“ตามรอยพ่อฯ” ปี 9 คืนสู่ลุ่มน้ำป่าสัก จัดกิจกรรมเอามื้อที่ จ.นครราชสีมา ชูเกษตรแบบ โคก หนอง นา สู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหาร

ช่วงวันที่7-8มกราคม2565ที่ผ่านมามีโอกาสไปเยือนพื้นที่กสิกรรมของนางสาวสุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่ เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี ขนาด 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวกลาง ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา กับโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน(ตามรอยพ่อฯ)กับคณะ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นอดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด

เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี  เป็นพื้นที่มรดกของพ่อแม่ที่ทำเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งสุณิตาหรือนวลตัดสินใจแน่วแน่ที่จะยึดอาชีพบรรพชนคือเป็นเกษตรกร แต่ปรับวิถีการทำเกษตรกรรมยึดหลักศาสตร์พระราชาทำเกษตรตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวด้วยรูปแบบ โคก  หนอง  นา ขณะที่อายุอยู่ในวัยหนุ่มสาว ที่สุดสามารถพัฒนาพื้นที่จำนวนดังกล่าวเกิดผลผลิตพืชผักผลไม้ เป็ด ไก่ ปลา เป็นแหล่งความสมบูรณ์ทางอาหารอย่างยั่งยืนด้วยความมุ่งมั่นขยันอดทนตั้งใจจริง  ทุ่มเทศึกษาเรียนรู้ลงมือปฏิบัติแม้งานจะหนักเหนื่อยก็ไม่ท้อ 

ในวันนี้ได้นำพาชีวิตตัวเอง ครอบครัวและบ้านใกล้เรือนเยงสู่ความสุขแบบพออยู่พอกินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอันรวมไปถึงได้สร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมด้วยความอุดมแห่งทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ทั้งแหล่งน้ำ ต้นไม้ พืชผัก  สัตว์เลี้ยงและแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์โดยการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา แบบโคก หนอง นา โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไปพร้อมการศึกษาเรียนรู้ ลงมือทำด้วยกำลังคนจำนวนน้อย โดยการศึกษาเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาด้วยการเข้าร่วมกับโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน(ตามรอยพ่อฯ)

โครงการ พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน(ตามรอยพ่อฯ) จัดกิจกรรมเอามื้อ  ณ จังหวัดนครราชสีมา ลุ่มน้ำป่าสัก  เดินหน้าภารกิจถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่ปีที่ 9 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยลงมือทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสำหรับการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ของมนุษย์ได้อีกด้วย โดยวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น

โคก หนอง นาฝ่าวิกฤตสิ่งแวดล้อม

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ  ให้โลกพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาอันเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระราชทานไว้และภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เพราะในโคก หนอง นา จะมีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งจะเป็น  ตัวสร้างสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ นำมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพหรือ biodiversity จากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ทั้งในน้ำ      ใต้ดิน บนดิน หรือในป่า อันไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน แต่ยังช่วยให้มีอาหาร   การกินสมบูรณ์ เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสหประชาชาติในการขจัดความอดอยาก (zero hunger) อีกด้วย การทำเกษตรแบบโคก หนอง นา จึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และ     ช่วยโลกไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนั้น การทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นยังช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนของภาคการเกษตร ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า จากข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่าภาคการเกษตรมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูง ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ก๊าซมีเทนเกิดมากใน การทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวที่เป็นฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่และใช้ยาปฏิชีวนะ ก็จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดก๊าซมีเทนขึ้น ไม่ว่าจะในลำไส้ของสัตว์หรือมูลสัตว์ที่ถ่ายทิ้งออกมา แม้แต่กระบวนการหมักของฟางกิ่งไม้ใบไม้ที่มีสารเคมีอยู่ด้วย ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการใช้น้ำสมุนไพรรสจืดเพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานของจุลินทรีย์ให้สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดก๊าซมีเทน ในทางตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้เกิดออกซิเจนขึ้นมาด้วยซ้ำ"

