ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหารฯจี้"ตรีนุช"แก้ ร.ร.มัธยมฯขาดครู ใช้สูตรคำนวณปี'45

 

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ยกเลิกเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังข้าราชการครูตามเกณฑ์เดิม แล้วให้มีการกำหนดเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังใหม่ ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเกณฑ์ที่กำหนดใหม่นี้จะทำให้อัตรากำลังครูควรมีของโรงเรียนมัธยมศึกษาลดลงอย่างมาก โรงเรียนที่มีครูพอดีเกณฑ์กลายเป็นโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ โรงเรียนที่ครูควรมีต่ำจากเกณฑ์กลายเป็นโรงเรียนที่มีครูพอดีเกณฑ์

โดยเฉพาะเมื่อสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษบางโรงเรียนมีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการและไม่ได้อัตรากำลังคืนร่วม ๓๐ อัตรา ทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งในภาพรวมโรงเรียนมัธยมศึกษาเกือบทุกโรงเรียนมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับจำนวนห้องเรียน ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว

นายรัชชัยย์กล่าวต่อว่า หลักในการคำนวณอัตรากำลังของโรงเรียนประถมศึกษากับโรงเรียนมัธยมศึกษาควรเป็นหลักคิดที่แยกจากกัน เพราะสภาพของวิชาที่สอนแตกต่างจากกัน เช่นในจำนวนนักเรียนที่เท่ากัน วิชาวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาอาจใช้อัตรากำลังครูวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไปเพียงคนเดียว แต่ในระดับมัธยมศึกษาต้องใช้อัตรากำลังครู ทั้งครูวิชาเอกฟิสิกส์ ครูวิชาเอกเคมี ครูวิชาเอกชีววิทยา และครูวิชาเอกวิทย์ทั่วไป

หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับการงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษาอาจใช้อัตรากำลังครูเพียงคนเดียว แต่ในระดับมัธยมศึกษาต้องใช้อัตรากำลังครูวิชาเอกศิลปศึกษา วิชาเอกอุตสาหกรรม  วิชาเอกคหกรรม ฯลฯ

หลักในการคิดคำนวณอัตรากำลังที่ใช้ในปี พ.ศ.2545 นั้น เหมาะสมแล้ว เพราะคิดคำนวณจากจำนวนห้องเรียนคูณด้วยจำนวนนักเรียน : ห้องเรียน (40:1) หารด้วยจำนวนครู : นักเรียน (1:20) ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เป็นไปตามสภาพจริงของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษา และจะผกผันไปกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง และยังผกผันไปตามสภาพวิชา

เฉพาะอย่างยิ่งระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องมีครูหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องใช้อัตรากำลังครูมากขึ้น แต่ก็เป็นไปตามหลักสากล และยังเป็นไปตามปรัชญาการจัดการศึกษาที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนในวิชาที่ตนเองถนัด และสนใจ

"การเพิ่มอัตรากำลังครูโดยใช้วิธีการสร้างสูตรการคำนวณขึ้นใหม่ อันเป็นการดึงเอาอัตรากำลังครูในระดับมัธยมศึกษาไปเป็นอัตรากำลังครูของโรงเรียนประถมศึกษา จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาแน่นอน"

นายรัชชัยย์กล่าวถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงในเรื่องอัตรากำลังครูที่ขาดแคลนว่า เกิดจากที่ผ่านมา ศธ.ไม่ได้คิดว่านักเรียนคือคนสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา จึงได้ตัดโอนเอาอัตรากำลังครูที่ควรให้ไปสอนหนังสือไปเป็นอัตรากำลังให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนหลายพันอัตรา จึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียน

อาจเปรียบเทียบได้ว่า หากกระทรวงสาธารณสุขตัดโอนอัตรากำลังของแพทย์และพยาบาลที่ควรต้องเป็นอัตรากำลังของโรงพยาบาล เพื่อดูแลรักษาคนไข้ ไปเป็นอัตรากำลังประจำอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือไปเป็นอัตรากำลังของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็คงจะปั่นป่วนวุ่นวายกันทั้งประเทศ คุณภาพชีวิตของประชาชนจะตกต่ำเหมือนกับคุณภาพการศึกษาไทยที่ตกต่ำลงมากในขณะนี้

“จึงขอเรียกร้อง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทบทวนแก้ปัญหาเรื่องอัตรากำลังครูโรงเรียนมัธธยมศึกษาที่ขาดแคลนดังกล่าว ซึ่ง น.ส.ตรีนุชก็เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพราะโรงเรียนมีอัตรากำลังครูที่เพียงพอ” นายรัชชัยย์ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)