หยิกแก้มหยอก อังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564

หยิกแก้มหยอก อังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564

...หยิกแก้มหยอก โดย สิงห์ ราชดำเนิน จับตาโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” พบคนติดเชื้อแล้วหลังจากกลับจากแอฟริกาใต้ ใครที่ลังเลหรือรอตัวที่ตัวเองอยากฉีด ให้รีบไปฉีดตัวไหนก็ได้ เป็นพื้นฐานป้องกันไว้ก่อน ศธ.เองก็อย่าวางใจนะ...ส่งท้ายเดือนพฤศจิกายน 2564 ไปที่ภาพใหญ่ล่าสุด จาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการฯ และ สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการ กสศ. โชว์ตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเมื่อ 14 พ.ค.64 พบนักเรียนที่รับทุนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 กว่า 200,000 คน ไร้ข้อมูลการเรียนต่อถึง 41,610 คน โอ...ใจหาย ๆ... แต่เมื่อเกาะติดตัวเลขนักเรียนที่ได้รับทุนในกลุ่มรอยต่อหายไป คือ อนุบาล 3 จำนวน 391 คน ชั้น ป.6 อีก 8,092 คน และชั้น ม.3 มีถึง 33,127 คน จึงเป็นคำถามว่า เด็กเหล่านี้ได้รับเงินจากกองทุนฯไปหรือยัง กสศ.จะเอายังไงต่อ เออคิดน้อยไปรึป่าว...

 

...มองดูแล้ว งานนี้คงไหลเข้าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็น อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นธุระสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และ บรรดา ผอ.ร.ร.ตั้งคณะทำงาน ปักหมุด เช็กอิน ติดตามค้นหาแกะรอยเด็กที่หายทุกคนให้พบ และสามารถนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเรียนต่อได้ถึง 14,953 คน ขอปรบมือให้ดัง ๆ...แม้จะไม่ได้ครบก็ถือว่าได้ใจไปเต็มร้อย แต่น่าจะมีการทบทวนในงานพีอาร์กับ กสศ.สักครั้ง ดีม่ะ ดูฟอร์มแล้ว สพฐ.ตกเป็นจำเลยร่ำไป...และเรื่องอย่างนี้ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แต่งตั้งให้ เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. คนดังเป็นโฆษก สพฐ.ในการให้ข่าว ชี้แจง เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสร้างความเข้าใจแล้วทั้งที คงต้องโชว์ฝีไม้ลายมือเชิงประชัน ให้ อาจารย์น้อง ได้เห็นเป็นประจักษ์ในความสามารถอีกด้าน จะเป็นไรไป หากจะขยับปรับใหม่ใหญ่กว่า ก็จะดูงาม...  

 

ตามมาด้วยการตีโป่งโยงไปถึงจำนวน "เด็กกลุ่มเสี่ยง" หรือ "เด็กกลุ่มล่องลอย" อีกกว่า 2 แสนคน ซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษาสังกัด กศน. ความห่วงใยเล็ก ๆ น้อย ๆ จาก สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. ทิ้งตัวเลขไว้ให้รัฐบาลและ ศธ.คิดอ่านสานต่อ ต้อนเข้าสู่รหัสความสำคัญ ค้นหา และดึงกลับสู่ระบบ  คิดลึก คิดกว้าง คิดไกลในเชิงคณิตศาสตร์ ที่เหนือชั้นจริง ๆ...ชงให้ถึงขนาดนี้แล้ว สุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. คนเคยเป็นลูกหม้อ สพฐ.จะปล่อยไปเฉย ๆ ได้ไง ในเมื่อปัจจุบัน กศน.มีผู้ที่เรียนถึง 843,502 คน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 64,966 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 319,575 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 453,159 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 5,802 คน เมื่อรวมเด็กกลุ่มล่องลอย อีกกว่า 2 แสนคน ไม่ยากที่จะขอเม็ดเงินจาก ครม.มาเพิ่ม หาทีมทำแผนเก่ง ๆ สักชุด พีอาร์ดี ๆ สักทีม ไปโลด ๆ ...

 

