่รอบด้านของ กอปศ.และอาจไม่เป็นธรรมต่อผู้จัดการศึกษาของชาติ

            คำว่า"คุณภาพการศึกษา" คำนี้เป็นคำที่กล่าวถึงกันมาเนิ่นนานเกี่ยวกับความหมายของคุณภาพการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น หาวิธีการและแนวทางที่จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ดีขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ ความหมายของคำว่า "คุณภาพการศึกษา" ที่แท้จริงคืออะไร? คำว่า "คุณภาพการศึกษา" เป็นนามธรรม หากเข้าใจความหมายไม่ตรงกันแล้ว เมื่อนำลงมาสู่การปฏิบัติ ก็จะแตกออกไปในแต่ละทิศทาง สุดท้ายก็อาจวนอยู่ในอ่างในสังคมไทยยังมีความสับสนระหว่างคำว่า "คุณภาพคน" กับคำว่า "คุณภาพการศึกษา" ที่ผ่านมาสังคมมักจะกล่าวโทษกันว่า คนดีหรือคนไม่ดีเป็นเพราะการศึกษา แท้จริงแล้ว “การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคุณภาพคน” เนื่องจาก คุณภาพคนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทำอย่างไรที่ทำให้สังคมเข้าใจประเด็นนี้ให้ชัดเจนและแยกแยะให้ถูกต้องสำคัญที่สุด คือ กระบวนการสร้างคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยทำแบบแยกส่วนต่างฝ่ายต่างพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองทำอย่างไรที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการ "สร้างคน" ตั้งแต่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่จะต้องดูแลเอาใจใส่บุตรหลานของตน จากนั้นจึงเป็นสถานศึกษาที่รับช่วงต่อในการสร้างคนให้เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ จนกระทั่งเข้าสู่ระบบการทำงาน องค์กรต่างๆ เพื่อให้เป็นคนคุณภาพของสังคม ก็จะต้องมีระบบการสร้างคน สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมในการทำงานที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันในการทำงานให้ประเด็นต่างๆ มีความกระจ่างและชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่ทุกคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดคุณภาพในสังคม จะได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนในการที่จะเข้ามาช่วยกันสร้างและพัฒนาคนให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะส่งผลถึงคุณภาพที่ยั่งยืนต่อไป

               ซึ่งเรื่องนี้ ดร.นิวัตร นาคะเวช อดีต รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติวาระที่ 2 ได้ให้ข้อคิดและแนวทางในการ “สร้างคุณภาพผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้”โดยท่านเน้นย้ำว่า “ขอให้มองภาพเป็นองค์รวม มิให้มองแยกส่วน”ในการพิจารณา แล้วจะเห็นภาพปัจจุบันและปัญหา เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไข ปรับปรุง ในวาระ 2 ของรัฐสภา โดยมองว่า “กอปศ.นำประเด็นเรื่องผลการสอบ O-NET/PISA ไปตั้งเป็นสมมุติฐานการประเมินและแทนค่าเป็น “คุณภาพการศึกษา”ของผู้เรียนนั้น อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดแต่เป็นการ “ติดกระดุมผิด”ตั้งแต่เม็ดแรก เพราะคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนนั้นมีปัจจัยที่ส่งเสริม สนับสนุนหรือมีองค์ประกอบหลายประการ จึงขอนำเสนอประเด็นและมุมมองดังนี้

        1. คุณภาพของการบริหารจัดการ

             1.1 คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  

             1.2 คุณภาพการบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาธิการ

             1.3 คุณภาพการบริหารจัดการในระดับจังหวัด(ศธจ./สพม.สพป.)