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและอดีตรมช.เกษตรฯ กล่าวสรุปขณะเยี่ยมพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีถึงความสำคัญของวิถีกสิกรรมธรรมชาติในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  ว่า ถ้าเราได้ติดตามสถานการณ์จริงของโลกจากการประชุม COP (การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP)  หรือผลกระทบจากโควิด-19 หรือผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่เกิดแล้วทำลายล้างเทคโนโลยีเก่า ที่เรียกว่า Disruption แค่ 3 ตัวนี้ ผลกระทบจะเกิดต่อคนตกงานจำนวนมหึมา ที่น่ากลัวที่สุดคือระบบการผลิตอาหารจะลดน้อยลง ด้วยข้อจำกัดของสภาพอากาศที่แย่  ภาวะโลกร้อนเกิดความแปรปวนของอากาศ ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ออกดอกออกผล  ระบบกสิกรรม ซึ่ง กสิแปลว่า การเพาะปลูก การสร้างอาหาร ถือเป็นอารยธรรม ไม่ใช่เกษตรกรรม ซึ่งหมายถึงเขต  อู่ แอ่ง แต่กสิกรรมเป็นอารยธรรมของมนุษย์ที่สร้างอาหาร สร้างยา สร้างอากาศบริสุทธิ์ อย่างการทำไร่แบบเกษตรกรรม ดินจะเป็นพิษด้วยยาฆ่าหญ้า จนดินเป็นกรด เกิดน้ำกัดเท้า เกิดโรคฉี่หนู  แต่ในแปลงที่ทำกสิกรรมจะไม่มีปัญหาเหล่านี้  เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ และการพิสูจน์ดีที่สุดคือลงมือทำให้ดู  

“ที่นี่ (เสงี่ยมคำฯ) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ  เจ้าของแปลงเป็นนักกฎหมายแต่เห็นคุณค่าของงานกสิกรรม ก็ได้ลงมือทำ  ถือว่าเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการจริงๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้  ในพื้นที่ 6 ไร่นี้ ถือเป็น Microclimate  ที่เย็นต่างจากแปลงรอบข้างๆ ความชื้นสัมพัทธ์ก็สูง ความชื้นในดินก็สูง อาหารจึงมีอยู่ทุกที่ ทั้งบนดินในดินในน้ำ เป็นออร์แกนิคล้วน เป็นธรรมชาติ จึงเรียกว่า กสิกรรมธรรมชาติ” 

ดร.วิวัฒน์ย้ำว่าเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับมนุษย์ยุคนี้ ยิ่งเจอสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง คนขาดแคลนอาหาร  คนแย่งแหล่งผลิตอาหารกัน ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารก็ทำลายแย่งกัน สุดท้ายโลกจะอยู่ยังไง  นี่คือสิ่งที่ทั้งโลกรู้กัน เขาจึงจำนนต่อประเทศไทยที่มีองค์พระประมุขซึ่งเป็นข้าวนอกนา  องค์พระประมุขเราที่เป็นลูกชาวบ้าน แม่เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ  แต่ทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพ   จนมีรางวัล 20 กว่ารางวัลทั่วโลกมาทูลเกล้าฯถวาย   เพราะรู้ว่ามนุษย์จะไม่อดอยาก ก็มาเชิญกษัตริย์ไปเป็นทูตหยุดความอดอยากหิวโหย  รางวัลดินโลกก็ให้ตั้งชื่อว่า King Bhumibol World Soil Day Award ให้ไทยเป็นแม่งานทำงานร่วมกับทั้งโลกโดยเอาหลักคิดของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรไปทำ  ตั้งเป็น  Centre of Excellence for Soil Research in Asia (CESRA) ขึ้นมา เพื่อทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น  เพราะระบบเกษตรกรรมก้าวหน้าที่พึ่งพาเครื่องจักรกลับเป็นตัวทำลายโลก  กสิกรรมธรรมชาติจึงได้ทำให้ดูแล้วว่าเราจะรอดในยุควิกฤติได้ยังไง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะคนจะต้องมีความเชื่อมีความศรัทธาและมีความรู้ด้วย  นอกจากเป็นที่พึ่งให้ตัวเองได้ยังจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้อีก   ที่สำคัญมีความรู้อย่างเดียวไม่ได้ต้องมีศีลมีธรรมด้วย   มีคุณธรรม โดยเฉพาะ นาถกรณธรรม  (ธรรมอันเป็นที่พึ่งของตนเอง) มี 10 ข้อ ปีนี้ก็อวยพรปีใหม่ปีเสือลำบากให้กับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั้งประเทศ ที่มีมากกว่าแสนคนทั่วประเทศ ให้ลุกขึ้นเอาจริงกับการลงมือทำแบบนี้ ให้มีทั้งความรู้และคุณธรรม  โดยเฉพาะข้อ 5 กิงกรณีเยสุ ทักขตา’ (ความเอาใจใส่ช่วยขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ) กิจกรรมของกลุ่มอย่าทอดทิ้ง  ปีนี้จึงจัดกิจกรรมเอามื้อ,ลงแขก,เอางาน ของทุกศูนย์ฯ เครือข่าย

