ราชมงคลอีสาน ยกภูมิปัญญาท้องถิ่น “ชูผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ร้านค้ายุคใหม่”

 

ราชมงคลอีสาน ยกภูมิปัญญาท้องถิ่น “ชูผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ร้านค้ายุคใหม่” 

 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีขนาดใหญ่ของประเทศ หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริม และเสริมความรู้ ภายใต้แนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภาครัฐให้เป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับชุมชนผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะที่มาจากภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ย่อมสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตและครอบครัวได้

 

 

 

ผศ.ดร.กนกกาญจน์ วิชาศิลป์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวถึงงานวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเข้าสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยการสนับสนุนจากจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ว่า

 

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ขยายช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชนไปยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย มั่นใจคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า และเข้าถึงผู้บริโภคอย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงจำเป็นที่ผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงหันไปซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น

 

 

 

ดังนั้น ช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการทำการตลาด เพื่อผู้ผลิตจะได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน และ ผู้บริโภค 

 

ผศ.ดร.กนกกาญจน์ วิชาศิลป์ ได้จำแนกชัดถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ และ กลุ่มของที่ระลึก โดยเลือกจากกลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพ การสัมภาษณ์และหาข้อมูล จากสำนักงานเกษตรจังหวัด และการสัมภาษณ์เชิงลึก ขณะเดียวกันในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ในจังหวัดสกลนคร จะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ ซึ่งใช้สูตรการคำนวณแบบไม่ทราบจำนวนประชากรที่แน่นอน ที่ระดับความคลาดเคลื่อน ร้อยละ 5 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 385 ตัวอย่าง

 

 

 

พบประเด็นว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและมูลค่าตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวเข้าถึงทุกพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้องเข้าถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการทำการตลาด เพื่อผู้ผลิตจะได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจะสามารถเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายเพิ่มขึ้น มีรายได้ และสามารถยึดการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาเป็นอาชีพได้

 

“โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกผลิตชุมชนไปจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าจะต้องผ่านกระบวนการผลิต เช่น  ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารแปรรูป จะต้องได้รับมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา GAP, GMP, HACCP, Qmark, มผช., มอก., มาตรฐานเกษตรอินทรีย์, ฮาลาล และมีบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจำหน่ายทั่วไปมาตรฐาน โดยผู้ประกอบการจะต้องมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพ พร้อมที่จะพัฒนาสินค้าร่วมกัน”

 

 

 

สำหรับบรรจุภัณฑ์  จะต้องออกแบบและสร้างบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า ป้ายฉลาก สวยงาม ทันสมัย สีสันสวยงาม เหมาะสมตามลักษณะผลิตภัณฑ์ ให้รหัสสากล จะช่วยในการจัดการคลังสินค้า การขนส่ง และ การส่งเสริมการตลาดต้องปกป้องคุ้มครอง สะดวกในการจัดวางและเคลื่อนย้าย รวมถึงถูกต้องตามข้อกำหนดของการจัดจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น มีการรับรองจาก อย. จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ชุมชน

 

ผศ.ดร.กนกกาญจน์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จะช่วยให้การสนับสนุนในเรื่องของเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ และหากสมาชิกมีกำลังการผลิตเพียงพอ จะสามารถจำหน่ายสินค้าในปริมาณมาก ทำให้กระจายสินค้าไปร้านค้าปลีกสาขาอื่น ๆ ได้อีกทั่วประเทศ ยกระดับและขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

 

 

 

ทั้งนี้ผู้วิจัยได้นำผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่ม เสนอเข้าจัดจำหน่ายยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ตามข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการต้องทำให้ครบทุกองค์ประกอบ ก่อนที่จะดำเนินการติดต่อเข้าร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยทุกรายต้องยื่นขอ อย.สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและยาทุกผลิตภัณฑ์ ที่จะจัดจำหน่ายในโครงการวิจัยนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของ อย. และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งชื่อ ภาษา ขนาดอักษร ข้อความที่ใช้ได้ และทำการขอรหัสสากล และการทำฉลากและบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีความถูกต้อง ทันสมัย

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่ และข้อกำหนดของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มีความเข้มงวด และมีรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 กลุ่ม อยู่ระหว่างการทำตามข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นเพิ่มเติม และยื่นเอกสารเพื่อขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ ซึ่งรอการพิจารณาเอกสาร ความพร้อม การทำความเข้าใจ และการเปิดบัญชีเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กับทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)