เครือข่ายครูฯถก‘กฤษฎี’ ยืนยัน 5 ประเด็นบัญญัติใน กม.การศึกษาชาติ (ชมคลิป)

เครือข่ายครูฯถก กฤษฎี ยืนยัน 5 ประเด็นสำคัญบัญญัติใน กม.การศึกษาชาติ คงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การบริหารแบบธรรมาภิบาล ตั้งกองทุน'ครูแห่งแผ่นดิน-เทคโนโลยีทางการศึกษา'

คณะตัวแทนสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน นำโดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกรทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เพื่อติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะการไปยืนยันข้อเสนอประเด็นความต้องการสำคัญ 5 ประการ ที่จะให้บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎี มาเป็นประธานในที่ประชุมครั้งนี้ ซึ่งนายมีชัย และคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบรับที่จะนำความคิดเห็นของคณะตัวแทนสมัชชา สคคท. และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก่อนนำกลับไปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมัชชา สคคท. และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน นำโดยนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายชินวรณ์ ได้เข้าพบและร่วมหารือเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมการศึกษาของรัฐบาล

พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นความต้องการสำคัญ 5 ประการดังกล่าว ที่จะให้บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้แก่ 1.เรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาในอนาคต 2.เรื่องเอกภาพในการบริหารจัดการศึกษา ไม่ซ้ำซ้อนในการบริหาร และต้องมีธรรมาภิบาล 3.เรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องเน้นเรื่องระบบคุณธรรม

4.เรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงสู่สถานศึกษา การให้คงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 5.เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา โดยให้มีกองทุนครูแห่งแผ่นดิน และกองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษา

ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลด้านการศึกษา) ได้ให้แนวทางว่า ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ตัวแทนภาคประชาชนคือ สคคท.และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ได้เข้าไปร่วมประชุมพิจารณาด้วย

เพื่อการบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งเป็นร่างฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน) และฉบับของ สคคท. (ซึ่ง ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชา สคคท. ได้นำเสนอผ่านประธานรัฐสภา) เข้าด้วยกัน

ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.ได้นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับกระทรวงศึกษาธิการ และฉบับ สคคท.เข้าพิจารณาและได้มีมติเห็นชอบ และมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับนี้ไปบูรณาการเข้าด้วยกัน

แล้วส่งกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อให้มีการพิจารณาร่วมสองสภาต่อไป

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)