รอยยิ้ม ความสุขใต้ร่มพระบารมี

กองประชาสัมพันธ์สำนักงาน กปร.ได้รายงานถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเกิดจากพระเมตตาต่อพสกนิกรในท้องถิ่นกันดารที่มีความเป็นอยู่แร้นแค้นยากจนดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก เฉพาะอย่างยิ่งประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือบนยอดดอยห่างไกลความเจริญทุกแบบ  โดยการพระราชทานโครงการตามพระราชดำริก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้นำพาชีวิตให้ทุกคนมีรอยยิ้มบ่งบอกถึงความสุขตามวิถีพอเพียงอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการที่ประชาชนดังกล่าวได้เป็นกำลังอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยกรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ ผืนดินและเฝ้าระวังป้องกันเภทภัยอื่นๆตามแนวตะเข็บชายแดนไปพร้อมกัน

 

โครงการตามแนวพระราชดำริดังกล่าวคือ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ภาคเหนือจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี ๒๕๔๗  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ของราษฎรบนพื้นที่สูง ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านเสาแดง และบ้านห้วยเขียดแห้ง ซึ่งมีราษฎรชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่ ๒ ชนเผ่า ได้แก่ เผ่าลีซอ  และเผ่ากะเหรี่ยง  เพื่อให้มีอาชีพจะได้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง บนพื้นฐานแห่งหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง

ภายในโครงการฯ ดังกล่าวได้ดำเนินงานในลักษณะแปลงสาธิต ทดลองปลูกพืชผักเมืองหนาว เช่น ฟักทองญี่ปุ่น และ ไม้ผล เป็นต้น สำหรับพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูก เช่น แมคคาเดเมีย ชา กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า และสตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น ซึ่งพืชผักทุกชนิดที่นำมาปลูกเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีในสภาพพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อีกทั้งพืชผักที่นำมาปลูกนั้นเหมาะต่อการส่งเสริมให้ราษฎรนำไปปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวตลอดทั้งปี

สำหรับการดำเนินงานริเริ่มโครงการฯ มีหลายหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมชลประทาน  และกรมพัฒนาที่ดิน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน  กปร. ประสานงานการดำเนินงาน สนับสนุนงบประมาณและติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง 

ผลสำเร็จของโครงการฯ นอกจากจะช่วยให้ราษฎรมีรายได้จากการจ้างงานของสถานีฯ แล้ว ราษฎรยังได้เรียนรู้ขั้นตอน วิธีการทำเกษตรกรรมจากการปฏิบัติจริง จนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่ทำกินของตนเองได้ ดังมีตัวอย่าง อาทิ นางสาวอ้อมทิพย์  อารยะไพทูรย์ ราษฎร ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา ได้นำความรู้ไปทำการเกษตรปลูกพืชหมุนเวียน

นางสาวอ้อมทิพย์เล่าว่า  ช่วงนี้ปลูกมันอลู ถั่วอะซูกิ และถั่วแดงหลวง โดยมีงานศิลปาชีพเป็นรายได้เสริมช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ การทอผ้าพื้นเมืองชนเผ่า ซึ่งได้รับสนับสนุนเส้นด้ายพระราชทาน จากศูนย์กิจการและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย บริเวณชายแดนเชียงราย อีกหน่วยงานที่เข้าไปดำเนินงานสนองพระราชดำริ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมพัฒนาฝีมือการทอผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีความสวยงามทันสมัย เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า และเสื้อชนเผ่า เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไปจะพัฒนาต่อยอดการทอผ้าลายพระราชทาน ลายของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งนางสาว อ้อมทิพย์ กล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่า นับตั้งแต่ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง ขึ้น ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาก

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดฝึกอบรมเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผัก เช่น ฟักทองญี่ปุ่น กล้าไม้ผล ชา และกาแฟ  เป็นต้น

ประการสำคัญอย่างยิ่ง คือ ทุก ๆ ปี เมื่อถึงฤดูหนาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ พร้อมกับเชิญพระราชกระแสแสดงความห่วงใยไปกล่าวด้วย ซึ่งได้สร้างความปลื้มปีติแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลเป็นอย่างมาก ดังความที่นางสาวอ้อมทิพย์ ได้กล่าวถึงการที่ตนได้รับพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ว่า ดีใจและซาบซึ้งมาก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐  พระราชทานสิ่งของให้”

 

จากผลสำเร็จของ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง  ไม่เพียงแต่บ้านเสาแดง และบ้านห้วยเขียดแห้ง ในพื้นที่ภาคเหนือ  จะมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสถานที่ให้ความรู้ในการทำเกษตรกรรมอย่างถูกวิธีด้วย ทั้ง ๆ ที่ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยมีปัญหาการปลูกพืชเสพติดและทำไร่หมุนเวียน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เกิดการเสื่อมสภาพของดินที่ความอุดมสมบูรณ์ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการยังชีพ โดยเฉพาะข้าว แต่ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยแท้ บ้านเสาแดง และบ้านห้วยเขียดแห้ง จึงรอดพ้นจากความยากจน ส่งผลให้ มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น ทั้งยังทำให้ราษฎรได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ เมื่อไม่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน และเลิกปลูกฝิ่น โดยหันมาทำการเกษตรตามแนวทางที่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ไห้ 

บ้านเสาแดง และบ้านห้วยเขียดแห้ง ในปัจจุบัน จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะสร้างรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่ และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาเยือน ดังนั้น หากท่านใดกำลังมองหาแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เพื่อมาสัมผัสความงดงามของผืนป่า ท่ามกลางอากาศที่บริสุทธิ์ และได้รับความสะดวกในการเดินทางแล้ว สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่  พร้อมให้การต้อนรับทุกท่านเสมอ

 

ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดิน

Edunews siam.com