เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา 12 สิงหาคม อาชีวศึกษาอุบลฯ รังสรรค์ 26 ลายอัตลักษณ์ผ้าไทยท้องถิ่น เป็นผีเสื้อแห่งความภักดี สุดอลังการ

 

เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา 12 สิงหาคม อาชีวศึกษาอุบลฯ รังสรรค์ 26 ลายอัตลักษณ์ผ้าไทยท้องถิ่น เป็นผีเสื้อแห่งความภักดี สุดอลังการ

 

อาชีวะอุบลฯ เปิดบ้านต้อนรับคณะกรรมการดำเนินการการประดิษฐ์ผีเสื้อ เตรียมพร้อมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

 

 

 

เมื่อ 25 เมษายน 2565 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมศรีอุปราช วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นางสาวธนิดา  วรรณแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ ผู้แทนนางลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นำตัวแทนคณะครู ต้อนรับคณะกรรมการดำเนินการการประดิษฐ์ผีเสื้อ เพื่อนำไประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565  โดยมี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เข้าร่วมประชุม

 

 

 

นายธาตรี พิบูลมณฑา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ประธานการประชุมกำหนดรวมพลังหน่วยงานและประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยรัฐบาลกำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 - 15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร ผีเสื้อที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมพลังจัดทำในครั้งนี้ จะได้นำไปจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศภายในงานด้วย  และในส่วนจังหวัดอุบลราชธานี นั้นมีกำหนดจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ  ณ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ตลอดเดือนสิงหาคม 2565 ภายใต้ชื่อ "ดอกไม้และผีเสื้อแห่งความภักดี"

 

 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผีเสื้อที่สวยงามพร้อมส่งให้กระทรวงมหาดไทย จำนวน 90 ตัว โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี จัดหาผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าอัตลักษณ์ของอำเภอทั้ง 25 อำเภอ และผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี รวม 26 ลาย เพื่อใช้ในการประดิษฐ์ผีเสื้อตามต้นแบบการจัด โดยจะมีการจัดอบรมประดิษฐ์ผีเสื้อขึ้น ในวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุม ศอ.ศอ.อนุสรณ์ 2563  สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดอุบลราชธานี

 

 

 

นายธาตรี กล่าวด้วยว่า ทางจังหวัด ได้มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ดำเนินการประดิษฐ์ผีเสื้อต้นแบบ ขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ พร้อมนำตัวแทนครูเป็นวิทยากรฝึกอบรม ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ กศน.อุบลราชธานี เป็นต้นแบบ ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้นแบบ จำนวน 160 คน  อาทิ สมาคมช่างตัดเสื้อ, คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, หอการค้าจังหวัด, ครูและนักเรียนกศน., กลุ่มอาชีพ OTOP, เยาวชน,นักศึกษา ม.อุบลฯ,นักศึกษา ม.ราชภัฏอุบลฯ, นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลฯ, สมาคมคนพิการ, สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7, ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ และแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี  พร้อมขยายผลไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเยาวชนและประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ที่พร้อมรวมพลังจัดทำผีเสื้อเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

“...ในส่วนผีเสื้อขนาดใหญ่ ขนาด 1 เมตรขึ้นไป จังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ แผนกวิชาช่างเชื่อม วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จัดทำโครงร่างผีเสื้อขนาดใหญ่ สำหรับนำมาประดิษฐ์ตกแต่งด้วยผ้าพื้นเมืองของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป” นายธาตรี พิบูลมณฑา ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)