หยิกแก้มหยอก 28 พฤษภาคม 2565

 หยิกแก้มหยอก 28 พฤษภาคม 2565

...หยิกแก้มหยอก โดย “สิงห์ ราชดำเนิน” edunewssiam ส่งท้ายเดือน พฤษภาคม 2565 เปิดเรียน ตั้งแต่ 17 พ.ค.ผ่านมาถึง 2 สัปดาห์ ข่าวว่า นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ่อชง ศบค. พิจารณาพื้นที่นำร่องถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้งสีเขียวและสีฟ้า 31 จังหวัด แต่ไม่ใช่ว่าพื้นที่เขียวแล้วถอดหมด ยังกำหนดไม่ได้ว่าจะเริ่มเมื่อไร เพราะยังต้องพิจารณาก่อน ก็เผลอแอบลุ้นดีใจเงียบ ๆ แล้วกัน...หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัด "การศึกษา" อย่างมาก นักเรียนต้องห่างหายไปจากห้องเรียนกว่า 2 ปี เด็กกว่า 2 ล้านคน ต้องอยู่กับภาวะการเรียนรู้ถดถอย อีกทั้งเด็กกว่า 3.6 แสนคน ยังเสี่ยงอยู่ในภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้หรือแอลดี ล้วนเป็นงานใหญ่ที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.และคณะ ต้องเร่งแก้ไขและผลักดันควบคู่ไปกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเช่นกัน...

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจก็วนลูปเป็นปัญหาเข้าหาศธ.จนได้ เมื่อค่าอาหารกลางวันทางโรงเรียนได้เรียกร้องให้มีการปรับจาก 20 บาท เป็น 25 บาท แต่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้นำรัฐนาวา กรุณาให้ปรับ 5 % จาก 20 บาท เป็น 21 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถือว่าน้อยมาก วันนี้สินค้าทุกชนิดขึ้นราคา ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาแน่นอน รอดูฝีมือ “ครูเหน่ง” ตรีนุช จะช่วยเด็ก ๆ อย่างไร...กับข่าวเศร้ารับเปิดเทอมสะเทือนแวดวงการศึกษา กรณีการจบชีวิตของเด็กหญิงอายุ 14 ปี นักเรียนชั้นม.ต้น โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง ตัดสินใจผูกคอเสียชีวิตภายในบ้าน ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ผ่านมาถึงวันนี้สังคมยังมีการพูดถึง เป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อมทางสังคม และระบบการศึกษาของไทย ผู้ใหญ่ต้องโอบอุ้ม มิใช่ผลักไส ยังไง ๆ ทุกส่วนที่ข้องเกี่ยวก็ต้องร่วมรับผิด ขอให้เข้าใจ จะโทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้... เป็นอีกหนึ่งในหลายบทเรียน ที่ถูกซุกไว้ใต้ลิ้นชักเขรอะฝุ่น ฟ้องถึงงานภาคปฏิบัติ ทั้งงานแนะแนว ครูที่ปรึกษา ครูและผู้บริหาร ไม่เว้นศึกษานิเทศก์ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องหันมาทบทวนบทบาทกันอย่างจริงจัง...เอาแค่ โรงเรียนประถม ป.4 ชื่อดัง ตั้งอยู่ในเมืองอุดร ปล่อยให้นักเรียนแขนหักผิดรูปนอนเจ็บปวดในห้องพยาบาลโรงเรียนเป็นชั่วโมง ๆ ครูโทรให้ผู้ปกครองมารับพาไปโรงพยาบาลเอง สาเหตุ บอกว่า อยู่ในช่วงเปลี่ยนประกันภัย เด็กไม่มีประกัน ครูบุคลากรไม่มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาล แต่ทำไมไม่โทรเรียกรถพยาบาล หรือกู้ภัยมารับไม่เกิน 5 นาที ฝากไปยังกระทรวงศึกษาธิการด้วยแล้วกัน...

