กางร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ 'สคคท.vsกฤษฎีกา' แก้ไขประเด็นเห็นต่าง

ก่อนหน้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 จะมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้แก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ (มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) ใน 3 ประเด็น คือ

กำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในบันทึกหลักการและเหตุผล และมาตรา 33, แก้ไขคำว่า "ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" เช่นเดิม และแก้ไขคำว่า "หัวหน้าสถานศึกษา" เป็น "ผู้บริหารสถานศึกษา" และ "ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา" เป็น "ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา"

โดย ครม.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับปรุงแก้ไข และเสนอกลับมายัง ครม.เพื่อพิจารณา ก่อนส่งต่อร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไปนั้น

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับข้อความชี้แจงเพื่อเผยแพร่จาก ตัวแทนกลุ่มสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สคคท. เกี่ยวกับบทบาทการขับเคลื่อนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในเวทีร่วมพิจารณาบูรณาการร่าง พ.ร.บ.ฉบับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กับฉบับภาคประชาชนที่เสนอโดย สคคท. ในการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งเป็นประธาน

โดยตัวแทน สคคท.ได้รับเชิญเข้าร่วมจำนวน 5 คน คือ ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชา ., ดร.นิวัตร นาคะเวช, นายประชัน จันระวังยศ, นายกมลเทพ จันทรจิต และ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง

ต่อมากฤษฎีกาอนุญาตเชิญทีมงานภาคประชาชนเพิ่มเติม ได้แก่ นายสิริภพ เพ็ชรเกตุ ตัวแทนองค์กรครู, นายเรือน สิงห์โสภา ตัวแทนองค์กรครู และบางวันประชุมมีสมาชิกเพิ่ม คือ นายปรีชา จิตรสิงห์, นายธนชน มุทาพร, นายอาวุธ ทองบุ, นายไกรทอง กล้าแข็ง

ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มสมัชชา สคคท. ได้ชี้แจงถึงบทบาทตัวแทนภาคประชาชน/สคคท.ในการเข้าไปร่วมพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ไม่ไช่การไปยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่เป็นการนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับประชาชน เข้าไปร่วมประกบพิจารณา ไม่เช่นนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษก็จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ กอปศ.ฝ่ายเดียว

ตัวแทนกลุ่มสมัชชา สคคท. ยืนยันว่า เมื่อ สคคท.มีโอกาสเข้าร่วมพิจารณา จึงพยายามช่วยกันเสนอแก้ไขในประเด็นที่เห็นต่าง และได้รับการแก้ไขในหลายประเด็น เช่น

การส่งเสริมคนดีมีคุณภาพให้มาเป็นครู ยกย่องเกียรติครู ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบครู ส่งเสริมให้ครูได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ ค่าตอบแทนที่เพียงพอ, การส่งเสริมศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ความเสมอภาคของสถานศึกษา  การกระจายอำนาจลงสู่สถานศึกษา สนับสนุนด้านงบประมาณลงสู่สถานศึกษาอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เป็นต้น (ดังในร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นตัวอักษรสีแดง)

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)