ศธ.ยุคอึนมึน!ครูอุทาน"เห้ย" ให้ ร.ร. on site แต่บุคลากรหมุนทำงานร้อยละ 30

 

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในปัจจุบัน กำลังตกเป็นจำเลยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายเดือนนี้ ในทำนอง “ศธ.ยุคอึนมึน” สำหรับการดำเนินงานในหลายๆ เรื่องสำคัญของ ศธ. ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ชื่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

อาทิ นับแต่การกดปุ่มประกาศเดินหน้าโครงการวิจัยและนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 (ประถมต้น) ภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด อันได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ทั้งๆ ที่ถูกผู้คนในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษา ทักท้วงให้ชะลอมาตลอด 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสี่ยงที่ทั้งนักเรียน ครูและบุคลากรในโรงเรียนนำร่องจะติดเชื้อกลายเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่

แต่ ศธ.ก็ยังทำมึนเดินหน้าต่อไป โดยไม่มีใครที่เกี่ยวข้องกับโครงการนำร่องนี้กล้าที่จะออกหน้าแสดงความรับผิดชอบแม้แต่คนเดียว หากเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ขึ้นจริง จนผู้คนในแวดวงการศึกษาจำนวนไม่น้อยลงความเห็นตั้งข้อสังเกตในทำนองว่า เป็นความเร่งรีบเกินกว่าเหตุหรือไม่? มีผลประโยชน์อะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

ความอึนมึนเรื่องต่อมา เป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์สืบเนื่องจากกรณีที่นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ได้ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา (ฉบับล่าสุด) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2564

โดยหลักเกณฑ์หนึ่งที่ถูกท้วงติงคัดค้านจากองค์กรครูในภาคต่างๆ เพราะเป็นห่วงโรงเรียนที่เปิดเทอม 2 แบบ on site จะเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 โดยใช่เหตุ? คือ การกำหนดเงื่อนไขการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 ของสถานศึกษาที่ต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ on site จำแนกตามเขตพื้นที่แพร่ระบาด โดยแบ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว ไม่ต้องตรวจคัดกรอง , ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสีเหลือง พื้นที่ควบคุมสีส้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม กำหนดไว้เพียงให้มีการสุ่มตรวจเป็นระยะๆ เท่านั้น

ซึ่งทางประธานสมาพันธ์ครูชี้ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวของ ศธ.ทำให้โรงเรียนตาบอด เสี่ยงเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 ระลอกใหม่ เช่นที่นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) และ นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวพ้องกันว่า เพื่อนผู้บริหารโรงเรียนและครู รวมทั้งตน ต่างเห็นควรว่า ก่อนเปิดโรงเรียนแบบ on site ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ต้องมีการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาทุกคน ไม่ใช่ไม่ตรวจ หรือสุ่มตรวจเท่านั้น และในระยะต่อๆ ไปจึงค่อยสุ่มตรวจ

เพราะไม่เช่นนั้นโรงเรียนก็จะเหมือนตาบอด เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อของนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาเลย ประกอบกับทุกวันนี้ ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในแทบทุกจังหวัด ไม่รู้ว่าวันไหนจะเข้ามาอยู่ในโรงเรียน เพราะเชื้อโรคเรามองไม่เห็น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “ศธ.ยุคอึนมึน” ต่อเนื่องเข้ามาอีก ดั่งสุภาษิต “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” เมื่อนายสุภัทร ปลัด ศธ. ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ

“โดยกำหนดในพื้นที่สีแดงเข้ม กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้บุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงาน วันละ 30% พื้นที่อื่นๆ ให้บุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงาน ตามความเหมาะสม มีผลตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป”

ซึ่งถูกท้วงติงในโซเชียลสังคมการศึกษาในทันที อาทิ Jaturong "เห้ย ท่านครับ ด้วยความเคารพ แล้วจะเปิดออนไซต์ตามนโยบายรัฐมนตรียังไง ให้มาทำงานแค่ 30% ไม่เคลียกันข้างบนก่อนหรือครับ ฝ่ายปฏิบัติข้างล่างสับสน ครู 10 คนให้มาสอน 3 คน รึ?" , Natthawat "ใช่ครับ ในเมื่อให้ ร.ร.เปิดมาเรียนที่โรงเรียนได้ ก็ต้องมาทำงานเต็มรูปแบบสิครับ จะหมุนเวียนมาทำงานทำไม" , Natthawat “โรงเรียนให้เปิดได้ แล้วทำไมบุคลากรต้องหมุนเวียนด้วย ในเมื่อให้ ร.ร.เปิดครับ”

Lee “กทม.และปริมณฑล ให้หน่วยงานราชการมาทำงาน 30% แต่ให้ ร.ร.เปิด on site ได้ ถ้า ร.ร.เปิดได้ หน่วยงานราชการควรเปิด 100% เหมือนกันนะ เอาดีดี มาทำงานกันได้แล้วเถอะ ภาษีประชาชนนะ” , เจ้า นาย “อยากให้เลื่อนเปิดเทอมไปก่อน เรียนออนไลน์ดีกว่าเรียนที่โรงเรียน” , 松井 マチート"ได้อ่านคอมเม้นท์บ้างมั้ยครับ ดูสถานการณ์ตอนนี้ด้วย ยังจะเปิดอีก" ฯลฯ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)