...ไป ๆ มา ๆ ศธ.ก็วนเวียนอยู่กับเรื่อง “ทรงผม” ของเด็ก ปัญหาซ้ำซาก เมื่อเหตุเกิดที่โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม คลิปครู “กล้อนผมเด็ก” นักเรียนชั้น ม.2 นับสิบคน จนผมแหว่ง นี่ก็ทำเกินกว่าเหตุ กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ย้ำห้ามครูลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง และตัดผม ประจานไม่ได้...ล่าสุด คุณครูก็ต้องออกมาขอโทษเด็กนักเรียนและผู้ปกครองหน้าเสาธง นิพนธ์ ก้องเวหา ผช.เลขาธิการ กพฐ. ให้ย้ายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ คุณครู ผู้ปกครอง หรือนักเรียน พบเห็นการลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง โปรดติดต่อหรือแจ้งมาที่ระบบ MOE Safety Center 0-2126-6565...

...อย่างไรก็ดี เรื่องความประพฤตินักเรียนนั้น บิ๊กๆ ใน ศธ.ต้องระวังให้อยู่บนความพอดีระหว่างการมอบหมายให้ครูอบรมบ่มเพาะนักเรียน แต่ห้ามลงโทษ เพราะไม่เช่นนั้นจะะเกิดเหตุบานปลายขยายวงเช่นกรณีที่เริ่มปรากฏข่าว "เด็กนักเรียนตบตีกันในโรงเรียนอย่างไม่เกรงกลัวใคร"...

...เรื่องดี ๆ กันบ้าง หลังผู้ใช้งานแอคเคาต์ oatchura ได้โพสต์คลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก ภารโรงถือเอกสารตามหา ผอ.เชี่ยว ภักดีณรงค์ ผอ.โรงเรียนอ่างหนองแหนประชาสามัคคี สพป.นครราชสีมา เขต 1 ให้เซ็นเอกสาร เจอกำลังกวาดลานอยู่หลังโรงเรียน กลายเป็นความชื่นชมในโลกออนไลน์ ทราบว่ามีผอ.หลายคนทำแบบนี้มานานแล้ว  เพียงแต่ผู้ปกครอง ชุมชนกรรมการสถานศึกษา สังคม ไม่ได้รับรู้ชื่นชมแค่นั้นเอง...

...แต่คำถามยอดฮิตติดแทบทุกกลุ่มไลน์แฟนพันธ์แท้ edunewssiam คือคำถาม? มีศึกษาธิการภาค /จังหวัด แล้วเด็กจะได้อะไร? คุณครูจะได้อะไร? ผู้ปกครอง/สังคมได้อะไร? ถ้าตอบปัญหานี้ให้ความกระจ่างกับสังคมได้ ก็สมควรให้คงอยู่ต่อไป ถ้าไม่มีประโยชน์ก็สมควรก็สมควรยุบเสียเถิด ยุบไปเถอะครับมันกระทบอัตราครูใน ร.ร.และทำให้มีหน่วยงานซ้ำซ้อน กับเขตพื้นที่การศึกษาทำให้ขั้นตอนการทำงานช้ารวมถึงประเด็น ร.ร.ขนาดเล็ก อยู่ในสภาพขาดแคลน ใน ทุกเรื่อง และกำลังจะถูกยุบ และควบรวม แต่ในเมื่อชุมชนรอบ ร.ร.มีความต้องการร.ร.ให้คงอยู่ เราจึงต้องรวมพลังกัน ให้เป็น " ร.ร.ดาวฤกษ์ " คือ ร.ร.ที่มี สร้างพลังเข้มแข็งในตนเอง จึงเป็นที่มาของอีกเสียงเล็ก ๆ ที่ไม่มีพลังจากผู้บริหารโรงเรียนที่เกิดมาจากโครงการคุรุทายาท พูดถึงปัญหาที่หน้างานของโรงเรียนขนาดเล็ก รับรู้ทั่วกันว่ามีหลายสิ่งที่กลับตาลปัตร โรงเรียนตัองยุบรวม แต่.เขต. และศธจ.กลับขยับขยายทั้งจำนวนเขต. ทั้งขนาดและจำนวนกลุ่มในเขต เพื่ออะไรก็เป็นที่รับรู้กันอยู่...

