องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ติดตาม ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและการใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นวันที่ 2

เวลา 09.30 น. องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลวังชมภู อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ รับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานโครงการฯ พร้อมกับลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ โอกาสนี้ คณะฯ ได้พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการเพื่อรับทราบความเป็นอยู่ รวมถึงปัญหาอุปสรรค และความต้องการการใช้น้ำในการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่โครงการ ฯ เพื่อขยายผลต่อยอดโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนาฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2554  ซึ่งได้สร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชน ในการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตามแนวสองฝั่งแม่น้ำป่าสักและพื้นที่ใกล้เคียง  รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อส่งเสริมการเกษตร และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรของราษฎรในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนประมาณ 5,000 ไร่  และได้สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนเสมอมา

 

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า "ให้พิจารณาเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันบรรเทาอุทกภัย เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีมาก และให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม

ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. ได้ประสานให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้ราษฎรสำหรับการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่  ขนาดความจุ 5.65 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนดินแบบ Zone Type มีอาคารระบายน้ำล้น และอาคารท่อส่งน้ำ ขนาด 0.60 เมตร  ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำร้อยละ 3.36 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำ พร้อมอาคารประกอบ 5 สาย ความยาวรวม 17.471 กิโลเมตร (แผนการดำเนินงานปี 2564 - 2567)

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ 1 กลุ่ม คือ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 92 สามัคคีพัฒนาคลองชลประทาน และกลุ่มพื้นฐาน 2 กลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 72 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 1,286 ไร่