ครูผู้เสียสละ! ขี่ จยย.จากเมืองเข้าป่าสตูล เดินขึ้นควนสอนหนังสือเด็กมานิ

พบครูสุดเสียสละ สอนภาษาไทย-คณิตฯ ขี่จยย.จากเมืองเข้าป่าสตูล เดินเท้าขึ้นควนสู่ทับ สอนหนังสือเด็กชาวมานิ ทุกเสาร์-อาทิตย์-ขัตฤกษ์ มานาน 4 ปี 

จากการติดตามโลกโซเชียลของ สำนักข่าว Edunewssiam พบคลิปใเฟสบุ๊กที่นำเสนอโดย ช่อง  7  สีและ Thai PBS  น้อง ๆ ชาวมานิ บ้านวังนาในควนทับเฒ่าเพียวบนเขา นั่งกันเป็นกลุ่ม และท่องอ่านอักษร พยัญชนะ คำภาษาไทย ก ข ฃ ค ส่งเสียงท่องแบบชัดทุกๆคำ โดยมีผู้หญิงคนหนึ่ง สวมใส่เสื้อสีเหลือง และสวมหมวกสีเหลือง คอยชี้ให้คำแนะนำ สอนสั่งด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังดังชัด ซึ่งคลิปนี้ถูกนำลงในเฟสบุ๊คที่ชื่อว่า ครูณัฐ จิตอาสาทำดีด้วยหัวใจ และคลิปดังกล่าวถูกกดไลน์กดแชร์ ส่งหัวใจเป็นจำนวนมาก และกล่าวถึงครูที่สอนรดาบน้องมานิด้วยความชื่นชม 

คุณครูดังกล่าว คือ คุณครูณัฐนันท์ โอมเพียร อายุ 57 ปี หรือครูณัฐ เป็นครูอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย อยู่ที่โรงเรียนอนุบาลเพชรกาณจน์ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ครูณัฐ ผู้ที่ได้ไปสอนน้อง ๆ มานิ ในวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ถึงทับบ้านวังนาในควนทับเฒ่าเพียวบนเขา โดยครูณัฐ ขี่รถจักรยานยนต์คู่ใจไป-กลับร่วม 100 กิโลเมตร ยังไม่นับรวมการเดินเท้าเพื่อเข้าป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เพื่อไปหาเด็กๆชาวมานิ

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนที่ได้รับรู้ถึงความเสียสละ และ รู้สึกปลื้มครูณัฐคนนี้สุด ๆ คือ ทุกอย่าง ครูทำดีด้วยหัวใจจริงๆ นอกจากจะสอนที่โรงเรียนทั่วไป ครูยังมีจิตใจที่อาสาอย่างใจเกินร้อย โดยครูณัฐ จะเอาอุปกรณ์การเรียนที่ตนเองมีอยู่ เช่น สมุดหนังสือ และ กระดาษตัวพยัญชนะภาษาไทย ก-ฮ และ กระดาษ เลข 1-100 พร้อมหนังสือ สมุดเรียน มีเล่นคำ เช่น ตา มานี ปิติ ชูใจ งู ไก่ ปาก ยา อักษรสระคำที่อ่านง่ายๆพกใส่กระเป๋าผ้า แขวนหน้ารถจักรยานยนต์ของตนเอง พร้อมอุปกรณ์การสอนออกจากบ้านที่อยู่ในตัวอำเภอละงู ไปถึงพื้นที่ในป่าทับของชาวมานิ ในพื้นที่บ้านวังนาใน หมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ในระยะทาง 50 กว่ากิโลเมตร

แม้ว่าฝนจะตก แดดจะออก หรือร้อน หนาวเหน็บ ลำบากขนาดไหน ครูณัฐ ก็ต้องไป เพราะลูกหลานเด็กๆชาวมานิ รอคอยในทุกๆวันของวันเสาร์ – อาทิตย์ ครูณัฐ ขี่รถจักยานยนต์มาถึง จะจอดรถจักรยานยนต์ ริมถนน จากนั้นก็เดินเท้า ขึ้นบนเนินควนที่สูง ผ่านสวนยางของชาวบ้าน เข้าไปถึงทับของชาวมานิ กว่าจะถึง ต้องหยุดพักหายเหนื่อย เป็นระยะ ด้วยวัยอายุที่มาก แต่หัวใจที่เข็มแข็ง ยังต้องเดินเท้าไปให้ถึง

เมื่อถึงทับมานิแล้ว ครูณัฐจะส่งเสียงเรียก เด็กนักเรียนชาวมานิ ที่อยู่ในทับ ด้วยคำว่า นักเรียน ครูมาแล้ว ออกมาเรียนกันเถอะ ส่งเสียงเสียงดังจนเด็กในทับมานิได้ยินก็จะวิ่งออกมา ด้วยความดีใจ