...ตามมาด้วยเสียงบ่นซ้ำซากได้ยินกันมาตลอดถึงหลากหลายปัญหาที่เจ้านายคิดแก้ปัญหา ไม่ตรงจุดของปัญหาต่อไปในไม่กี่ปี เด็กจะลดลงมากเพราะไม่มีการเกิด พ่อแม่ที่พร้อมก็ทำงานไม่อยากมีลูก ส่วนเด็กในชนบทที่เกิดก็เกิดจากความไม่พร้อมของพ่อแม่ ไร้ความสมดุลย์ทางคุณภาพและความพร้อมแต่แรก และในที่สุดโรงเรียนใหญ่กลายเป็นขนาดกลาง และ ขนาดเล็กจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่คุณภาพโรงเรียนก็ยังดีเหมือนเดิม...ตามด้วยคำอธิบาย การยุบควบรวมโรงเรียน ถือเป็นการมองการไกลและกล้าหาญที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่ศธ.ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนก็จริง แต่ปัญหาจริง ๆ ที่พบมีมากมายกลับถูกมองข้าม...ชี้เป้าแบบไม่มีนัยยะ เมื่อนโยบายลงมาให้มีโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หลายพื้นที่มีการเลือกโรงเรียนคุณภาพบิดเบี้ยว ไม่พิจารณาเกณฑ์ ใช้เกณฑ์ใครสนิทนาย โรงเรียนนั้นได้เป็น รวมถึงงบลงทุน สิ่งก่อสร้าง แม้แต่พิจารณาเงินเดือน ใครพวกนายคนนั้นได้ วัน ๆ ไม่อยู่โรงเรียน มาคอยดูแลนาย แม้แต่ของส่วนรวมที่เขต คนของนายขอยังอนุมัติให้ ทำให้ผู้บริหารที่ตั้งใจทำงานหมดกำลังใจ...

...ในงานสัมมนา Better Thailand หัวข้อคุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. คุยถึงนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเวลานี้ 1.2 แสนคน เวลานี้สามารถติดตามเจอตัวแล้ว 9.5 หมื่นคน พร้อมที่จะให้เข้าร่วมโครงการพาน้องกลับมาเรียน และ โครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรี 3 ปี เรียนจนจบในระดับชั้นปวช.และสร้างอาชีพได้...ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ หารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรม 50 อุตสาหกรรมสำคัญ เร่งผลิตบุคลากรนักเรียนนักศึกษาให้ตรงกับที่ต้องที่มีประมาณ 5 แสนคนการ แต่ผลิตบุคลากรได้เพียง 1.5 แสนคน จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น หรือเป็น Better Thailand ตามคำที่ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พูดถึงตรงนี้แล้วชื่นใจ...

...ต่อไปจะได้รับเงินเดือนค่าจ้างประจำทุกเดือน ไม่มีค้างไปรวมจ่าย 2 เดือนแน่นอน บุคลากรด้านธุรการ ครูผู้สอน กลุ่มครูขาดแคลน กลุ่มครูคลังสมอง ครูวิทย์-คณิต กลุ่มครูที่ดูแลน้องเด็กพิเศษ และนักการภารโรง ในสังกัด สพฐ. ได้ยินแล้วสบายใจได้ จะมีเงินจ้างต่อถึง วันที่ 30 กันยายน 2565 เพราะ ครม.อนุมัติจัดสรรงบประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อมาดูแล นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. คุยกับ อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ให้คำมั่นสัญญาตามวาจาเรียบร้อยแล้วจ้า...อีกทั้งในส่วนของการปีงบประมาณ 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศธ. จะจ้างต่อเนื่องทุกคน ไม่ว่าจะเป็น โครงการครูผู้ทรงคุณค่าของแผ่นดิน จำนวน 610 คน วงเงิน 104 ล้านบาท โครงการครูคลังสมอง จำนวน 1,757 คน กับ โครงการจ้างเหมาครูและบุคลากรต่างๆสำหรับโรงเรียนปกติ จำนวน 44,291 คน วงเงินรวม 6,004 ล้านบาท แม้ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ แต่ก็ต้องนำเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งมีมติรับหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว ขอให้ความมั่นใจว่า ไม่ทิ้งการจ้างครูและธุรการ แน่นอน... 

...ถึงคิว! “มหาดไทย” ไฟเขียวท้องถิ่น จัดสูตร “เก็บภาษีป้าย” โรงเรียน-วิทยาลัย-มหาลัยเอกชน มากกว่า 3 พันแห่ง ทั่วประเทศ ทั้งใน-นอกระบบ หลัง กม.ฉบับปี 2510 “ยกเว้น” ไม่ต้องเสียภาษี ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน จะคิดอ่านประการใด เพราะที่ผ่านมา การเก็บภาษีป้ายจากโรงเรียนเอกชนพบปัญหาอปท.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแต่ละแห่งก็ใช้มาตรฐานในการจัดเก็บแตกต่างกันออกไป บางแห่งเรียกเก็บภาษีป้ายในราคาหลักแสนบาท อีกทั้งเป็นการเรียกเก็บในช่วงสถานการณ์ โควิด-19...

