จี้'ตรีนุช'ตีปี๊บบริการช่วยครูฯกลุ่มเสี่ยง-ติดโควิด-19 ชี้ช่อง! ร.ร.รัฐคืนค่าเทอม

 

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการให้มีมาตรการความปลอดภัยในการรับมือสถานการณ์ COVID-19 ของครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.

โดยจัดให้มีการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อ COVID-19 แบบเร่งด่วน จัดเตรียมที่พักคอยสำหรับดูแลช่วยเหลือบุคลากรที่ติดเชื้อ COVID-19 และครอบครัว เพื่อกักตัวดูอาการตามมาตรการ Home Isolation พร้อมช่วยดูแลเรื่องอาหารและการรักษาในเบื้องต้น โดยจะมีสถานที่นำร่องคือ หอพัก สกสค., สถาบันพัฒนาครูวัดไร่ขิง, สำนักงานพัฒนาสมรรถนะครูฯอาชีวศึกษา รามอินทรา และจะจัดส่งถึงมือแพทย์ โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถประสานมาได้ที่ ศบค.ศธ.นั้น      

ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ส.ค.) ขอขอบพระคุณรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นอย่างยิ่งที่กรุณาใส่ใจห่วงใยผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำองค์กรที่มีภาวะผู้นำและมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ตนขอเสนอแนะเพิ่มเติมต่อ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังนี้ ​๑.แจ้งให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทราบถึงแนวทางและวิธีการที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาพึงต้องปฏิบัติ หากมีความจำเป็นต้องรับบริการการตรวจค้นหา การรับบริการสถานที่พักคอยและการเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการเผยแพร่แนวทางตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะกรุณาให้บริการช่วยเหลือ​​​​​​​​

๒.ขอความอนุเคราะห์แจ้งวิธีการคืนเงินค่าเทอมหรือเงินบำรุงการศึกษาให้ผู้ปกครองนักเรียน เนื่องจากขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งที่ได้เรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา และได้นำส่งลงรับเข้าสู่ระบบราชการเป็นเงินรายได้สถานศึกษา

โดยหลายโรงเรียนมีความประสงค์จะคืนเงินบำรุงการศึกษาบางส่วนให้กับผู้ปกครองนักเรียน แต่ยังไม่ทราบแนวทางปฏิบัติว่า จะต้องทำอย่างไร คืนให้ได้หรือไม่ 

๓.ขอความอนุเคราะห์ดำเนินการให้ครูทุกรายได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19 โดยเร็ว เนื่องจากหากครูติดเชื้อ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและระบบการจัดการเรียนการสอนทั้งประเทศ 

๔.ขอความอนุเคราะห์ปรับลดเวลาเรียนออนไลน์ ให้เป็นแนวทางเดียวกันทุกโรงเรียน เนื่องจากการที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ทุกวันทุกวิชา ส่งผลต่อสุขภาพสายตาและสุขภาพจิตของนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง

๕.กำหนดแนวทางการพัฒนานักเรียนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา เป็นกรณีพิเศษ โดยผลิตและจัดหาสื่อที่เหมาะสม

​๖.แก้ไขปรับปรุงหลักสูตรและแก้ไขเกณฑ์การจบหลักสูตรของนักเรียนในทุกระดับโดยอาจปรับลดหน่วยการเรียนรู้สำหรับวิชาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องลดเวลาเรียนเพื่อถนอมสุขภาพของนักเรียน​​​​​​​​​​​

๗.ประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯเพื่อปรับปรุงเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรและเกณฑ์การจบหลักสูตรที่มีการแก้ไข

​​​​“ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ส.ค.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะกรุณารับข้อเสนอแนะดังกล่าวไว้พิจารณา” นายรัชชัยย์ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)