สพฐ.เดินหน้าพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน

 

"​ดร.เกศทิพย์" แจงละเอียด สพฐ.เดินหน้าพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน แต่บูรณาการ 'ตัวชี้วัด-ข้ามกลุ่มสาระ' กำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้ตามบริบทแต่ละ ร.ร. พร้อมเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning ชี้สอดรับทั้งนโยบาย รมว.ตรีนุช และเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) 

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ​ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้สั่งการให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพของผู้เรียน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

ซึ่งเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ให้ ศธ.ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน

โดยในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน สามารถดำเนินการได้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเป็นการจัดการเรียนรู้ด้วยการบูรณาการตัวชี้วัดและบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อกำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของนักเรียน และชุมชน โดยใช้การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสุขในการเรียน และสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ซึ่งที่ผ่านมามีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 90 ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านคาโต จ.ปัตตานี มีการนำตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้ในปัจจุบัน) มาบูรณาการ

โดยในช่วงเช้าจะจัดการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษามาลายู และภาษาอาหรับ ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ส่วนช่วงบ่ายเป็นการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และมีการบูรณการการเรียนรู้จากอาชีพของผู้ปกครอง

ซึ่งสถานศึกษาอื่นๆ แต่ละแห่ง สามารถดำเนินการออกแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาตนเอง ความต้องการของนักเรียนและชุมชนได้

ทั้งนี้ ในการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้โครงงานเป็นฐาน (PBL), GPAS 5 Steps, หลักสูตรอารยเกษตร, การใช้กระบวนการวิจัย, มอนเตสซอรีสำหรับระดับปฐมวัย, STEM Education, จิตศึกษา, การใช้แผนผังความคิด, การทดลองการศึกษาจากแหล่งการเรียนรู้ และการใช้เกมเป็นฐานและการใช้กิจกรรมเป็นฐาน เป็นต้น

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนของครู เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน สพฐ.ไม่ได้มีความกังวลแต่ประการใด เพราะแต่ละสถานศึกษาต่างมีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง ผนวกกับการจัดอบรมพัฒนาครูในการสอน Active Learning ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งมีการประสานงานกับนักวิชาการในพื้นที่ และมีการบูรณาการตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้ในปัจจุบัน) จึงทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ก็ให้ความสำคัญกับเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนนั่นเอง 

ดร.เกศทิพย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยมีการกำหนดสมรรถนะหลัก 6 สมรรถนะสำคัญ ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน ตลอดจนสมรรถนะเฉพาะ ซึ่งเป็นสมรรถนะประจำรายวิชา

ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการของการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยจะนำไปทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผ่านการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงพาทำหลักสูตรสถานศึกษา

"ไม่ว่าสถานศึกษาจะจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้ในปัจจุบัน หรือจะจัดการเรียนการสอนตาม (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ต่างยังคงให้ความสำคัญกับผลลัพธ์สุดท้าย คือ สมรรถนะผู้เรียน เช่นเดียวกัน" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

อนึ่ง ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ด้านการศึกษา (อยู่ในหน้า ๒๙๓-๓๒๓)

โดยในส่วนที่ ๑ บทนำ ระบุไว้ว่า “การปฏิรูปการศึกษา มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและ ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตาม มาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยมีขอบเขตครอบคลุม ทั้งการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑

การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพมาตรฐาน จัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาโดยใช้ระบบทวิภาคีหรือระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติ อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การจ้างงาน และการสร้างงาน และการปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ...”