        2. คุณภาพการบริหารการจัดการในระดับโรงเรียน

        3. คุณภาพของผู้บริหารการศึกษา

        4. คุณภาพครู

        5. คุณภาพของผู้เรียน

        6. คุณภาพของผู้ปกครองและชุมชน

   1. คุณภาพของการบริหารจัดการ หมายถึง การปฏิบัติงานหรือการทำงานขององค์กรเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติทุกประการของผลิตภัณฑ์ หรือพฤติการณ์ทุกอย่างของการบริการที่สามารถสนองความต้องการ ความพึงพอใจ และความปรารถนาของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในที่นี้ จะกล่าวการบริหารจัดการด้านการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีส่วนรับผิดชอบ คือ

         1.1 คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๕๔ กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยจัดให้มีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน และมาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูและมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ประกอบกับมาตรา ๒๖๑ กำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษา ซึ่งอยู่ในขั้นแปรญัตติ ในวาระ 2 และไม่แน่ใจว่าจะเสร็จทันใช้ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เพราะทุกมาตราในร่างฉบับนี้นั้นเหมือนจะต้องปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด

          ขณะนี้รัฐบาลทำอะไรได้บ้างในการบริหารการจัดการฯด้านการศึกษาซึ่งยังใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 และคำสั่ง คสช.ที่ 17 ที่มีความลักลั่นในการบริหารบุคคลและงบประมาณ มีแต่การตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา(ปลายเหตุ) มีแต่รายงานผลการแก้ปัญหาที่เป็นการสร้างภาพสร้างวาทะกรรมและเป็นรายงานขยะ ซึ่งไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง หรือทดลองใช้ในการแก้ปัญหา จึงแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรือเกาไม่ถูกที่คัน ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว ผมยังอยากให้ใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ต่อไป โดยเพิ่มหมวดและปรับปรุงในบางมาตราจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการผ่านและบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ด้วยเหตุผลสามประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 มีคุณสมบัติของเครื่องมือเชิงนโยบายแบบอิงอำนาจรัฐที่เหมาะสมกว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประการที่สอง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 เป็นตัวบทกฎหมายที่ผ่านกระบวนการแสวงหาแนวร่วมที่กว้างขวางและได้รับความยอมรับจากสาธารณชนมากกว่าร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ และประการสุดท้าย บทเรียนจากการตรา พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ในฐานะเครื่องมือปฏิรูปการศึกษาได้สอนเราว่า การออกกฎหมายฉบับใหม่อาจไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้ เพราะต้นทุนของการปฏิบัติตามกฎหมายที่ภาคส่วนและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องแบกรับนั้นสูงเกินกว่าประโยชน์ต่อผู้เรียนที่สังคมจะได้รับตอบแทนคืนมาภายในระยะเวลา 15-20 ปี โดยจะเสนอแนะว่า ส่วนหลักๆ ที่ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาเพิ่มเติมเข้าไปในเนื้อหา พ.ร.บ. 2542 คือ การบรรเทาผลกระทบด้านความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาอันสืบเนื่องจากการเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาของภาคเอกชน (นายกมลเทพ จันทรจิต)

             ประเทศไทยยังต้องการ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารให้มีประสิทธิภาพโปร่งใสและเป็นธรรม การกระจายงบประมาณที่เป็นธรรม ปฏิรูปการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบท ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศ โดยความร่วมแรงร่วมใจทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนก็ควรให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองของผู้เรียนและมีคุณภาพที่ใช้งานได้ เช่น อาจจัดโครงการที่มุ่งพัฒนาครูอาจารย์ผู้บริหารการศึกษาอย่าง จริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้คนเก่ง คนดีอยากเข้ามาเป็นครูและสร้างความมั่นใจ และมั่นคงในอาชีพครูมากขึ้น เช่น ปฏิรูปการฝึกหัดครู ปฏิรูปการคัดเลือก การทำงานแบบส่งเสริมความพอใจและความก้าวหน้าของครูด้วย

             อีกเรื่องหนึ่งถ้าจะไม่พูดถึงเลย คือ “การบริการของภาครัฐ”ที่จัดได้ไม่ทั่วถึง ประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งไม่ตอบโจทย์และตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียต่อการจัดการศึกษาเพื่อ “คุณภาพการศึกษา”โดยตรง ดังนี้

                1.เทคโนโลยีสารสนเทศ(computer/wifi/internet) รัฐควรส่งเสริมสนับสนุนให้กับทุกโรงเรียน ทุกภูมิภาคและทุกพื้นที่ เพื่อความเท่าทียมลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและสานต่อการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตต่อไป 

