สบพท.เคลื่อน! หนุนคืนอำนาจ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ-ค้านร่าง กม.ศึกษาชาติ

ส.นักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานฯเคลื่อน!

หนุนคืนอำนาจ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ-ค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานถึงมติสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (สบพท.) จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม สบพท. และสมาชิกสมาคม สบพท. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์ เมื่อเร็วๆ นี้

โดยในประเด็นสำคัญที่ 1 เกี่ยวกับการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ มีการเสนอพิจารณา 2 แนวทาง คือแนวทางที่ ๑ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ร่างๆ ที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องที่ ๑๐๒๕/๒๕๖๔) และแนวทางที่ ๒ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ (ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร) 

ซึ่งมติที่ประชุมสนับสนุนแนวทางที่ ๒ คือให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนของสมาคม/ชมรมดังต่อไปนี้

๑.สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (สบพท.) จัดทำข้อความ/ป้ายประชาสัมพันธ์ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยสะดวก เพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

๒.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำป้ายประชาสัมพันธ์/เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อความสนับสนุนแนวทางที่ ๒ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ website, webpage หรือสื่อ socialmedia อื่นๆ

๓.สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ทำหนังสือชี้แจง/แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ได้รับรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขอความร่วมมือผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 3 หรือเขตเดียวในจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับทุกเขตพื้นที่ในจังหวัด เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้บรรลุเป้าหมาย

๔.ดาวกระจายเข้าพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ เพื่อยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนตาม ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร

๕.กำหนดวันดาวกระจายของทุกพื้นที่การศึกษาไม่เกินวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ (รัฐสภาเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ของปี พ.ศ.2565 วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

ประเด็นพิจารณาของคณะกรรมการบริหารสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และสมาชิกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เรื่องที่ ๒ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...(ร่างฯที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้วเรื่องเสร็จที่ ๖๖๐/๒๕๖๔) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...สภาร่วม ส.ส.-ส.ว. กำลังพิจารณาเป็นรายมาตรานั้น

เป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังมีข้อกังวลใจ

ดังนั้น มติที่ประชุมสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (สบพท.) จึงไม่เห็นด้วยกับบางมาตราใน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...กำลังพิจารณา 

กล่าวคือ การที่มีสมาชิกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมาธิการฯอาจไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจที่อยากคิดอยากทำ แต่อาจถูกอำนาจฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ อาจไม่รอบคอบ และรวบรัดเกินไป จนทำให้ประเด็นที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากังวลใจ อาจตกหล่นไป อาทิเช่น

๑.การไม่กำหนดโครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ ๒.หลักประกันของความเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ๓.ศักดิ์ตรีของสภาครู และ ๔.การลดความเหลื่อมล้ำของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนของสมาคม/ชมรม ให้ดำเนินการดังนี้

๑.สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย โดยทีมวิชาการ จัดทำแบบสอบถามให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตอบแบบสอบถามเพื่อสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ไปยื่นต่อรัฐสภา

๒.สมาคมฯทำหนังสือชี้แจง/แสดงจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ได้รับรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขอความร่วมมือผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑ หรือเขตเดียวในจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับทุกเขตพื้นที่ในจังหวัด เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย

๓.ขอความร่วมมือเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ประสานงานตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างน้อยเขต ๑ คน เพื่อสื่อสารให้สมาชิกรัฐสภาได้รับรู้ถึงความรู้สึกและข้อกังวลใจที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาร่วม ส.ส.-ส.ว. กำลังพิจารณา โดยจะกำหนดวัน เวลา นัดหมายอีกครั้ง

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)