สถาบัน MGIEP ภายใต้องค์การยูเนสโกชี้งานวิจัยชิ้นใหม่ระดับโลก ให้ผู้กำหนดนโยบายประเมินระบบการศึกษาใหม่

สถาบัน MGIEP ภายใต้องค์การยูเนสโกชี้งานวิจัยชิ้นใหม่ระดับโลก ให้ผู้กำหนดนโยบายประเมินระบบการศึกษาใหม่

ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาที่มีการปรับเฉพาะบุคคล

 

พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

...ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา และผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูง จำเป็นต้องตระหนักว่า การศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalised education) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้เรียนทุกคน ตามรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า "จินตนาการถึงการศึกษาแบบใหม่" (Reimagining Education) ของสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยังยืน มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development - MGIEP) ภายใต้องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้นำเผยแพร่ในวันนี้ 

 

รายงานการประเมินด้านการศึกษา  โดยยึดหลักวิทยาศาสตร์และหลักฐานระดับนานาชาติ (International Science and Evidence Based Education Assessment - ISEE) ซึ่งเป็นรายงานระดับโลก ได้สนับสนุนการศึกษาที่ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมุ่งเน้นความรู้คิด และอารมณ์ พร้อมทั้งเสนอให้การกำหนดนโยบายด้านการศึกษาในอนาคตเป็นไปโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์และหลักฐาน

การประเมินดังกล่าวนี้ เริ่มขึ้นในปี 2562 ในเมืองมอนทรีออล และดำเนินการมาแล้วเป็นเวลาสองปี ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนจาก 45 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากกระบวนการปรึกษาหารือระดับโลกกับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลากหลายสาขาวิชา อย่างเช่น ประสาทวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการศึกษาปรัชญาข้อมูลและหลักฐาน และความยั่งยืน

 

จินตนาการถึงการศึกษาแบบใหม่หลังจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19

รายงานดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่โลกกำลังรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลเสียต่อโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)                                                                                                                                  

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของการศึกษาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ยังถูกบั่นทอนอยู่บ่อยครั้งจากความขัดแย้งต่าง ๆ โดยรายงานพบว่ากว่าหนึ่งในสาม (37%) ของผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กวัยประถมไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน และมีเพียง 24% ที่เข้าถึงการศึกษาระดับมัธยม ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในกลุ่มประชากรผู้อพยพอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 3% เท่านั้น

การประเมินครั้งนี้มีส่วนช่วยในการสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอนาคตของการศึกษาเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มั่นคงยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตในปัจจุบันได้

 

เซอร์คีแวน คอลลินส์ (Sir Kevan Collins) ประธานกองทุนเพื่อเยาวชน (Youth Endowment Fund) ในสหราชอาณาจักร และสมาชิกคณะที่ปรึกษาของรายงานการประเมิน ISEE กล่าวว่า

"การประเมิน ISEE เป็นการศึกษาใหม่ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของเรา เพื่อจินตนาการถึงการศึกษาในรูปแบบใหม่ เราได้ใช้แนวทางแบบสหวิทยาการในการรวบรวมสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่เรารู้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการทำงานของเราครอบคลุมโอกาสที่หลากหลายสำหรับเด็ก ๆ

                                                                              

 

ในการทำงานครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ว่าอนาคตเป็นของผู้ที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และรูปแบบการเรียนการสอนที่ยึดกระบวนการคิดแบบมีส่วนร่วมที่เรียกว่า 'whole brain' เป็นศูนย์กลางนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเรายังต้องการสนับสนุนการศึกษา ตลอดจนสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองด้วย อนาคตที่เฟื่องฟูและยั่งยืนสำหรับโลกของเรา ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษาที่เด็กๆของเราทุกคนได้รับ เราต้องมุ่งสานต่อการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่การประเมินนี้จุดประกายขึ้น ให้ยังคงมีการดำเนินต่อไป"