                2.โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สําหรับ รายการค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน อยากให้คงอยู่ต่อไปอย่างถาวรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดความด้อยโอกาสทางการศึกษา

                3.หน่วยงานการบริหารบุคคลทางการศึกษาในระดับจังหวัด ควรลดลงให้เหลือหน่วยงานเดียว เพื่อความเอกภาพในการจัดการศึกษา

                4.กองทุนและการบริหารกองทุน ควรเป็นกองทุนเพื่อคนด้อยโอกาสอย่างแท้จริง

                 5.การแก้ปัญหาหนี้สินครู รัฐควรตั้งกองทุน หรือหาทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ปัญหาให้ครูที่กำลังเป็นประสบปัญหา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและอยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่ในขณะนี้

                 6.สร้างความร่วมมือภาคประชารัฐและขจัดยาเสพติด รัฐควรดำเนินการอย่างเฉียบขาด เพื่อลดผู้เสพรายใหม่

                 7.หลักสูตรการศึกษา ปฏิรูปให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศและประชาน โดยเน้นผู้เรียนให้มีเป้าหมายในชีวิตเป็นสำคัญ

            ในเรื่องดังกล่าวนี้จะสอดคล้องกับการวางแนวการพัฒนาประเทศในรูปของแผนกลยุทธิ์ ฯ / แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 - 2579)/นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน /นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายจาก สพฐ และรวมถึงแผนปฏิบัติการของ สพฐ...ฯล แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ “คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ”เท่านั้นที่จะลดหรือสร้างความเหลื่อมล้ำที่ยังแก้ไม่หมดไปจากสังคมไทยเสียที ท่าน ดร.ดิเรก  พรสีมา กล่าวปิดท้ายในเรื่องนี้

         1.2 คุณภาพการบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาธิการ บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติเป็นอีกความหวังหนึ่งของประชาชนในชาติที่อาจจะกำหนดทิศทางการแข่งขันกับต่างประเทศในโลกอนาคต ก็ขึ้นอยู่คณะบริหารระดับสูงทั้งหลายที่จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลที่เห็นช่องทางการพัฒนาผนวกกับบทบาทการพัฒนาคนในชาติให้เกิดความ เข้มแข็ง มีศักยภาพ และคุณภาพในการพัฒนาประเทศร่วมกัน  ทั้งนี้การนั่งคิด นอนคิด ยืนคิดเพียงเฉพาะรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีคงจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความฝันที่เป็นจริงได้ในเร็ววัน แต่จะต้องร่วมคิดในเชิง“วาระแห่งชาติ”ที่เห็นว่าการศึกษาของประชาชนจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศชาติให้รุดหน้าทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศอื่นๆได้ เพราะฉะนั้น การพัฒนาบทบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าอาจจะมิใช่คำตอบทั้งหมดแต่อย่างน้อยที่สุด กระทรวงศึกษาธิการจะปัดความรับผิดชอบเรื่องคุณภาพของการศึกษาชาติไปไม่ได้ จะมีคุณภาพต่ำหรือมีคุณภาพสูงก็ควรยอมรับโดยไม่มีข้อแม้แต่อย่างใด 

           แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการควรกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคให้มากที่สุด และส่งเสริมให้หน่วยงานทางการศึกษาเป็น “นิติบุคคล” เพื่อสร้างความรับผิดชอบในท้องถิ่นให้มากที่สุด อย่าให้เกิดการรวมศูนย์ไว้ที่กระทรวงเพียงอย่างเดียว ควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา ลดองค์กรให้เล็กลง โดยทำหน้าที่สำคัญคือ อำนวยการ สนับสนุน ติดตาม และประเมินผล ตลอดจนกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ(มาตรา 106) แผนการศึกษา

           คงจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติให้ประสบผลสำเร็จได้โดยไม่ยากจนเกินไป..และถ้าเป็นไปได้ (และอยากให้เป็นมากที่สุด) คือโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ สมควรเป็นกระทรวง “ครู” ที่มีข้าราชการครูทั้งกระทรวงโดยแท้จริง (ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง)

(ตอนหน้าต่อเนื่องด้วยเรื่องของ องค์กรวิชาชีพครู "คุรุสภา")

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)