'กลุ่มครูขอสอน'พึ่ง ส.ส.แก้ระเบียบเวรรักษาการณ์ของครู หลังร้อง ศธ. 3 ด.เงียบ

“กลุ่มครูขอสอน” หันพึ่งสภาผู้แทนฯช่วยผลักดันแก้ระเบียบเวรรักษาการณ์ของครู หลังเจอปัญหาเพียบ ร้อง ศธ.มานาน 3 เดือนแล้ว แต่ยังเงียบ!

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า ตัวแทน “กลุ่มครูขอสอน” ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาการอยู่เวรรักษาการณ์ของครูต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ “กลุ่มครูขอสอน” ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องพร้อมรายละเอียดความคิดเห็นและรายชื่อสนับสนุน ต่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการพิจารณามาตรการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔

และ น.ส.ตรีนุชได้ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณารายงานและแจ้งผู้ร้องรับทราบต่อไป แต่ระยะเวลาผ่านมา 3 เดือนแล้ว “กลุ่มครูขอสอน” ยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลความคืบหน้าใดๆ จาก สพฐ.และกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด

ดังนั้น “กลุ่มครูขอสอน” จึงได้มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายนพคุณรัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา เป็นผู้รับมอบ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้มีการพิจารณาผลักดันให้เกิดมาตรการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ “กลุ่มครูขอสอน” ได้มีโอกาสชี้แจงประเด็นปัญหาต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยในเบื้องต้นคณะกรรมาธิการต่างเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมาตรการและแก้ไขระเบียบเรื่องดังกล่าวเพื่อสอดคล้องกับสภาวการณ์

โดยมีเหตุผลประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องดังนี้

๑.การอยู่เวรรักษาการณ์กลางคืน ในการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับระเบียบ ครูสตรียังต้องอยู่เวรกลางคืน แม้ว่าระเบียบห้าม เพราะบุคลากรไม่เพียงพอ ส่งผลต่อปัญหาด้านความปลอดภัย

๒.ครูข้ามเพศ ยังถูกเลือกปฏิบัติ และต้องมาอยู่เวรยามกลางคืน เช่นเดียวกับครูชาย มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ

๓.ครูชายที่มีจำนวนน้อยต้องแบกรับภาระ สถานศึกษาขนาดเล็กครูจะต้องอยู่โรงเรียนตลอดเกือบทุกวัน ไม่มีเวลาอยู่กับครอบตัว หรือได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองและใช้ชีวิตส่วนตัว

๔.โรงเรียนจำนวนมากมีบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนดูแล โดยตามระเบียบให้ดุลยพินิจในการยกเว้นข้าราชการไม่ต้องมาอยู่เวร แต่ยังคงออกคำสั่งให้ครูมาอยู่เกินเหตุความจำเป็น

๕.โรงเรียนผลักภาระความรับผิดชอบในทรัพย์สินให้กับครู ครูจำนวนมากแม้ว่ามาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง แต่เมื่อเกิดความเสียหาย ยังมีกรณีที่โรงเรียนปกปิดความเสียหาย และให้ครูเวรรับผิดชอบโดยหักเงินเดือนชดใช้ ทั้งที่ศาลเคยมีคำพิพากษาให้ครูไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง กรณีเกิดความเสียหายต่อราชการ และเป็นการพ้นวิสัยในการป้องกันเหตุนั้น

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ทาง “กลุ่มครูขอสอน” จึงเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้ต้นสังกัดสำรวจสภาพการจัดการเวรรักษาการณ์ของสถานศึกษา และการจัดสรรงบประมาณด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับสถานศึกษาอย่างเพียงพอ 

เพื่อที่ครูจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะให้ครูได้มีเวลาทำหน้าที่สอนและพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)