การศึกษาเฉพาะบุคคลเป็นสิทธิมนุษยชน

รายงานนี้สนับสนุนให้รัฐบาลตระหนักว่า การศึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้เรียนทุกคน และเรียกร้องให้มีการลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นแนวทางการศึกษาแบบมุ่งเน้นการรู้คิด อารมณ์ และกระบวนการคิดแบบ whole brain

ประธานร่วมทั้งสองท่านของรายงานการประเมิน ISEE นี้ ได้แก่ อานันธา ดูไรอัปพาห์ (Anantha Duraiappah) ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยังยืนมหาตมะ คานธี และ นินเคอ วาน แอตเวลด์ (Nienke van Atteveldt) อาจารย์มหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universiteit Amsterdam) กล่าวในแถลงการณ์ร่วมกันว่า

 

กว่า 80% ของครู ผู้ปกครอง และ นักเรียนต้องการสิ่งที่การศึกษาในรูปแบบที่ดีเลิศ อย่างเช่น การศึกษาเฉพาะบุคคล จะสามารถให้ได้ในปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นไปได้แล้วด้วยการสนับสนุนการเรียนการสอนแบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ที่มีหลักจริยธรรม เราสามารถทำให้ผู้เรียนแต่ละคน ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างที่พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับ เรียนรู้ตามระดับความสามารถของตนเอง และเป็นมาตรฐานของตนเอง  ในการเพิ่มศักยภาพให้เป็นไปอย่างสูงสุดสำหรับการใช้ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เราต้องรับมือกับปัญหาอย่างเช่นการที่ 40% ของประชากรโลกไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในภาษาที่พวกเขาเข้าใจ ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มั่นคงยืดหยุ่นสำหรับอนาคต 

 

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ ยังสนับสนุนให้นโยบายการศึกษาในอนาคตยึดหลักวิทยาศาสตร์และหลักฐาน ประกอบกับการแลกเปลี่ยนกันระหว่างหลากหลายสาขาวิชา

 

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

สิ่งสำคัญที่รายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำ คือ ผู้กำหนดนโยบายต้องพัฒนานโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้นศักยภาพของบุคคลและประเมินความก้าวหน้าระดับปัจเจกในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน แทนที่จะให้ความสำคัญกับเกรดหรือการประเมิน โดยยึดผลการปฏิบัติและการเปรียบเทียบระหว่างผู้เรียนแต่ละคน

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานนี้ ยังเรียกร้องให้มีความพยายามอย่างเร่งด่วนในการจัดเงินทุนด้านการศึกษาใหม่ เพื่อปรับโครงสร้างหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การวิจัย และการประเมินการเรียนรู้ เพื่อให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบมุ่งเน้นการรู้คิดและอารมณ์

สำหรับอนาคตข้างหน้า รายงานฉบับนี้ ได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายลงทุนในโครงการศึกษาวิจัยด้านการศึกษาในระดับใหญ่ ที่มีการบูรณาการหลากหลายสาขาวิชา เปิดกว้าง และให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคน

 

นาจัต วาลลอด์ เบลกาเซม (Najat Vallaud-Belkacem) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า

 

 

"ข้อค้นพบที่นำเสนอในการประเมินครั้งนี้จะช่วยปูทางสำหรับนโยบายและการตัดสินใจสำหรับระบบการศึกษาในอนาคตอย่างแน่นอน ในช่วงเวลาเช่นนี้ โลกของเราต้องการวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตที่มีความยั่งยืน มั่นคงยืดหยุ่น ยุติธรรม และเป็นธรรมมากขึ้น ข้อค้นพบที่ไม่เหมือนที่อื่นใดของการประเมิน ISEE นี้มีส่วนช่วยในแง่นี้ และได้ให้แนวทางที่แข็งแกร่งสำหรับนโยบายด้านการศึกษาในอนาคต"

  

ดาวน์โหลดรายงานการประเมิน ISEE ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://mgiep.unesco.org/iseeaweb

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)