ตั้งสติก่อนสตาร์ท กลับบ้านสงกรานต์ 2565 ปลอดภัย

 

ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย 2565 รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

 

สสส.-สคอ.-มหาดไทย-กรมขนส่งทางบก ผนึกกำลังลดอุบัติเหตุสงกรานต์ 65 เข้มตรวจสารเสพติดผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ เป่าแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ เผยอุบัติเหตุขับเร็ว ดื่มแล้วขับ มาอันดับต้นๆ ชวนคนไทยตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ดื่มไม่ขับ-ลดความเร็ว-คาดเข็มขัด-สวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่ ลดเสี่ยง ลดตาย

 

 

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ 2,365 ครั้ง บาดเจ็บ 2,357 คน เสียชีวิต 277 ราย ช่วงวันที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ วันที่ 12-13 และ 14 เมษายน เป็นวันที่มีการดื่มฉลองอย่างหนัก พบผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 69 ราย 43 ราย และ 40 ราย ตามลำดับ นอกจากนี้สาเหตุหลักการเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็ว 48.93 ดื่มแล้วขับ 21.29 ตัดหน้ากระชั้นชิด 16.74 

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยกตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้เห็นถึงภัยบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ดังนั้น สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนตลอดจนการให้องค์ความรู้เรื่องดูแลและป้องกันโควิด-19  ด้วยความห่วงใยว่า ช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวหลายวัน ยิ่งต้องเน้นย้ำเรื่อง ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว และ งด เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องขับขี่ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

 

 

 สงกรานต์ปีนี้ สสส.ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ผลิตสื่อสปอตและคลิปวิดีโอ สื่อสารผ่านสื่อหลักและออนไลน์และ เพื่อชวนคนไทยตั้งสติ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ดื่มแล้วขับ” ที่แอลกอฮอล์ในเลือด 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุถึง 40 เท่า, “ขับรถเร็ว” หากเกิดการชนที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง = ตกตึก ชั้น, “สวมหมวกนิรภัย” ลดการเสียชีวิตได้ถึง 39% และ คาดเข็มขัด” ช่วยลดการบาดเจ็บทั่วไปถึง50%  เพื่อให้กลับไปถึงบ้าน กลับไปหาคนที่รักอย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังรณรงค์เที่ยวสงกรานต์วิถีใหม่ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19”ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

 

ขณะที่ นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ในช่วงสงกรานต์ สคอ.มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นเน้น ควบคุมขับเร็ว ดื่มแล้วขับ การจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นดูแลพิเศษห้ามขายให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนี้จุดตรวจ-จุดบริการ เสนอปรับเป็นหน่วยลาดตระเวน-เฝ้าระวังงานเลี้ยงสังสรรค์ สกัดคนดื่มแล้วขับ เตือนลดความเร็ว เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง  ส่วนคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยต้องมีส่วนช่วยระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะหากผิดพลาดมีความสูญเสียเกิดขึ้น ทุกคนที่อยู่ในรถ ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ขอให้ ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท” เพื่อเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์พร้อมกันอย่างปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน

 

ตามด้วยนายวิทยา จันทร์เสนะ  ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุถึงจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บที่เกิดบนถนน อปท. จำนวนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนใหญ่ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จึงเน้นการบริหารจัดการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน อาสาสมัคร และประชาชนเข้ามีส่วนร่วม เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ได้กำหนดตัวชี้วัด ระดับ คือ...

 

 

ระดับภาพรวม เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตในพฤติกรรมเสี่ยงหลักไในระดับหน่วยงาน ลดลงไม่น้อยกว่า 5% จำนวนเด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ลดลงไม่น้อยกว่า 5% และระดับพื้นที่ อำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง 24 อำเภอ สีส้ม 115 อำเภอ สีเหลือง 378 อำเภอ และสีเขียว 411อำเภอ จำนวนผู้เสียชีวิตในอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง และจำนวนผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุของจังหวัด ลดลงไม่น้อยกว่า 5 %  

 

เน้นย้ำจำนวนผู้ขับขี่ที่ถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วทำให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต

 

 

ส่วน นางวิลาวัลย์ คันโททอง นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการตรวจหาสารเสพติดของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะก่อนนำรถออกให้บริการทุกครั้ง มีการตั้งจุดตรวจตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ตรวจการขนส่งประจำ ณ จุดตรวจ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของรถและพนักงานขับรถ การใช้ความเร็ว ชั่วโมงการทำงานอุบัติเหตุ  เพื่อให้คนขับรถทุกคันมีคุณภาพและได้มาตรฐาน 

 

  

 

กล่าวอีกว่า หากพบความผิดกรณีไม่ปฏิบัติตามหรือพนักงานขับรถบกพร่อง จะตักเตือน เปรียบเทียบปรับ ออกคำสั่งผู้ตรวจการ นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป และกรมการขนส่งทางบกยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรม ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย” ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 เมษายน 2565 เพื่อให้บริการตรวจสภาพความพร้อมของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยไม่คิดค่าบริการ เช่น การตรวจสภาพยาง เบรก การทำงานของเครื่องยนต์ หม้อน้ำและรอยรั่ว และไฟสัญญาณ เพื่อให้ทุกท่านมีความปลอดภัยในการเดินทาง