...สรุปแล้ว  เป็นสาขาวิชาชีพครูโดยตรง ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสอบเพื่อขอรับใบรับรองการปฏิบัติการสอนอีกให้ยุ่งยาก ล่าสุด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ออกมาแถลงหลังการประชุมคุรุสภา ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบใน 3 หลักการ 1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นกลาง และ 3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง จะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอนโดยอัตโนมัติ......ดังนั้น ทุกคนที่จบสายครูสามารถนำไปใช้ในการสอบบรรจุครูผู้ช่วยและเมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้ว จะมีระยะเวลา 2 ปี ในการพัฒนาตนเองเพื่อเลื่อนฐานะจากครู ผู้ช่วยมาเป็นครู ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น โดยกำหนดให้ทดสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์ และ วิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด...ถือเป็นการรื้อระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ยืดหยุ่น ให้คนที่จบสายครูทุกคนมีโอกาสสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ เชื่อมโยงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของคุรุสภา กับระบบวิทยฐานะของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นระบบเดียวกัน ก็ถือว่า ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. รักษาการเลขาธิการคุรุสภา มีส่วนสำคัญในการผลักดัน เช่นกัน...

...เปิดเทอมไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ น.ส.ตรีนุช หัวเรือใหญ่ของ ศธ.ตรวจการบ้านอาชีวะ ทุกงานจบลงด้วยความพึงพอใจในระดับฟรีเมี่ยม โดยเฉพาะด้านการผลิต พัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองความต้องการ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งระดับ ปวช./ปวส. และป.ตรี รวมถึงการเร่งรณรงค์เพิ่มผู้เรียนในโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ หรือ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้กลับเข้ามาเรียนในระบบ...ไม่เพียงเท่านั้น ผลงานของ สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ได้จัดเตรียมสถานที่ในวิทยาลัยที่มีความพร้อม รวม 88 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะรับเด็กยากจน ด้อยโอกาส เข้ามาศึกษาต่อในระดับ ปวช. โดยที่เด็กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีที่พัก มีอาหารให้ฟรี อีกด้วย...

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่หางานให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย สามารถรองรับเด็กเข้าสู่โครงการได้กว่า 5,000 คน... เรียกว่าผลงานล้วนเป็นเรื่องที่เข้าตาล้วน ๆ โดยฉายภาพให้เห็นว่าระยะแรก มีเด็กสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 3,600 คน เท่ากับเป็นการตอบรับในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีเด็กเข้าโครงการถึงประมาณ 70% ยังจะเปิดรับสมัครเด็กเข้าโครงการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ อีกไม่รู้เท่าไหร่... มุ่งเป้าหมายไปยังผู้เรียนบางกลุ่ม บางพื้นที่ ผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์การบริหารส่วนตำบล โครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี ลงย้ำให้ความสำคัญกับสถานประกอบการที่มีคุณภาพมาตรฐาน มาร่วมวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงจัดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องวิชาชีพมากขึ้น ว่ากันว่า ผลงาน ของ สุเทพ แก่งสันเทียะ ดังระเบิดเถิดเทิง จนเป็นที่หมายปองของใครบางคนอยากจะได้เข้าครอง แบบตาร้อนผ่าวทีเดียว...

