41 ปี จากโรงเรียนพระดาบส สู่อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ

 

41 ปี จากโรงเรียนพระดาบส สู่อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ 

“…ขณะนี้ ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง  มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหา  ไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆ ได้  หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เขาปรารถนา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของมูลนิธิพระดาบส เมื่อ พศ. 2518  (อ้างอิงหนังสือเรื่อง โรงเรียนพระดาบส โอกาสครั้งที่สองของชีวิต) ที่ก่อเกิดมูลนิธิพระดาบสและโรงเรียนพระดาบส ตราบจนปัจจุบัน

เกริ่นนำ : ปฐมบท โรงเรียนพระดาบส สู่ อาชีวะพระดาบส แสงทองทาบทอสู่พื้นดิน

พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของมูลนิธิพระดาบส ได้บันทึกเรื่องราวนี้รวมถึงถ่ายทอดพระราชกระแสพระราชทานในเรื่องดังกล่าว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ความตอนหนึ่งว่า ....พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้ง ถึงเหตุที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อย ตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ขาดโอกาสเล่าเรียน ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมอมา...

ข้อมูลบันทึกว่า ช่องทางช่วยเหลือในยุคสมัยนั้น ไม่สามารถจัดผ่านระบบการศึกษาปกติได้เพราะโรงเรียนวิชาชีพ เช่น โรงเรียนอาชีวศึกษา โรงเรียนการช่าง วิทยาลัยเทคนิค สถาบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนมีข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียน เช่น กำหนดพื้นฐานความรู้ อายุ เป็นต้น 

ส่วนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ก็มีเพียงแก้ไขปัญหาผู้ใหญ่ไม่รู้หนังสือให้อ่านออกเขียนได้และเป็นพลเมืองดี  ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องอาชีพการงาน

พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ ขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ถวายงานด้านวิทยุสื่อสาร เล่าต่ออีกว่า...วันหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร เสด็จฯ กลับจากการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วันที่ ๑๘ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๑๘ ) ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงพระราชดำริในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่ใฝ่รู้อยากเรียนวิชาชีพว่า

“...ถ้าเขาพอใจจะเรียน ให้นำมาฝึกอบรมโดยไม่จำกัดพื้นฐานความรู้ ไม่จำกัดเพศ วัย ศาสนา ใช้วิธีเลี้ยงในบ้านให้เขากินฟรี อยู่ฟรี สอนฟรี เจ็บป่วยมีหมอหลวงรักษาให้ มีโอกาสก็อบรมไป สอนไป จนกระทั่งเขามีความรู้พอไปประกอบอาชีพได้...

พระองค์ท่านรับสั่งกับผมว่า เมื่อผมมีความรู้ทางนี้ ก็ให้ทดลองหลักสูตรช่างวิทยุก่อน เนื่องจากผมมีความรู้ทางนี้ แล้วมีการเฝ้า มีการรับสั่งมา ผมได้ทำเป็นหลักสูตรเรียกว่าแบบโรงเรียนอาชีวะเลย พอเสนอขึ้นไป พระองค์ท่านทรงตรัสว่า ทำอะไรเพ้อเจ้อใหญ่โต อันนี้เป็นการศึกษานอกระบบ ไม่ใช่ศึกษาแบบโรงเรียนสามัญให้ใช้เป็นวิธีการศึกษานอกระบบ ครูบาอาจารย์ท่านจะมาสอนเมื่อไหร่ มีเวลาว่างเมื่อไรท่านก็มาสอน  สิ่งสำคัญอย่าไปเก็บค่าเล่าเรียนเขา เพราะเด็กพวกนี้ไม่มีสตางค์ ให้ทำเป็น non – commercial ไม่ใช่ธุรกิจ

พล.ต.ต.สุชาติ เล่าถึงความใส่พระราชหฤทัยอย่างจริงจังในการพระราชทานโอกาสครั้งที่สองของชีวิต คือ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา ร่างโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิชาช่าง ประกอบด้วย หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ เป็นประธาน ดร. เชาวน์ ณศีลวันต์ คุณหญิง สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย และ นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นกรรมการ

