มศว MOU สถาบัน พว. หนุน ศธ.-ร.ร.-ครู-น.ร.ขับเคลื่อน Active Learning (ชมคลิป)

“มศว” จับมือ “สถาบัน พว.” หนุน ศธ.-ร.ร.-ครู-น.ร.ขับเคลื่อน Active Learning พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาของชาติภายใน 2 ปี

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อาคารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โดย ผศ.ดร.รุ่งทิวา แย้มรุ่ง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบัน พว. โดยมี ผศ.ดร.อาทิตย์ โพธิ์ศรีทอง รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว และนายไพศาล โรจน์สราญรมย์ รองประธานกรรมการบริหารสถาบัน พว. ร่วมเป็นสักขีพยาน

ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการยกระดับคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นให้ผู้เรียนต้องมีศักยภาพในทุกมิติ มีความสามารถในการแสดงออกทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาอาชีพที่ตนถนัดบนพื้นฐานของคุณธรรม และมีค่านิยมที่ขยายประโยชน์สู่สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมได้อย่างสง่างาม

โดยผ่านการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ (GPAS 5 Steps) เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะและบรรลุเป้าหมายโดยใช้เวลาไม่นาน และสอดคล้องกับค่านิยมของผู้เรียนยุคใหม่ คือ เรียนน้อย สร้างความรู้เป็น เน้นกระบวนการ, เรียนสนุก มีความรู้มาก สามารถสร้างนวัตกรรม เป็นนวัตกร, คิดเก่ง หล่อหลอมความดีเป็น และมีหลักการเรียนรู้ได้เอง พัฒนาอาชีพได้เอง

ทั้งนี้ ผู้บริหารของทั้งสององค์กรจึงได้ตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้เรียน ในการเสริมสร้างศักยภาพดังกล่าว

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า สถาบัน พว.มีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มศว ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครูของประเทศ ในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ (GPAS 5 Steps) เพื่อพลิกโฉมยกระดับคุณภาพนักเรียน คุณภาพการศึกษาของประเทศ ตลอดจนได้แผ่ขยายไปสู่นานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศได้ติดต่อขอทำความร่วมมือกับทางสถาบัน พว.มาแล้ว เพียงแต่ตนขอเห็นภาพความสำเร็จของประเทศไทยก่อน 

“ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันเป็นภาคีขับเคลื่อนทันทีและอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าจะให้ผลความสำเร็จจากคุณภาพในตัวผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาของชาติภายใน 1-2 ปีเท่านั้น เพราะสถาบัน พว.มีเครื่องมมือ มีผลงานวิจัยที่พร้อมขับเคลื่อนแล้ว” ประธานกรรมการบริหารสถาบัน พว. กล่าว

ผศ.ดร.รุ่งทิวา กล่าวว่า คณะศึกษาศาสตร์ มศว มีนโยบายว่าคณาจารย์ทุกท่านต้องจัดการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ทุกรายวิชาแบบ Active Learning เพื่อเป็นต้นแบบให้กับบัณฑิตครูของเราออกไปจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนแบบ Active Learning ได้ ดังนั้น ความร่วมมือกับสถาบัน พว.ในครั้งนี้ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับ Active Learning ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์ มศว จะส่งนิสิตมาฝึกงานกับทางสถาบัน พว.ด้วย

"ตลอดจนเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยทำให้ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของชาติบรรลุผลสำเร็จได้อย่างดียิ่ง" คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)