จากนั้น ครูณัฐ ก็จะให้เด็กยืนเรียงแถว ร้องเพลงชาติ ต่อด้วยเรียนหนังสือ ซึ่งครูจะใช้ต้นไม้ และเสาทำเป็นกระดานติดตัวอักษรพยัญชนะภาษาไทย และตัวเลขคณิตศาสตร์ เสียงตะเบ็งของเด็ก ๆ ชาวมานิทุกคำชัดเจนตามครูสอน ภายใต้เสียงหัวเราะและ รวมถึงบรรดาผู้ใหญ่ที่มาคอยดูลูกหลานของตนเองเรียนหนังสือกับครูผู้ใจดี ที่สู้เสียสละเวลาส่วนตัวในวันเสาร์ – อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ มาสอนแทนที่ได้จะพักผ่อน แต่ต้องกลับมาใช้เวลามาสอนหนังสือเด็กชาวมานิเหล่านี้ให้มีความรู้ เพื่อทุกคนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าไปถึงการศึกษาได้

ด้าน นางณัฐนันท์ โอมเพียร หรือ ครูณัฐ กล่าวด้วยความหวังว่า ครูเองจะเข้ามาสอนจนกว่า จะหมดแรงเดินไปในที่สุดทำแบบนี้มา 4 ปีแล้ว ขอใช้ชีวิตอาชีพความเป็นครูจนกว่าเรี่ยวแรงจะหมด ขอเอาความรู้นำมาสอนเด็ก ๆ เพื่อเด็ก ๆ ชาวมานิที่กำลังเจริญเติบโต ให้พวกเขาได้อ่านออกเขียนได้ สะกดคำได้ และฟังคำพูดภาษาไทยได้อย่างชัดเจน

หรือแม้จะไม่เต็มที่ แต่ก็เพื่อให้เขาได้เข้าใจโลกปัจจุบันมีความเจริญเข้ามา และเทคโนโลยีเข้ามาถึงหมู่บ้านของทับมานิ จะทำให้มานิที่นี่กลายเป็นหนึ่งกลายเป็นจุดท่องเที่ยวของคนในสังคมที่เข้ามาดู ถ้าทับมานิมีความรู้ ก็ย่อมเป็นเกราะคุ้มภัยปกป้องได้ แยกแยะ สื่อสาร กับทุกคนทั่วไปได้ โดยไม่ต้องถูกหลอกและไม่เสียเปรียบจากคนไม่หวังดี ที่แฝงในสังคมปัจจุบัน

หรือบางครั้ง เขาออกไปทำงานหรืออาจจะได้เงิน เขาต้องขายสินค้า รับจ้างในตัวเมือง พวกเขาเหล่านี้ที่ขึ้นชื่อว่า มนุษย์ เขาจะได้มีความรู้ มีความคิด เข้าใจภาษาและความคิดของคนในยุคปัจจุบัน จะได้ไม่ถูกโกง เมื่อเขามีความรู้จากที่ครูสอนสั่ง

ความจริงสำหรับความมุ่งมั่นของครูแล้วเป็นเรื่องที่ต้องยกย่องถึงความเสียสละแล้วยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำด้วยใจรักเพื่อเด็กอย่างแท้จริงโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เนื่องจากบ่อยครั้ง ที่ครูณัฐขึ้นมาที่ควนแล้วไม่พบเด็ก เนื่องจาก ชาวมานิจะมีการโยกย้ายถิ่นปลูกทับออกไปเพาะปลูกที่ไกลออกไป ครูณัฐ ก็จะใช้ความพยายามออกติดตามจนพบ เพื่อสอนหนังสือให้กับเด็ก 

 

จากการที่ได้พบกับ นายคะนึง จันทร์แดง อายุ 71 ปี ผู้ที่ชาวมานิให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ อาศัยอยู่ในพื้นที่มานิ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วการที่จะมีใครเข้าถึงชาวมานิ หรือคิดจะให้ความรู้กับคนกลุ่มนี้ มิใช่ง่ายเลย ต้องมาดูมาอยู่กับเขาก่อน จนกว่าชาวมานิแน่ใจว่าไม่มาหลอก ไม่โกหก ต้องทำให้เขาเชื่อใจได้เสียก่อน เมื่อเชื่อปุ๊บ ครูณัฐเขาก็สอนได้หมดทุกคน

“...ครูณัฐเป็นครูที่แกมาในช่วงเช้า เสาร์ อาทิตย์จริงๆขี่จยย.มาบางทีฝนตก สวมใส่ชุดเสื้อกันฝนมาทั้งฝนตกหนัก แถมทางเดินลำบากครูยังไปถึง นับถือน้ำใจ ความเป็นครูจริงๆ...”

ตอนนี้เด็กที่ครูณัฐสอน สามารถจะร้องเพลงชาติได้ อ่านหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่  ไปถึง ฮ.นกฮูกได้ ปัจจุบันเด็กชาติพันธุ์มานิ น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเด็กชาวมานิคนไหน เข้าถึงระบบการศึกษาได้เลย เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องฐานะทางครอบครัวอีกทั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงมีข้อเสนอถึงภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่ควรจะได้รับเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปในประเทศ

ด้าน นางสาวกัญญ รัตนพันธ์ ประธานกรรมการ (CEO) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสตูล (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นหนึ่งคนที่ติดตาม กดถูกใจ ครูณัฐทางเฟสบุ๊คมาตลอด กล่าวว่า ตนเองชื่นชอบครูมาก ครูทำดีด้วยใจจริง และที่สำคัญครูไม่เคยเอ่ยว่าเหนื่อยเลย บางครั้งตนเองก็จะขอตามมาดู และร่วมนำสิ่งของ เช่น ขนม น้ำ ผลไม้ มาฝากชาวมานิ และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนกับครูด้วย

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)