สำหรับการอธิบายความในส่วนบทนำของแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ในเรื่อง “การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑” ดังกล่าว

ได้ระบุไว้ในหัวข้อส่วนที่ ๒ กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rockในหัวข้อย่อยที่ ๒.๒ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ (อยู่ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘) ดังนี้

การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๖๐ และยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตรของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากรในทุกช่วงวัย ที่จะต้องเผชิญ ความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่

จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่เรียนรู้ (Learning Skills) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิต (Life Skills) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรัก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

การมีครูอาจารย์ที่มีสมรรถนะ ด้านการจัดการเรียนรู้ที่ หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงานการจัดการเรียนรู้ การนิเทศการเรียนรู้ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางและจังหวะก้าวการเรียนรู้ของตนเอง (Personalized Learning) อย่างมีความหมาย

มีการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติอย่างแท้จริง ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียน และความพร้อมเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยจุดเน้นของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้แต่ละระดับ มีดังนี้

ระดับก่อนอนุบาล ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเด็กของผู้ปกครองและชุมชน เน้นการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ บ่มเพาะปลูกฝังวินัยและพัฒนาการที่ดีทั้งกาย ใจ และอารมณ์

ระดับอนุบาล มุ่งส่งเสริมสถานศึกษาจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์จิตใจ และสังคม บ่มเพาะปลูกฝังวินัย คุณธรรมและค่านิยมที่ดีด้วยความร่วมมือระหว่าง ผู้ปกครอง ชุมชน และสถานศึกษา พัฒนาการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ ลงมือปฏิบัติ (Enactive) ด้วย ประสบการณ์ตามมุมต่าง ๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของสมอง และจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้ เห็นแบบอย่างของพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

ระดับประถมศึกษา พัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลตามแนวทางพหุปัญญาให้หลากหลายตาม ศักยภาพ พัฒนาการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาหรือ โครงงานเป็นฐาน (Problem-based Learning & Project-based Learning) รวมถึงพัฒนาทักษะสำคัญในการเรียนรู้ อันได้แก่ ทักษะทางภาษา ทักษะการคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทักษะ การคิดสร้างสรรค์มีการวัดและการประเมินผลผู้เรียนที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่เป็นชิ้นงาน ผลผลิตเชิงประจักษ์ เสริมสร้างสมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ให้ผู้เรียนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สร้างงาน สร้างนวัตกรรม ที่สามารถพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นได้

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มุ่งต่อยอดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงระบบ ผู้เรียนสร้างความรู้ ระดับความคิดรวบยอด และระดับหลักการใช้ความรู้ผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์ เน้นทักษะพื้นฐาน ทางการเรียนรู้และการดำรงชีวิต คือ ทักษะความเป็นมนุษย์ ได้แก่ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสังเคราะห์ ทักษะการสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีและส่งเสริมทักษะเฉพาะทางด้านความรู้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคลตามความถนัด ความสนใจ ทั้งด้านวิชาการและพื้นฐานวิชาชีพ มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตจากการ เรียนรู้และต่อยอดนวัตกรรม คิดสร้างสรรค์ได้มีนิสัยปรับปรุงพัฒนางานอยู่เสมอ สร้างและผลิตผลงานใหม่ๆ เพื่อ ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และเชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มุ่งต่อยอดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง ผ่านการเรียนรู้แบบ ใช้ปัญหาหรือโครงงานเป็นฐาน ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมน้าไปใช้ ประโยชน์ในชีวิตจริง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และสังคม ต่อยอดพื้นฐาน ทางการเรียนรู้และการดำรงชีวิต คือ ทักษะความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าระดับสูง เน้นทักษะความเป็นผู้น้า รวมทั้งส่งเสริมทักษะเฉพาะทางด้านวิชาการและวิชาชีพและฝึกประสบการณ์อย่างเข้มข้นในด้านความรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความรู้จากปฏิบัติการเชิงวิจัยทั้งในสถานศึกษาและชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นนวัตกรรม ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และโครงการ ความร่วมมือปฏิบัติการวิจัยในระดับชุมชนเชื่อมโยงกับพหุวัฒนธรรม และบริบทของชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ

ระดับอาชีวศึกษา เน้นการลงมือปฏิบัติจริงให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ พลิกผันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อ สถานการณ์ตามบริบทของภูมิภาคและโลก ส่งเสริมทักษะเฉพาะทางด้านวิชาการและวิชาชีพ และฝึกประสบการณ์อย่างเข้มข้นในด้านความรู้ตามความถนัดความสนใจรายบุคคล และต่อยอดทักษะความเป็น มนุษย์ผ่านการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาหรือโครงงานเป็นฐาน ทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ ที่มุ่งสร้าง ความคิดรวบยอดด้านการคิด ด้านคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมขั้นสูง และปลูกฝังจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และมีความเป็นผู้นำ

การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มุ่งให้ประชาชนได้รับโอกาสการเรียนรู้สามารถนำหลักการมาใช้พลิกผันแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนา อาชีพ ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและเทคโนโลยี ให้ประชาชนทุกช่วงวัยเรียนรู้ได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต พัฒนาสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ทั้งนี้ ในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดเจนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดของกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ดังนี้

เป้าหมาย (๑) ผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ

(๒) ครู/อาจารย์มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย การออกแบบการ เรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อและการใช้สื่อ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการ เรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง มีความศรัทธาในวิชาชีพและความเป็นครู

(๓) ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงาน วิชาการ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ด้านหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง การนิเทศการจัดการเรียนรู้ มีภาวะ ผู้น้าทางวิชาการ มีจิตวิทยาในการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการจัดการเรียนรู้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการร่วมมือกับบุคคล หน่วยงานและชุมชนในการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับ ผู้เรียน

ตัวชี้วัด (๑) มีหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของผู้เรียนรายบุคคล

(๒) ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning ผ่านการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

(๓) ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแบบถักทอความรู้ ทักษะ และเจตคติค่านิยม และคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันแบบ Active Learning ในทุกระดับการศึกษา

(๔) ระบบการประเมินผลลัพธ์ผู้เรียนมีความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) และสามารถสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนได้ตามบริบทของสถานศึกษา ลดสัดส่วนของการนำผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในระดับชาติมาใช้ในการพิจารณาประเมินผลของครูและผู้บริหาร สถาบันการศึกษา

(๕) มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้อัจฉริยะ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการ เรียนรู้ สื่อการสอนคุณภาพสูง และการประเมินและพัฒนาผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย

ที่สำคัญในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังมีการระบุในหน้า ๓๐๗ ในหัวข้อที่ ๒.๒.๒ เรื่องหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) , กำหนดในหัวข้อ ๒.๒.๓ เรื่องระยะเวลาดำเนินการ รวม ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕) , ๒.๒.๔ ประมาณการวงเงินรวม และแหล่งที่มาของเงิน คืองบประมาณของหน่วยงาน

ตลอดจนในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดในหน้า ๓๐๗-๓๐๘ หัวข้อ ๒.๒.๕ ขั้นตอนและวิธีการการดำเนินการปฏิรูป ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ ปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ทุกระดับ ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่นำไปสู่สมรรถนะหลักที่จำเป็นในแต่ละระดับตามแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และการวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจำเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ด้วยการให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลเป็น วิเคราะห์สังเคราะห์ออกแบบ ตัดสินใจบนพื้นฐานคุณธรรมและค่านิยมเพื่อสังคม ประเทศชาติและนำความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน ตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาจนเกิดผลผลิตที่ดีกว่า มีคุณค่าต่อสังคม มากกว่าเดิม และกำกับการเรียนรู้ของตนเองในการตรวจสอบกลไกเชิงระบบของงานที่ท้าเพื่อเพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม และขยายประโยชน์สู่สังคมที่กว้างขึ้น

ด้วยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย และระดับอุดมศึกษาตลอดแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๒ พัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้ สามารถจัดและอำนวยกระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน และพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถกำกับดูแล ช่วยเหลือแนะนำ การโค้ชครูรวมถึงการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน

มีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๔)

ขั้นตอนที่ ๓ ปรับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล ให้มุ่งเน้นที่การประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง โดยพัฒนาวิธีการที่หลากหลายในการประเมินผู้เรียนที่เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของผู้เรียน

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ในการเสริมสร้างการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพผู้เรียน ทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านวิชาการ ทักษะ และการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดี

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๕ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป

มีระยะเวลาดำเนินการ ทุก ๓ เดือน

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)