คณะทำงาน จึงจัดตั้งในรูปแบบโรงเรียนช่างแบบนอกระบบ non – formal education หลักสูตรเน้นภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบปกติมีโอกาสเรียนวิชาช่าง ในระดับที่ใช้ประกอบอาชีพได้  ผู้เรียนจบไม่จำเป็นต้องได้รับคุณวุฒิเช่นเดียวกับของรัฐ ขอให้ประกอบอาชีพได้จริงและอบรมให้เป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว

โรงเรียนช่างแบบนอกระบบนี้  จึงเป็นมิติใหม่นอกระบบการศึกษาปกติของประเทศไทย ซึ่งไม่เคยจัดตั้งมาก่อน ในยุคนั้น เอกชนใดจะจัดการให้การศึกษาแก่นักเรียนเกินกว่า ๗ คนขึ้นไป ต้องขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๙๗  ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อเป็นเช่นนั้น คณะทำงานถวายความเห็นว่า... ควรจัดตั้งเป็นโรงเรียนอาชีวะหลักสูตรพิเศษ ในมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการศึกษา ชื่อโรงเรียนราชศิลป์ หรืออานันทอุปถัมภ์ หรือ อานันทานุสรณ์ เปิดสอนวิชาช่างวิทยุและไฟฟ้า รับนักเรียน มศ.๓ สมัครเรียนต้องตั้งใจ เต็มใจ สนใจอาชีพอย่างแท้จริงราว ๒๐ คน แบ่งการสอนเป็นรอบ รอบละ ๖ ๗ คน ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน

ถึงกระนั้น ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของพระองค์ ทรงเห็นว่า เนื่องจากโรงเรียนนอกระบบตามพระราชดำริ ควรต้องแตกต่างจากโรงเรียนในระบบโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ควรให้โอกาสอย่างเต็มที่แก่ผู้ที่มีความตั้งใจและความอดทน  ตลอดจนผู้ด้อยโอกาส ได้มีความรู้ในวิชาอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัว จะเป็นการลดปัญหาสังคมได้มากมาย ไม่ว่าเรื่องยาเสพติดและอาชญากรรมต่าง ๆ

 

ดังนั้นโรงเรียนช่างแบบนอกระบบ ต้องไม่กำหนดพื้นความรู้ขั้นต่ำ เพศ วัย และศาสนา รวมทั้งให้อยู่ประจำในโรงเรียนจนกว่าจะเรียนจบ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ที่พัก และอาหาร วิธีการและกระบวนการสั่งสอนก็แตกต่างจากโรงเรียนในระบบ โดยจะใช้การประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาแบบพระดาบสในสมัยโบราณ

โครงการพระดาบส  : โรงเรียนอาชีวะหลักสูตรพิเศษ ในมูลนิธิอานันทมหิดลฯ โดยพระราชทานเงิน ที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๑๘ จำนวน  ,๕๗๒,๐๐๐ บาท

จากบันทึกความของ พล.ต.ต.สุชาติ  เผือกสกนธ์ กล่าวถึงอีกว่า ...พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ทรงเชื่อว่าในบ้านเมืองเรามีผู้ทรงความรู้และมีจิตใจดีอยู่มากที่ จะทำหน้าที่พระดาบส  เพื่อให้ศิษย์มีวิชาชีพเลี้ยงตนได้ และเป็นผู้มีศีลธรรม มีน้ำใจช่วยเหลือส่วนรวมได้

ดังนั้น...โรงเรียนช่างแบบนอกระบบนี้ จึงเป็นนวัตกรรมการศึกษาของไทยที่ก้าวล้ำไปกว่าภาครัฐและยังไม่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งขึ้นเป็น โรงเรียน พระองค์ทรงแก้ไขอุปสรรคโดยการจัดตั้งเป็น โครงการทดลอง เล็ก ๆ เสียก่อน  สอนผู้เรียนไม่เกิน ๗ คน ไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เรียก โครงการพระดาบสในความอุปถัมภ์ ของมูลนิธิอานันทมหิดล โดยพระราชทานเงินที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๑๘ จำนวน ๒,๕๗๒,๐๐๐ บาทเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ

พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ ได้เล่าต่อถึงเหตุผลที่พระองค์ทรงเลือกวิธีการถ่ายทอดศิลปวิทยาแบบพระดาบสว่า...