 ตามรอยพ่อฯ ปี 9 คืนสู่ลุ่มน้ำป่าสัก

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงแนวคิดหลักและรายละเอียดกิจกรรมว่า ครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมเอามื้อครั้งแรกของโครงการ ตามรอยพ่อฯปี 9 หลังจากที่ได้ชะลอการจัดกิจกรรมออนกราวด์ถึงกว่า 1 ปีเต็ม ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา โครงการ ตามรอยพ่อได้เดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด ‘9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืนผ่านกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์และ   เฟซ บุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลิปวิดีโอ คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติที่ให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นเรายังช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแคมเปญ รวมพลังสู้โควิด-19’ โดยทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยโควิด-19 ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติรวม 19 แห่งทั่วประเทศ          จัดคาราวานแจกตะกร้าปันสุข ชุดต้มและน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า และกล่องกรีนบ็อกซ์ (Home Isolation Green Box)      ชุดดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้านไปเป็นจำนวนมาก ไปยัง 252 พื้นที่ทั่วประเทศ 

นายอาทิตย์ กล่าวถึงกิจกรรมเอามื้อ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในครั้งนี้ว่า โครงการตามรอยพ่อฯ ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งเป็นปีสรุปผลความสำเร็จของโครงการ เราจึงกลับมาจัดกิจกรรมในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้วอีกครั้ง โดยเลือกพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของคุณสุณิตา เหวนอก ซึ่งเป็นหนึ่งใน  คนต้นแบบ คนหัวไวใจสู้ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่และคนรุ่นลูกหลาน รวมถึงแปลงพื้นที่ของตนเองเป็น 1 ใน 19 ศูนย์ช่วยโควิด-19 ในแคมเปญรวมพลังสู้โควิด-19 เราจึงมาจัดกิจกรรมเอามื้อในพื้นที่ของคุณสุณิตา เพื่อแสดงความขอบคุณในความมุ่งมั่นและความเสียสละ

ด้านนายบุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ กล่าวเสริมข้อมูลพื้นที่ว่า นครราชสีมาหรือโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน มีพื้นที่ป่าเขาและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก ทางทิศตะวันตกเชื่อมกับจังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งรวมลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่ม คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และทางทิศตะวันตกมีพื้นที่บางส่วนที่ไหลไปลงใน ลุ่มน้ำป่าสัก  เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรมากมีความต้องการน้ำสูง ประกอบกับมีภัยแล้งบ่อยครั้ง โครงการจึงนำเสนอพื้นที่ของคุณสุณิตา เหวนอก เป็นพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในโคราช เพราะได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า   การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัตินั้น สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย หรือภัยจากโรคระบาด เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของคุณสุณิตาก็ผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างดี นอกจากจะสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ยังส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเพื่อนมนุษย์ในสังคมในชุมชนอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ตามรอยพ่อฯ ด้วยหัวใจ