...ครูเหน่ง ตรีนุช ประกาศกลางเวที "ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" (Better Thailand Open Dialogue) ว่า จะเร่งขับเคลื่อน ดึงเด็กหลุดระบบกลับเข้าห้องเรียน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ จะต้องกลับเข้าระบบการศึกษา 100% ภายในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ...ขณะที่ ธนาคารหน่วยกิต เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะตอบโจทย์นโยบายที่รัฐบาลมอบไว้ ก้าวหน้าในหลายมิติ เช่น มหาวิทยาลัยรัฐ 25 แห่ง เริ่มขยายการสะสมหน่วยกิตเข้ามมหาวิทยาลัยสำหรับระดับบัณฑิตศึกษา และเกือบทุกมหาวิทยาลัยได้เริ่มเปิดระบบสะสมหน่วยกิตในบางคณะ/ สาขาวิชาแล้ว...น่ายินดีว่าการเรียนอาชีวศึกษา ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สุเทพ แก่งสันเทียะ ก็ได้ปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และเริ่มระบบธนาคารหน่วยกิตแล้ว สามารถเชื่อมโยงทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะ และอุดมศึกษา ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนากำลังคน ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานระดับกลาง และแรงงานระดับสูง อีกทั้ง อาจกำหนดระยะเวลาเรียน เพื่อกระตุ้นให้คนเรียนจบตามเวลาที่กำหนดด้วย...

...ว่าไปแล้วก้าวไปอีกหลายก้าวเมื่อ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. ร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรและจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ.2563 ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนักกับ ศรัณย์ ชินประหัษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บ.บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ซึ่งมีศูนย์บริการ 23 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งทางบริษัทมีเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรกลหนัก ไม่ว่าจะเป็นรถขุดไฮดรอลิค รถตักล้อยาง รถดันดิน รถเกลี่ยดิน จัดการเรียนการสอนในรูปแบบอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี นำร่องในวิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช มุ่งเน้นศึกษาเรียนรู้จากเครื่องจักรจริง เทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ...

...งานนี้ไลอ้อนผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อคนไทย ก็มานะ  ร่วมเดินหน้าโครงการ "อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี" รุ่น 6 หนุนเยาวชนเข้าสู่ระบบการเรียนรู้สายอาชีวะควบคู่วิชาชีวิต ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี และ วิทยาลัยการอาชีพแกลง จ.ระยอง ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาซ่อมบำรุง และสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์  โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนเป็นการเรียนวิชาพื้นฐานที่วิทยาลัย และ การเรียนฝึกปฏิบัติที่โรงงานโดยทีมไลอ้อนเป็นผู้สอน...

...ในที่สุดบริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ก็มา สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการกอศ. จับมือ นงเยาว์ สะอาด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ทำทวิภาคีผลิตคน'ค้าปลีกก่อสร้าง ฝึกอบรมวิชาชีพ โดยมีร้านสาขาของบริษัทเป็นศูนย์การเรียน และฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา มีโปรแกรมตารางเวลาการฝึกงานต่อเนื่องตลอดปี รวมถึงช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ดีจังตังค์มีใช้ด้วย ... ไปกันที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ภูมิใจตัดเย็บชุดผ้าไหมไทยให้กับตัวแทนสถานทูตประเทศคูเวตและมองโกเลียประจำประเทศไทย งดงามพร้อมอวดโฉมแล้วในงานแฟชั่นผ้าไหมไทย ระดับโลก "มหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 11"ผ่านช่องทาง Facebook Live NBT ในวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้น ...

...ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (กิจกรรมปลูกและรักษาทรัพยากร)คณะผู้บริหาร ครู และนักศึกษา วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ร่วมกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ 2565ณ สวนพฤกษศาสตร์ของวิทยาลัย.... การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจ.หนองคาย พบว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายหนองคาย ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย ปิดรพ.สนาม ส่งพื้นที่คืนบางส่วน ให้สถาบันอาชีวะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 นำใช้ประโยชน์ต่อเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ หลังเปิดรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากกว่า 600 คน มาเป็นระยะเวลาหลายเดือน...

...ข่าวดีจาก สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเข้ารับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ประเภททั่วไประดับปฏิบัติ 208 อัตรา ...ตำแหน่งอะไรบ้าง นักวิชาการเงินและบัญชี 13 อัตรา นักวิชาการตรวจสอบภายใน 12 อัตรา นักวิชาการพัสดุ 15 อัตรา นักประชาสัมพันธ์ 3 อัตรา นักทรัพยากรบุคคล  30 อัตรา นักวิชาการศึกษา  43 อัตรา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 19 อัตรา นิติกร  8 อัตรา และเจ้าพนักงานธุรการ  65 อัตรา สมัครออนไลน์ ได้ที่ http://ops.jobthaigov.com/ ตั้งแต่ 27 พ.ค.- 10 มิ.ย.65 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ...

วันนี้ “สิงห์ ราชดำเนิน” สวัสดีครับ

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)