...พระดาบส เป็นผู้ทรงศีลถึงพร้อมด้วยความรู้และเมตตาที่จะถ่ายทอดให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ศิษย์ต้องมีความพอใจอยากเรียน อ่อนน้อม และเต็มใจปรนนิบัติท่าน เกิดสัมพันธภาพงดงามระหว่างครูและศิษย์ และเป็นหนทางที่ศิษย์จะได้เรียนรู้การงานอาชีพควบคู่ไปกับความดีงาม...

 “…ใช้หลักการอย่างที่พระองค์รับสั่งว่า สอนแบบที่เหมือนกับสอนคนในบ้าน ท่านรับสั่งว่าในปัจจุบันครูกับนักเรียนมันห่างกัน นักเรียนมักถือว่าครูเป็นลูกจ้าง คือ การปฏิบัติตนระหว่างลูกศิษย์กับครูไม่เคารพกัน  ที่เราใช้วิธีการนี้มันก็จะทำให้ช่องว่างระหว่างครูบาอาจารย์กับนักเรียนมันใกล้เข้ามา เด็กไม่ต้องไปหาวิชาที่อื่น เรียนกันอยู่ในบ้าน เรียนกันอยู่ในครอบครัว…”

จากบทพระราชนิพนธ์ ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง โรงเรียนพระดาบสพ.ศ. ๒๕๒๐ สะท้อนผลการดำเนินงานส่วนหนึ่ง ดังนี้

“…เท่าที่ได้เปิดสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ (เป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว) โดยมีนักเรียนรุ่นแรก ๖ คน นับว่าได้ผลดีมาก  กล่าวคือ เดิมกำหนดไว้ว่า นักเรียนจะมีความรู้ในการสร้างซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุได้ในเวลา ๑ ปี  เมื่อปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ใช้เวลาเพียง ๙ เดือน และการที่ทางโรงเรียนได้เปิดรับงานซ่อมเครื่องไฟฟ้า วิทยุ ติดตั้งไฟ ไฟอาคาร เท่ากับการหารายได้แก่นักเรียนในรูปสหกรณ์ด้วย เมื่อจบหลักสูตรข้างต้นโดยขยายเปิดสอนความรู้ที่สูงขึ้น รวมทั้งเปิดรับนักเรียนใหม่ในขั้นต้นและเปิดวิชาอื่น คือ ช่างเครื่องยนต์และช่างประปา เท่าที่แล้วมานั้น นักเรียนทุกคน เคารพรักเชื่อฟังอาจารย์  มีน้ำใจในการปรนนิบัติรับใช้ และมีศีลธรรมเป็นพลเมืองดีของชาติ สำหรับค่าใช้จ่ายในโครงการนั้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว บริษัท ห้างร้านและเอกชน ได้บริจาคสิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ และแรงงานโดยเสด็จฯ มากมาย ตามพระราชดำริอันมีมาแต่แรกนั้น ดาบสจะไม่สอนเฉพาะวิชาช่างวิทยุ ช่างเครื่องเท่านั้น ต่อไปเมื่อมีโอกาส จะมี ดาบสที่ชำนาญในวิชาแขนงอื่นๆ เช่น วิชาศิลปะ วิชาภาษาต่างประเทศ วิชาประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งจะเปิดสอนตามความเหมาะสม…”

ท่าน ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เขียนถึงโครงการลูกพระดาบส ไว้ว่า...

...โครงการลูกพระดาบส คือโครงการในพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  พระราชทานพระบรมราชานุญาตทรงให้จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมการเกษตรแบบผสมผสานในลักษณะพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สมุนไพร การใช้พลังงานทดแทน และอื่นๆ

เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของศิษย์พระดาบส หลักสูตรการเกษตรพอเพียงและช่างไม้เครื่องเรือนของโรงเรียนพระดาบส การศึกษา ค้นคว้าวิจัย และพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติงาน และศึกษาดูงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไป

โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของสำนักพระราชวัง มูลนิธิพระดาบส และจังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้ปรัชญา คือ การสนองพระราชดำริ ทรงให้โอกาสสร้างคนดี มีวิชาชีพเพื่อกลับคืนสู่สังคม...

