17 มหาวิทยาลัย เปิด 22 หลักสูตร Non degree มุ่งเพื่อการมีงานทำ

อว.-17 มหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษารูปแบบใหม่ เปิด 22 หลักสูตร Non degree ”พัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ เพื่อการมีงานทำ” เน้นเกษตรอัจฉริยะ-ยกระดับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่-อุตสาหกรรมอาหาร-การจัดการโลจิสติกส์-นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานการลงนามในบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนการดำเนินการหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/ Upskill/ Newskill) เพื่อการมีงานทำ และเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต ระหว่างสำนักงาน อว.และสถาบันอุดมศึกษา 17 แห่ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพื่อตอบสนองการพัฒนากำลังคน และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างอาชีพ สอดคล้องกับบริบทของสังคมในยุคปัจจุบัน ดังนั้น บุคลากรที่สถาบันอุดมศึกษาจะสร้างขึ้นมาต้องตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานหรือตลาดแรงงาน ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

ตลอดจนโครงการนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งทักษะที่มีอยู่ต้องถูกปรับเปลี่ยนต่อไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ระบบของการผลิตคนของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ทิศทางการพัฒนาทักษะ การยกระดับทักษะ และการเพิ่มทักษะใหม่ๆ อาจจะไม่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเหมือนการเรียนเต็มหลักสูตรในระบบปกติ

ดังนั้น บทบาทของหลักสูตรที่เรียกว่าหลักสูตร non degree จะมีความสำคัญมากขึ้นไปด้วย  

การลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ผ่าน 22 หลักสูตร ใน 17 สถาบัน เน้นการศึกษาระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยจะร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคธุรกิจ จัดหลักสูตร non-degree ใน 3 กลุ่มสาขา ได้แก่ เกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farming) การยกระดับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (Smart Tourism) และหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการจัดการโลจิสติกส์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นต้น 

"โครงการนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาเพื่อนำมหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรที่สามารถเข้าสู่ตลาดงานอย่างรวดเร็ว สร้างงานโดยตรง เพิ่มเติมจากภารกิจที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอยู่แล้ว” ปลัด อว.กล่าว

สำหรับ 17 สถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯในครั้งนี้ ประกอบด้วย ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.มหิดล ม.แม่โจ้ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ม.ราชภัฏเพชรบุรี ม.ราชภัฏรำไพพรรณี ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ม.กรุงเทพ และ ม.ศรีปทุม

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)