องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎร-เจ้าหน้าที่พร้อมติดตามงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯบ้านปางขอน

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 302 ถุง และเสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก จำนวน 803 ตัว ไปมอบแก่ผู้แทนราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้

        

        โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะ ติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับพบปะพูดคุยถึงการประกอบอาชีพ ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้โครงการฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนโดย ป่าให้ประโยชน์กับคน และคนปกป้องป่ามาสู่การปฏิบัติในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่กับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อให้คนอาศัยอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน และยั่งยืนตลอดไป

ปัจจุบัน ได้ฟื้นฟูสภาพป่าและปรับปรุงระบบนิเวศให้กลับคืนความสมบูรณ์ จำนวน 6,644  ไร่ ส่งเสริมให้ราษฎรทำการเกษตรกรรมแบบอนุรักษ์ดินและน้ำในระบบ Agroforestry จากพื้นที่ทำกินเดิม 2,500 ไร่  จากการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าใต้ร่มไม้ใหญ่  เช่น ท้อ บ๊วย แมคคาเดเมียนัท ซึ่งนอกจากจะเป็นร่มเงายังสร้างความสมดุลของระบบนิเวศในแปลงปลูกกาแฟ และทำให้มีสภาพป่าครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 80% ของพื้นที่อีกด้วย ปัจจุบันกาแฟอาราบิก้าของบ้านปางขอน เป็นที่รู้จักและต้องการของตลาด ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีรายได้เพียง 50,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 280,000 บาท

 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ เช่น การผลิตน้ำผึ้งจากดอกกาแฟ ชาจากดอกกาแฟสด การทำน้ำมันเหลืองตะไคร้ รวมถึงการทำคุกกี้จากผลผลิตชนิด ต่าง ๆ อีกด้วย จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาแหล่งน้ำ คุณภาพชีวิตของราษฎรและสภาพเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 สำหรับแผนการในการดำเนินงานระยะต่อไป คือการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมนำจุดเด่นของการผลิตกาแฟอาราบิก้า ต้นพญาเสือโคร่ง ความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ อากาศที่บริสุทธิ์ และวิถีชีวิตของชนเผ่าในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม เพื่อให้เกิดอาชีพเสริมงานบริการด้านต่าง ๆ นอกจากนี้จะขยายผลสำเร็จสู่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป