องคมนตรีติดตามผลดำเนินงาน มรภ.สงขลาโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

 

วันที่ 7 เมษายน 2565 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ มรภ.สงขลา กล่าวต้อนรับโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุป การผลิตและพัฒนาครู” “การยกระดับคุณภาพการศึกษาจากคณบดีคณะต่าง ๆ และรับฟังการบรรยายสรุป โครงการพัฒนา Soft Skills ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคมโดย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา

โอกาสเดียวกันนี้ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้พบปะผู้แทนนักศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการศึกษา พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมคณะครุศาสตร์ ณ ห้องปฏิบัติการหลักสูตรปฐมวัย ห้อง 401 ชั้น 4 โดยมีคณาจารย์และตัวแทนนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อให้สามารถเติมเต็มความรู้และการศึกษาให้กับเด็กได้อย่างไม่ขาดช่วง และเป็นทางเลือกใหม่ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

นอกจากนั้น องคมนตรี ยังได้เยี่ยมชมแนวทางการจัดการเรียนการสอน ณ อาคารสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษและบุคคลพิการ ตลอดจนให้บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างอาชีพ สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา ทั้งยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ มรภ.สงขลา มีปรัชญาที่จะพัฒนาสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้สู่สากล วางแนวทางนำเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นสู่สากล โดยการผลิตบัณฑิต ดำเนินงานวิจัยและให้บริการทางวิชาการเพื่อสนองตอบความต้องการด้านการพัฒนาท้องถิ่น และดำเนินการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบและให้บริการวิชาการจำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และ จังหวัดสตูล 

ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี มรภ.สงขลา ได้ทำหน้าที่เป็น มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง กำหนดจุดมุ่งหมายด้านการผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรอบรู้ มีทักษะทางวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานในพื้นที่ เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพระดับสากล เป็นผู้สืบสานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น นำเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นสู่สากลอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีการจัดการเรียนการสอนใน 7 คณะ 1 วิทยาลัย ซึ่งมีหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 60 หลักสูตร ทุกหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น