กรมการแพทย์-มธ.เปิดหลักสูตรการแพทย์แม่นยํา รักษา-ป้องกันโรคยีนผิดปกติ

 กรมการแพทย์จับมือ มธ.พัฒนาหลักสูตรการแพทย์แม่นยําแนวใหม่ ในการรักษาและป้องกันโรคที่คํานึงถึงความผิดปกติของยีน เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนอบรม 28 ก.พ.นี้ 4 หลักสูตร 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการแพทย์แม่นยํา เพื่อสร้างและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มความรู้ให้แก่ประชาชนในมิติใหม่ของระบบสาธรณสุขในประเทศไทย

นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวอีกว่า การแพทย์แม่นยําเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาและป้องกันโรค ที่คํานึงถึงความผิดปกติของยีน สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล การแพทย์แม่นยํากําลังเปลี่ยนแปลงการวิจัยทางคลินิกและชีวการแพทย์ การดูแลสุขภาพ แนวความคิดและมุมมองในการใช้ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและลดค่าใช้จ่ายของระบบสาธารณสุขของประเทศ

Disruptive Technologies คลื่นลูกที่สามของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ เกิดขึ้นหลังจากการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย และมีต้นทุนถูกลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับกลไกของการเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดพลาดของรหัสพันธุกรรม ทั้งในระดับ DNA RNA และโปรตีน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดข้อจํากัดในการปรับตัวของระบบการดูแลสาธารณสุข

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการกับการรองรับมิติใหม่ทางการแพทย์นี้ จึงต้องยกระดับความสําคัญในการสร้างองค์ความรู้ ความถนัดในการวิเคราะห์ โดยการวางแผนเนื้อหาและการจัดอบรม (Education & Training) ในรูปแบบต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล รวมทั้งยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาไปยังระดับผู้นําในภูมิภาคด้วย

"กรมการแพทย์มีภารกิจหลักในการพัฒนาวิชาการด้านการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสม การเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรด้านการแพทย์เฉพาะทาง จึงมีความจําเป็นที่จะต้องเร่งการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เพื่อการให้บริการและดูแลรักษาผู้ป่วย โดยปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหนึ่งในแกนหลักสําคัญเพื่อระบบสาธารณสุขไทย"

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นแกนสําคัญในการพัฒนาการศึกษา เพื่อ Upskill และ Reskill ให้กับประชาชน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร( ศูนย์พัทยา ซึ่งอยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นศูนย์การทางการแพทย์ Medical Hub ทั้งทางด้านระบบบริการทางการแพทย์แบบดิจิตอล และศูนย์กลางทางการรักษาแบบมุ่งเป้าเชิงสุขภาพ หรือ Precision Health ต่อไปในอนาคต

“จากหลักการดังกล่าว กรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ เห็นควรให้มีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมด้านการแพทย์แม่นยําร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป เพื่อนําความรู้ความสามารถด้านการแพทย์แม่นยําที่ได้ศึกษามาให้บริการแก่ผู้ป่วย” 

รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า การสร้างหลักสูตรสําหรับการแพทย์แม่นยํา จํานวน 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1. Basic Genetics and Precision Medicine, หลักสูตรที่ 2 Genetic Counselor for Precision Medicine, หลักสูตรที่ 3 Clinical Genetics and Genomics for Precision Medicine และหลักสูตรที่ 4 Laboratory in Genetics and Genomics for Precision Medicine

โดยสามารถเริ่มลงทะเบียนได้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และเริ่มอบรมในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://bit.ty/3sXPUH หรือ E-mail: athaiyakul@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)