ที่ปารีส "ตรีนุช"เรียกร้องบนเวทียูเนสโก ให้ใส่ใจคนรุ่นใหม่

 

จับกระแสข่าวเด่น

 

ที่ปารีส...'ตรีนุช'เรียกร้องบนเวทียูเนสโก ครั้งที่ 214

ใส่ใจคนรุ่นใหม่-การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องกระจายอำนาจ

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน 

 

รอฟังอยู่ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 214 (The 214th Session of the Executive Board) ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 30 มีนาคม-13 เมษายน 2565 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ที่มี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุม จะมีอะไรเป็นความสำคัญนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้คนไทยได้รับทราบกันบ้าง

 

 

เห็นว่า ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธาน Thai Nat Com, ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดฯและศธ.โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ  ในฐานะเลขาธิการ Thai Nat Com และนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัด ศธ. เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

 

พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะเริ่มต้นไปแล้วเมื่อ วันที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส) โดย ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก Ms Audrey Azoulay  กล่าวถึงวิกฤตสถานการณ์ในยูเครน ที่ส่งผลให้ยูเนสโกจำเป็นต้องดำเนินบทบาททั้ง 5 สาขา การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน  ตลอดการระดมทรัพยากรในการฟื้นฟูยูเครน ให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

 

 

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอฟริกา และ ความเสมอภาคระหว่างเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการสร้างสันติภาพ การศึกษาของผู้หญิงและผู้เด็กหญิง โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญ

 

ว่าไปแล้ว ในฐานะที่ยูเนสโก เป็นองค์การหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 4 (SDG 4) ในปี มุ่งมั่นที่จะผลักดันเพื่อให้ไปถึงบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยจะมีการประชุมสำคัญต่าง ๆ ตามมา ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกระทรวงศึกษาธิการไทย มิใช่น้อย

 

อาทิ การประชุมด้านการศึกษาปฐมวัย (World Conference on Early Childhood Care and Education : Early investment for better future and brighter future) ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศอุสเบกิสถาน และ การประชุมนานาชาติด้านการศึกษาผู้ใหญ่ (International Conference on Adult Education : CONFINTEA) ที่ประเทศโมรอกโก

 

โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาดิจิทัลทางการศึกษา และส่งเสริมการพัฒนาสื่อการเรียนออนไลน์ รวมทั้งโปรแกรมสำคัญต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบันเชื่อมต่อโลกอนาคต อีกด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม โอกาสดีของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.แห่งประเทศไทย ที่มาพร้อมกับนานาประเทศสมาชิก ตรงที่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก กรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ให้กล่าวถ้อยแถลง เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาและดำเนินการภายใต้กรอบยูเนสโก ประเทศละไม่เกิน 6 นาที

 

โดยเฉพาะ ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. ทำหน้าที่ค่อนข้างดีที่มีรายละเอียดแจ้งว่า น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงช่วงเช้าของวันที่ 5 เมษายน 2565 ซึ่งมีประเด็นพิเศษที่ น.ส.ตรีนุชจะแสดงในเวทีโลกครั้งนี้ จะได้แสดงถึงความมุ่งหวังที่จะพัฒนายูเนสโกให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจและแผนงานให้บรรลุผล โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ให้บรรลุผลภายในปี ค.ศ.2030

 

ตรงนี้นี่แหละ เป็นสิ่งที่สังคมต่างพากันคาดหวังไว้สูงอยู่ว่า คงจะได้เห็นภาพในลักษณะประเด็นพิเศษปรากฏในถ้อยแถลง ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะกึกก้องในเวทีโลกสู่การรับรู้ถึงผู้คนในประเทศไทย โดยเฉพาะคนในวงการศึกษา

...และคาดหวังจากหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง คือ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ ของ กระทรวงศึกษาธิการ (ปชส.ศธ.) ที่มีการใช้ช่องทางการสื่อสารอย่างหลากหลาย ค่อนข้างครอบคลุมในทุกแฟลตฟรอมในการสื่อสาร

ไม่ควรเอาแต่นั่งมองและเฝ้ารออยู่เฉย ๆ ควรมีสามัญสำนึกในการทำหน้าที่และดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาด ในการติดตามประเด็นที่ผู้นำองค์กรของตน ในฐานะผู้แทนจากประเทศไทย ได้มีโอกาสนำเสนอบนเวทีโลก...

กลับมีแต่ความว่างเปล่า ทั้ง ๆ ที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โลกทั้งใบสามารถเชื่อมต่อรับรู้ถึงกันด้วยเทคโนโลยีแค่นิ้วสัมผัส  

  

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด  edunewssiam ได้รับข่าวสารอันเป็นถ้อยแถลง ของ น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 214 แม้ไม่ได้มาจาก ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ดร. วีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ.ผู้ทำหน้าที่โฆษก ศธ.ก็ตาม แต่ประชาสัมพันธ์องค์กร ปชส.ศธ.ก็ยังมีช่องทางการสื่อสาร โดยไม่ต้องรอนานถึง 2-3 วัน จึงได้เห็น 

 

แต่ข่าวพร้อมภาพ นี้ได้เห็น จาก กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ใกล้ ๆ ปชส.ศธ. เมื่อ วันที่ 7 เมษายน 2565 ที่ว่า

 

 

...ประเทศไทยสนับสนุนให้ยูเนสโก ขับเคลื่อนความร่วมมือในประเทศสมาชิก ในลักษณะโครงการข้ามสาขาวิชา (cross cutting theme) เพื่อให้ประหยัดทรัพยากร และได้ผลลัพธ์แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ในหลายๆเป้าหมายด้วย

 

น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมยูเนสโกที่ให้การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเยาวชน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่กระตุ้นให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สำคัญในระดับโลก และเชิญชวนให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมผ่านกลไกของความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับโลก โดยความร่วมมือเช่นนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสันติภาพและทางออกที่สร้างสรรค์ในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้แสดงท่าทีสนับสนุนให้ยูเนสโก กระจายอำนาจไปยังสำนักงานส่วนภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสำนักงานยูเนสโกในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมของการทำงานในเชิงบวก ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพงานยูเนสโกในองค์รวม โดยไทยพร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์การเคลื่อนทรัพยากรของยูเนสโก ปี ค.ศ. 2022 – 2023  ให้การบรรลุผลลัพธ์ในแผนปฏิบัติการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของยูเนสโก ปี ค.ศ. 2023 – 2027 อีกด้วย

 

อีกทั้ง เสนอแนะถึงยูเนสโกต้องกระจายอำนาจ และบูรณาการสาขางานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) คือ แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report, 1987) โดยการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection)

 

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวปิดท้ายว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 ร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพฯ โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีร่วมวิเคราะห์ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 4 ภายหลังผลกระทบของโควิด

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและ ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดศธ. ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางกลับมาจากประชุมยูเนสโก้แล้ว น่าจะทำการยกเครื่องประชาสัมพันธ์ กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งใหญ่ สักทีก็จะเป็นการดีมิใช่น้อย

เนื่องจาก บนเวทีโลก วิสัยทัศน์ ของ รมว.ศธ.กว้างไกล แต่ ปชส.ศธ.ทำได้แค่เป็น “ม้าส่งนม”  

ขอบคุณ : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมภาพ เมื่อ วันที่ 7 เมษายน 2565

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)