ศธ.แถลงเปิดเทอม 2 ร.ร.สพฐ.มั่นหน้ากว่าหมื่นขอ On-Site ขณะที่อาชีวะยึด Online

รมว.ศธ.นำทีมแถลงเปิดเทอม 2 โรงเรียน สพฐ.มั่นหน้ากว่าหมื่นแห่งขอ On-Site ขณะที่วิทยาลัยอาชีวะยึด Online ปิดเทอมพร้อมกัน 1 เม.ย.65 เผย "ครู-ผู้ปกครอง"ตั้งข้อสังเกตไร้แจงอุดรูโหว่ปัญหาที่เคยเกิดช่วง 2 ภาคเรียน ถามหางบฯครม.ที่ให้จัดหาสื่ออุปกรณ์ช่วย น.ร.-น.ศ.เรียนออนไลน์อยู่ไหน?

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ศธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าว “ความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564”

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ศธ.ได้ออกประกาศวันที่ 28 ตุลาคม 2546 เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไป โดยมีสาระสำคัญ 5 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox Safety Zone in School รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ On-Site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ส่วนที่ 2 เงื่อนไขข้อกำหนด ของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ)

ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

ส่วนที่ 4 มาตรการตามแผนเผชิญเหตุ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของสถานศึกษา และ ส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

ซึ่งในการเปิดเรียนแบบ On-Site ที่โรงเรียน สถานศึกษาจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง, ครูและบุคลากรในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่นๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป

ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด แต่ ศธ.ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองเอง

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังสำรวจการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 โรงเรียนต่างๆ จะใช้รูปแบบใด พบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ On-Site 100% หรือ On-Site ส่วนใหญ่ รวมกว่า 10,000 โรงเรียน มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังไม่ให้เปิดแบบ On-Site ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ แต่ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 แทน แต่จะปิดเทอม 2/2564 พร้อมกันในวันที่ 1 เมษายน 2565

ส่วนสถานศึกษาอาชีวะในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสิ้น 869 แห่ง ตอบแบบสอบถามมา 832 แห่ง โดยส่วนใหญ่ 531 แห่ง ขอใช้รูปแบบผสมผสานคือมีทั้ง On-Site และ Online รองลงมา 192 แห่ง ขอใช้รูปแบบ Online 100% และจำนวน 109 แห่งขอใช้ On-Site 100%

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ในระหว่างภาคการศึกษา โรงเรียนหรือสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งรูปแบบ On-Site หรือ Online หรือแบบผสมผสาน (Hybrid), นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด, มีการสุ่มตรวจ ATK คัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง, ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น

ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน และจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือพื้นที่แยกกักชั่วคราว

รวมไปถึงมีแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นในกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษาติดเชื้อโควิด-19 หรือผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง

ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่างๆ จะมีการปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และตามมาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด

โดยขณะนี้มี 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย 1.Distancing เว้นระยะห่าง 2.Mask wearing สวมหน้ากาก 3.Hand washing ล้างมือ 4.Testing คัดกรองวัดไข้ 5.Reducing ลดการแออัด 6.Cleaning ทำความสะอาด และอีก 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น ได้แก่ 1.Self-care ดูแลตนเอง 2.Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3.Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4.Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5.Check สำรวจตรวจสอบ และ 6.Quarantine กักกันตัวเอง

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวถึงการจัดสรรและการรับการฉีดวัคซีนของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ภาพรวมจำนวนนักเรียนที่ฉีดวัคซีนรายภาค ข้อมูล ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป (ป.6/ม.1, นักศึกษา ปวช.1-3, ปวส.1-2) ประสงค์ฉีด 3,817,727 คน ฉีดไปแล้ว 2,544,267 คน คิดเป็นร้อยละ 66.64

ส่วนบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 782,010 คน เข็ม2 522,133 คน ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 112,377 คน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวพ้องกันว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี ขณะนี้มีการแจ้งเข้ารับการฉีดรวมประมาณ 4.3 ล้านคน โดย สธ.ได้ทยอยจัดสรรวัคซีนลงพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมแล้วกว่า 6 ล้านโดส

ส่วนเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนวัคซีนไฟเซอร์ที่ผู้ปกครองเป็นกังวล โดยเฉพาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อย และรักษาหายได้ เด็กสมควรต้องได้รับวัคซีน เพียงแต่ให้มีความระมัดระวัง หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ควรพักร่างกาย งดออกกำลังกายประมาณ 7 วัน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย

"สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 3-11 ปี ยังไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน แต่ล่าสุดหลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนในเด็กประถมบ้างแล้ว อีกทั้งตอนนี้หลายบริษัทกำลังผลิตวัคซีนที่ฉีดในเด็กมากขึ้น ซึ่ง สธ.ได้เร่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้องมาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดในเด็กเล็ก หากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาต ก็จะมีการพิจารณาฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กต่อไป"

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดดจนนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนหนึ่งว่า การแถลงข่าวความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ.ในวันนี้ ไม่มีรายละเอียดการชี้แจงถึงการอุดรูรั้ว ช่องว่าง ช่องโหว่ที่เป็นปัญหาการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2 ภาคเรียนที่ผ่านมา (เทอม 2/2563 และเทอม 1/2564)

เช่น ชี้แจงรายละเอียดกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้อนุมัติตามที่ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ. ของบประมาณจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษา เพื่อใช้จัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะสมกับวัย ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์

ซึ่งมีปรากฏอยู่ในมาตรการที่ 3 เพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนอนุบาล-ป.3 รวมทั้ง น.ส.ตรีนุช ตรีทอง รมว.ศธ. บอกว่า จะจัดเช่าอุปกรณ์ (Devices) พร้อมสัญญาณ จํานวน 200,000 ชุด สําหรับให้นักเรียน/นักศึกษากลุ่ม ป.4-ม.และอาชีวศึกษาใช้ยืมเรียน รองรับการเรียนแบบออนไลน์

หรือปัญหาที่ยังรอคอยการแก้ไขจากหน่วยงานใน ศธ. กรณีความเหลื่อมล้ำมากมาย โดยเฉพาะการเรียนในรูปแบบ online ที่มีเด็กๆ จำนวนไม่น้อย ไม่มีพี่เลี้ยง อยู่แต่กับปู่ ย่า ตา ยาย และไม่มีอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน จนประสบปัญหาแทบไม่ได้เรียน เป็นต้น

ซึ่งมีคำถามจากสังคมมาโดยตลอดว่า เวลานี้หน่วยงานใน ศธ.ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าวไปถึงไหนแล้ว?

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)