ครูแห่ออนไลน์! ชมงาน สพฐ.แสดงนวัตกรรมครู-นักเรียน แบบ Active Learning

 

 

ครูแห่ออนไลน์! ชมงานครู-น.ร.สร้างนวัตกรรมด้วยหลักสูตรอิงมาตรฐาน แบบ Active Learning "เลขาฯ กพฐ." พอใจเร่งขยายผลสู่ ร.ร.ต้นแบบทุกภูมิภาค เริ่มขับเคลื่อนเทอม 2 นี้

เมื่อช่วงบ่ายวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

จัดการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “เดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤติ COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (TEAM WEBINAR)” ผ่านช่องทางออนไลน์ ZOOM และถ่ายทอดผ่าน OBEC TV Channel

มี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ผู้บริหารระดับสูง ศธ. ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมผ่านช่องทาง ZOOM เป็นจำนวนมาก

โดยภายในงานทั้งที่หอประชุมคุรุสภา และในสถานศึกษาต้นแบบ 10 จังหวัดภาคเหนือ มีการถ่ายทอดการนำเสนอโมเดลและจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมครูและนักเรียนที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning GPAS 5 Steps อาทิ นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม นวัตกรรมเชิงบริหารจัดการ ในกลุ่มสถานศึกษาต้นแบบใน จ.กำแพงเพชร เช่น ภาชนะจากใบกล้วยไข่ , จ.เชียงราย เช่น ไอศกรีมไม่ง้อตู้เย็น, จ.เชียงใหม่ เช่น หนังสือพูดได้, จ.ตาก เช่น ฉนวนกันคามร้อน, จ.พิษณุโลก สิ่งประดิษฐ์จากวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.วิษณุกล่าวว่า นวัตกรรมครูและนักเรียนที่นำมาจัดแสดง สะท้อนชัดเจนว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันต้องเปลี่ยนจาก Passive learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ผู้สอนบรรยาย ผู้เรียนนั่งฟัง มาเป็น Active Learning ที่มุ่งการปฏิบัติ ตนจำได้ว่าตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พาคณะรัฐมนตรี ไปดูผลงานการจัดการศึกษาแบบ Active Learning ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ จะเห็นการเรียนนอกห้องเรียน เช่น วิชาเกษตร ได้เห็นนักเรียนออกมาเรียนปฏิบัติในแปลงเกษตร

“ซึ่งต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน” รองนายกฯวิษณุ กล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมกับผลงานนวัตกรรมครูและนวัตกรรมนักเรียนใน 30 โรงเรียนต้นแบบ 10 จังหวัดภาคเหนือ รวมประมาณ 1.5 พันนวัตกรรม ที่เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่ง ศธ.จะได้เร่งขยายผลไปทั่วทุกภูมิภาคโดยเร็ว

เพื่อเป็นโมเดลให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษา ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ซึ่งได้กำหนดให้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า การสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ก็มีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาครูแบบ Coaching ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯในครั้งนี้ ที่บรรลุผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบใน 10 จังหวัดภาคเหนือ รวม 30 โรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวประกาศนโยบายว่า ความท้าทายของ สพฐ.ที่มีมาตลอด คือการเปลี่ยนแปลงการสอนของครูเพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามที่สังคมคาดหวัง ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ สพฐ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ เพื่อเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้แบบ Passive Learning ไปเป็น Active Learning โดยให้นักเรียนได้มีขั้นตอนการเรียนรู้ที่พัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

จะเห็นได้ว่าการสร้างผลงานนวัตกรรมของนักเรียนในวันนี้ มีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่า 1,500 นวัตกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สมรรถนะสำคัญด้านต่างๆ ทั้งการคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ หากนักเรียนยิ่งใช้สมรรถนะก็ยิ่งเกิดการพัฒนา เรียกได้ว่ามีศักยภาพสูงขึ้น

ในส่วนของคุณครูเอง ก็ได้ลงมือเปลี่ยนแปลงการสอนด้วยกลวิธีที่น่าสนใจต่างๆ เป็นการพัฒนานวัตกรรมการสอน โดยยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปัจจุบัน

“ดังนั้น ดร.วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. เร่งขับเคลื่อนขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มขยายผลได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เป็นการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ยกระดับศักยภาพนักเรียนให้เป็นนวัตกร ตามยุทธศาสตร์ชาติและความคาดหวังของสังคม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า รูปแบบ Active Learning เป็นการเรียนวิธีเรียนของนักเรียน สามารถนำไปเรียนรู้ได้ตลอดเวลา จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ในการนำไปใช้พัฒนาการทำงาน หรือยกระดับการประกอบอาชีพ ซึ่งถือว่า Active Learning เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ก้าวล้ำไปไกลมากๆ แล้ว จนเกิดการสร้างผลผลิตที่เป็นนวัตกรรม แม้ว่าจะใช้หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)