ปัญหาคุณภาพการโรงเรียนขนาดเล็ก อยู่ตรงไหน วนกลับไปที่ปัญหาเดิม ๆ แค่โฉบไปเห็น โรงเรียนเทพศิรินทร์ชลบุรี (อุทก อุปถัมภ์) เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียน 90 คน แต่มีครูแค่ 1 คน มีครูอัตราจ้าง 2 คน ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เห็นด้วยตาตนเองในวันลงพื้นที่  ถึงกับอุทานเป็นโจทย์ใหญ่ทำให้เห็นปัญหา คิดแค่ว่าคงต้องหารือกับคนในชุมชนสะกิดให้ลูกหลานตัวเองไปเรียนโรงเรียนอื่นได้ไหม ปัดธ่ชาวบ้านคงมีความสุขมากล่ะสิเค้อะ...คิดในมุมกลับได้ไหม แทนที่จะเอาเด็กกระจายออกไปจากหมู่บ้าน เริ่มจากหมุนครูโรงเรียนที่อยู่รอบ ๆ เข้ามาช่วยทำให้มีครูครบชั้นก่อนดีม่ะล่ะ อย่างน้อยชาวบ้านก็อุ่นใจว่า ศธ.ไม่ทิ้งเด็ก ไม่ด้อยค่าชุมชน  อีกทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฉลาดในการบริหาร จัดการแบบมีส่วนร่วม และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไปด้วย หาก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาจัดการไม่ได้ ลองถามคณะที่ปรึกษาดูสิ...จากสถิติโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย ปี 2562 พบว่ามีถึง 15,158 แห่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ในจำนวนนี้โรงเรียนขนาดเล็กราว 12,000 แห่ง มีครูน้อยกว่า 1 คนต่อระดับชั้น แสดงว่าครูไม่พอ ศธ.ก็รู้อยู่ และการยุบควบรวมเพื่อแก้ปัญหา มิใช่ทางออกที่แท้จริง...ว่ากันตามสภาพความจริง โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครูก็เป็นผลมาจากเกณฑ์ที่ใช้กำหนดสัดส่วนครูต่อจำนวนนักเรียน แถมยังได้รับงบประมาณน้อย เพราะรัฐให้งบโดยคิดจากรายหัวนักเรียน แถมยังมีต้นทุนในการจัดการเรียนการสอนต่อหัวสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ไดโนเสาร์ซอโรพอด ในเขตอำเภอภูเวียง ขอนแก่น ยืนยันได้

 

 

ขอแสดงความยินดีและฝาก ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สพฐ. ธีร์ ภวังคนันท์ และ พิเชฐ โพธิ์ภักดี ศึกษาธิการภาค 10 ที่ รมว.ศธ.นำเสนอ และ ครม.มีมติอนุมัติขยับไปนั่งในตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สป.ศธ. คงไม่ลืมทำหน้าที่เป็นหูเป็นตานำปัญหาความเดือดร้อนของผู้ปกครองและเด็กจาก ร.ร.ขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบ ควบ รวม มาดำเนินการแก้ไขต่อไป...มีร้องทุกข์จากโรงเรียนวัดแหลมปอ ตั้งอยู่ในบริเวณวัด ใกล้กับแม่น้ำสวี จ.ชุมพร มายังสำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EDUNEWSSIAM บอกว่า อาคารทุกหลังของ ร.ร.อายุเกิน 30 ปี อาคารปฐมวัย อายุ 83 ปี อาคารป 1 ก.อายุ 48 ปี และอาคาร 017 อายุ 33 ปี  เคยทำเรื่องขอย้ายสถานที่ตั้ง ร.ร.จากที่ธรณีสงฆ์ ไปยังที่ราชพัสดุที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ร.ร. จำนวน 24 ไร่ เนื่องจากเจอภาวะน้ำท่วมตลอดทุกปี กองแผน สพฐ.เคยลงไปเยี่ยมตรวจสภาพ ร.ร.เมื่อปลายปี 2560 แต่ทุกวันนี้ยัง เงียบจ้อย...

 

โยงเข้าวาระถึงเวลาประเมินผลงาน ธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค. กำลังเป็นที่จับตากันว่า จะได้ไปต่อหรือไม่ ท่ามกลางเสียงลืออื้ออึงทำนองว่า มี “ธง” จะสอยให้ร่วงจากเก้าอี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงส่งหนังสือคัดค้านเกณฑ์ประเมินต่อ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. อ้างมีตัวชี้วัดหลายตัวที่ ผิดปกติ และไม่เป็นธรรม...ตามด้วยการยืนยัน หากยังไม่แก้เกณฑ์ก็จะไม่เข้ารับการประเมินผลงาน และขอคัดค้านการตั้งคณะกรรมการประเมินชุดใหม่ ที่เปลี่ยนจำนวนคณะกรรมการจากมติเดิม 7 คน เหลือเพียง 5 คน และเปลี่ยนตัวกรรมการบางรายออก นำบุคคลใหม่เข้ามาแทน ดูเป็นเหตุไม่ปกติ และอาจมองได้ว่า มีการวางแนวทางไว้แล้ว ...