ด้าน นางสาวสุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่ เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี ขนาด 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวกลาง ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา กล่าวว่า นวลเป็นคนโคราชโดยกำเนิด พี่น้อง 4 คนเป็นลูกคนที่ 2 ครอบครัวเป็นเกษตรกรที่ทำงานหนัก มีแต่หนี้สิน เมื่อจบ ป.6 ก็ทำสวนทำนากับที่บ้าน พออายุ 16-17 ปี พ่อแม่ให้ไปทำงานโรงงานจึงแอบเรียน กศน. โดยทำงานส่งตัวเองเรียนและส่งเงินให้ที่บ้านด้วย จึงต้องทำงานหนักมากทำทั้งโรงงานเย็บผ้า โรงงานของเล่น ฯลฯ ในที่สุดก็เรียนจนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช พออายุ 29 ปี สอบติดราชการและเรียนต่อจนจบนิติศาสตร์ มหาวิธรรมศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน อายุ 30 กว่าทำงานเป็นนิติกรที่รังสิตปัจจุบันย้ายมาที่ อ.จักราช จุดเปลี่ยนคือหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้ดูรายการสารคดีโทรทัศน์ แสงจากพ่อสู่ความยั่งยืนทุกคืน ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ จนมีโอกาสพบ อ.เข้ม (ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ) ซึ่งได้ชวนให้มาเป็นจิตอาสาช่วยโครงการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ แล้วจึงไปอบรมการทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งที่ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ อบรมออกแบบโคก หนอง นา โมเดลที่วัดหนองสองห้อง อบรมที่ศูนย์คืนป่าสัก แล้วตัดสินใจลงมือทำบนที่ดินแปลงนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของครอบครัว เพราะทำเองรู้ว่าเราใส่อะไรลงไป โดยปลูกพืชต่างๆ เช่น กล้วย ละมุด อ้อยพันธุ์สุพรรณ 50 ถั่วลิสง เป็นต้น

นางสาวสุณิตา หรือนวลกล่าวถึงความสุขที่ได้จากการตามรอยศาสตร์พระราชาว่า มีความสุขมาก ช่วงแรกที่ลงมือทำแม่ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมมาดู เพราะเสียดายที่ดิน แต่พอปีนี้ สิ่งที่เราทำเริ่มผลิดอกออกผล แม่ก็เข้ามาดูเกือบทุกวันรู้สึกว่าตัวเองคิดถูกแล้วที่เดินตามรอยพ่อ แม้จะต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก แต่ก็คุ้มค่าที่ทำให้ครอบครัวยอมรับได้ และยังสร้างความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น สร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารให้ครอบครัว อีกทั้งยังภูมิใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนทำตามด้วย โดยหลังจากนี้อยากทำสวนสมุนไพรเพิ่มในพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว

กิจกรรมเอามื้อในครั้งนี้ประกอบด้วยการทำแปลงปลูกผักอินทรีย์  ขุดปรับคลองไส้ไก่รอบแปลงนาและหนองน้ำ ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ห่มฟาง ใส่ปุ๋ยแห้งปุ๋ยน้ำ  ทำเครื่องกรองน้ำถัง 200 ลิตร  ทำเครื่องสูบน้ำพลังงานโซล่าเซล  แปรรูปผลผลิต อาทิ สบู่ฟักข้าว แชมพูดอกอัญชัน กล้วยหมัก ชาตะไคร้ ไข่เค็ม โดยดำเนินมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น อาทิ การควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนต้องแสดงผลยืนยันการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ก่อนร่วมงานไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมถึงเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม เป็นต้น

          ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

เกี่ยวกับโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน

โครงการ พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน(ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ตามแผนหลัก 9 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี ระยะแรก คือ การตอกเสาเข็ม สร้างการรับรู้ ระยะที่ 2 การแตกตัว เป็นการขยายผล สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระยะที่ 3 การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับสู่การแข่งขันได้ ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการเดินตามบันได 9 ขั้นไปสู่ความพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์ เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนา คือ คน  โครงการจึงพยายามสร้างคน จากคนมีใจ สู่เครือข่าย และแม่ทัพผู้พาทำ เพื่อร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป

 

..........................................................................

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

Edunewssiam.com

Seksan2493@yahoo.com