โรงเรียนพระดาบส เปิดสอนรุ่น 1 เมื่อปี 2519 มีทั้งหมด 8 หลักสูตร ซึ่งศิษย์พระดาบส (ชาย) จะได้เลือกเรียนในสาขาที่ตนมีความรู้ความถนัดใน 7 หลักสูตร ได้แก่ 1. วิชาชีพช่างยนต์ 2. วิชาชีพช่างไฟฟ้า 3. วิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ 4. วิชาชีพช่างซ่อมบำรุง 5. วิชาชีพการเกษตรพอเพียง 6. วิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน และ 7. วิชาชีพช่างเชื่อม เนื้อหาการเรียนการสอนในแต่ละหลักสูตร จะมีความเข้มข้นอย่างมาก สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของโรงเรียนที่ต้องการเห็นศิษย์ทุกคนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปฏิบัติงาน หาเลี้ยงชีพได้จริง

          ขณะที่ศิษย์พระดาบส (หญิง) จะเข้าเรียนในหลักสูตรเคหะบริบาล เรียนรู้การดูแลสุขภาพพื้นฐาน เพื่อดูแลผู้สูงอายุและเด็ก หรือ งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จาก โรงเรียนพระดาบส” : สู่ โครงการ อาชีวะพระดาบสการสืบสานพระราชปณิธาน กลุ่มสถานศึกษาสังกัด สอศ.นำร่อง 12 แห่ง

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพ ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยการสืบสานพระราชปณิธานด้านการช่างการอาชีพในระบบมาอย่างต่อเนื่อง

และจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระราชดำริให้เกิดการเรียนการสอนสายอาชีพ  โดยเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาสเพื่อให้เยาวชนคนทั่วไป ได้มีโอกาสหาความรู้ความสามารถทักษะฝีมือเพื่อเป็นเครื่องมือในการไปทำอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลตัวเองครอบครัวสร้างฐานะด้วยวิถีแห่งคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มีความสำนึกในความกตัญญู เป็นกำลังช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองและที่สำคัญมีสำนึกเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนอันเกิดจากความโลภเป็นที่ตั้ง

สอศ.ได้สืบสานพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร โดยจัดการเรียนการสอนแบบให้โอกาสเยาวชนทั่วไป ตลอดครอบครัวยากจน ประชาชนที่ด้อยโอกาส  เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่อาจเรียนในระบบปรกติได้ แต่มีความต้องการอยากเรียนอยากมีทักษะฝีมือในการทำอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม

จึงได้จัดการเรียนการสอนตามแนวพระราชดำริโรงเรียนพระดาบส คือ โครงการ อาชีวะพระดาบสขึ้นมาในกลุ่มสถานศึกษาสังกัด สอศ.นำร่อง 12 แห่ง  รับเข้าเรียนแบบเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี  รุ่นละไม่เกิน 30 คน  ด้วยงบประมาณของ สอศ. ในการดำเนินงาน   และทั้งหมดนี้ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพ ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน มีอาชีพ มีงานทำร้อยละ 100

จึงเป็นที่มาของ การจัดทำโครงการอาชีวะพระดาบส ในสถานศึกษาภาครัฐ จากเดิม 12 แห่ง เพิ่มขึ้นอีก 18 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมจำนวน 30 แห่ง โดย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ.เป็นผู้คัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการอาชีวะพระดาบส  ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอดำเนินโครงการ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบ พ.ศ. 2566-2575 กรอบวงเงิน 1,169 ล้านบาท

การเกิดโครงการอาชีวะพระดาบส เพื่อผลิตนักเรียนช่างสืบสานพระราชดำริของพระราชา ย่อมเป็นประโยชน์สุขแท้จริงกับคนไทย ประเทศไทย อย่างมหาศาล  การจัดการเรียนการสอนนี้   ซึ่งทางสำนักข่าว การศึกษาออนไลน์ edunewssiam เห็นคุณค่าและความดีงามจากโครงการนี้ ที่สังคมจะได้รับทั่วกัน

รายงานพิเศษ edunewssiam ตอนที่ 1

เสกสรร สิทธาคม

(โปรดติดตาม 41 ปี จากโรงเรียนพระดาบส สู่อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ ตอนต่อไป)

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)