เจ้าตัวบอกว่า หากมีรายการ "ตุกติก" ในการประเมินผลงาน คงต้องไปเจอกันในชั้นศาล เล่นเอา บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ. ประธานคณะกรรมการประเมินฯชุดใหม่ คงคิดหนัก ดูแล้วไม่ใช่อาการเพ้อแน่นอน ในฐานะ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่เมื่อมีคนเอากระดูกมาแขวนคอ  (ฮา) ต้องว่ากันตามเนื้อผ้าแน่นอน...จึงไม่แปลกใจกับภาพแห่งความขัดแย้งระหว่าง ตรีนุช เทียนทอง กับ ธนพร สมศรี สะท้อนให้เห็นถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ผ่านมา เมื่อไม่ยึดกฎกติกาบ้านเมืองที่ดีและการทำงานที่เป็นระบบ เห็นประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกบริวาร ศธ.จึงเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ เห็นชัดจากระบบการสรรหา แต่งตั้ง บุคคลระดับสูง ใช้วิธีโยกย้าย ปรับ เปลี่ยน จน ศธ.ไม่อาจรักษาข้าราชการที่เป็นคนเก่งและคนดีไว้ได้...

 

อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนไปศึกษา กฎ ระเบียบของผู้ที่เข้ามานั่งในตำแหน่ง เลขาธิการ สกสค.ระบุชัดต้องมีการประเมินผลงานตามตัวชี้วัดที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ สกสค. และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลัง ธนพร สมศรี เข้าบริหารงานมาเป็นเวลากว่า 1 ปี หากไม่มีอะไรในกอไผ่ให้ สังคมเขาร้องยี้ ขยายบานปลายเกี่ยวพันไปถึงเรื่องอื่น ให้เปลืองตัวไปทำไม...แล้วใคร ๆในสังคมครูส่วนใหญ่ก็รู้กันอยู่แก่ใจว่า ที่มาที่ไปของการเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.ล่าสุดนั้น มีความเป็นมาลักษณะใด ดังนั้น การยอมรับเข้าสู่การประเมินผลงานของตน จึงเป็นวิถีทางที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นไปตามหลักการสากลแน่นอน ตามกติกา หากผ่านการประเมินย่อมเป็นเกียรติยศที่มีความสง่างามแก่ชีวิตโดยแท้  ย่อมดีกว่ามาตั้งแง่...เหมือนกลัว...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สกสค.ลือชื่อว่าเป็นองค์กรที่สังคมครูคาดหวังสูง ต้องมีผู้บริหารชนิดวางใจได้ทั้งความสัตย์ซื่อ ทั้งหน้าตาและพฤติกรรม คำพูด เข้ามาปกป้องดูแลเงินสวัสดิการครูและหนี้สินในโครงการเงิน ชพค. ที่มีการกู้ยืมจากธนาคารออมสินกว่า 4 แสนล้านบาท และยังมีผลประโยชน์จากการซื้อประกันชีวิตในการกู้ยืมเงินอีกเกือบ 500,000 คน คงไม่อยากได้ผู้บริหารมาสำแดงอาการกร่าง แบบติดนิสัยนักการเมืองมาใช้แน่นอน ...

 

สุดท้ายก่อนจบลากันวันนี้ “สิงห์ ราชดำเนิน” ขอจบลงด้วย เนื้อท่อนหนึ่งของเพลง “เย้ยฟ้าท้าดิน” เอามาฝากกัน ที่ว่า...อันสวรรค์อยู่ในอก นรกนั่นหรือ ข้าก็ถืออยู่ที่ใจ ไม่หม่นหมอง รักการทำชั่ว ควรหรือจะกลัวนรกมั่นปอง หากทำดี ฟ้าดินต้องคุ้มครองเอย...และขานรับการร้องคู่พร้อมชาย-หญิง...“ ...รักการทำชั่ว...ควรหรือจะกลัว นรกมั่นปอง หากทำดี ฟ้าดินต้อง คุ้มครองเอย...” ยืนยัน นั่งยันได้ว่า เพลงโอตตัปปะ บทเพลงเล่าของ วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ร้อยเรียงชีวิตลูกผู้ชายยากจน แต่ทระนง เมื่อรับราชการเป็นครู ก็เดินอยู่บนถนนทางดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นผู้มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปและความชั่ว เป็นคุณธรรมคุ้มครองโลก ให้น่าอยู่ ด้วยประการทั้งปวง ...ปิดท้ายด้วย คณะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง ล่าสุด เป็นชุดรุ่นใหญ่ลายครามในตำนาน เพื่อขับเคลื่อนงานในอำนาจหน้าที่ รมว.ศธ เริ่มจาก ไพบูลย์ เสียงก้อง อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดูแลกฎหมายการศึกษา ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยเรื่องการพัฒนาครูทั้งระบบ ว่าที่ร้อยเอก ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ดูแลแก้ปัญหาหนี้ครู และ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน ช่วยดูแลบริหารจัดการอาชีวศึกษา...แนะว่า น่าจะมีคณะที่ปรึกษาอิสระอีกสักชุด คอยทำหน้าที่สร้างความสมานฉันท์สร้างสุขในเชิงนโยบายที่อาจจะไปทับซ้อนกับระบบปกติทางราชการ จนเกิดความถดถอยเชิงรุกก็ได้...สวัสดี

สิงห์ ราชดำเนิน

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)