องคมนตรีสนองพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

องคมนตรีสนองพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“...ต้องมีน้ำบริโภค  น้ำใช้  น้ำเพื่อการเพาะปลูก  เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น  ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้  ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้  แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

                                  พระราชดำรัสเมื่อวันที่  17 มีนาคม  2529

                                         ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          คน ต้นไม้ สรรพสัตว์ สรรพสิ่งมีชีวิต  ต้องอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงเพื่ออยู่เพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อความเจริญมีชีวิตงอกงาม ทั้งเพื่อการเกษตรผลิตพืชพันธุ์ธันญาหาร และเพื่อการอุตสาหกรรม อันเป็นอีกปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความเจริญความสุข

          ที่ผ่านมาจนวันนี้ เห็นได้อย่างชาชินว่าประเทศไทยเจอทั้งน้ำท่วมในบ้างพื้นที่ในระยะสั้นๆในช่วงหน้าฝน  เจอน้ำแล้ง เฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้งทุกปีแทบทั้งประเทศ เมื่อพ้นหน้าฝนก็เจอแล้งเลย  ประชาชนคนไทยหลายต่อหลายพื้นถิ่น  เกือบทุกหย่อมหญ้าเดือดร้อนเรื่องขาดแคลนน้ำ  เฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร  ภาคอุตสาหกรรมก็เดือดร้อน น้ำกินน้ำใช้ก็มีเดือดร้อนกันพอสมควรทีเดียว

         

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ตราบเสด็จสวรรคต  ทรงครองราชย์ยาวนานถึง  70  ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศไทย ทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกร ตรัสถามถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงได้ทอดพระเนตรเห็นการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ทำให้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า ราษฎรของพระองค์ที่ประสบความทุกข์ความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต หลักใหญ่คือขาดปัจจัยแห่งชีวิตคือ “น้ำ”

         

      จึงได้ทรงทุ่มเทพระองค์สร้าง พัฒนาแหล่งน้ำในหลากหลายรูปแบบในพื้นถิ่นมากมายทั่วทั้งประเทศ  เพื่อกักเก็บน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการก่อประโยชน์สุข พระราชทานไว้ให้เป็นมรดกแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ตระหนักถึงความสำคญถึงคุณค่าของน้ำ “ชีวิตอยู่ที่นั่น” น้ำจึงมีความสำคัญและจำเป็นที่ต้องมี  เพื่อได้ใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อดำรงชีพมีความสุขอย่างยั่งยืนตามวิถีแห่งความพอเพียง

         

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10  ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสานพระราชปณิธาน ดังพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความว่า “เราจะสืบสาน  รักษา  และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชดำริ ได้พระราชทานแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกจำนวนมาก รวมถึงทรงรับโครงการแหล่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย ตลอดจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พัฒนาโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการครั้งดำรงพระอิสสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร ให้มีศักยภาพสร้างประโยชน์แก่ราษฎรได้อย่างเต็มที่ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัจจุบัน ทั้งนี้ด้วยทรงมุ่งสร้างประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนแก่ราษฎร

 

ในช่วงบ่าย  วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2565 นายจรัลธาดา กรรณสูต ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำพน กิตติอำพน รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ สนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ราบเชิงภูเขียว โอกาสนี้คณะฯ รับฟังบรรยายสรุปผลความก้าวหน้าการดำเนินงานพร้อมทั้งเยี่ยมชมโครงการฯ จากนั้นได้พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่

 โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนทำนบดิน ประเภทเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) สามารถเก็บกักน้ำได้ 46.90 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน 40,000 ไร่ ฤดูแล้ง 28,000 ไร่ และใช้ในการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านนาเจริญ ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ราษฎรมีแหล่งอาหารโปรตีนได้บริโภคในครัวเรือน ทั้งยังมีรายได้จากการประมงน้ำจืดเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยสอบถามความรู้สึกกับประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นตัวแทนชุมชนที่จะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯนายเฉลิม สมัตถะ เกษตรกร บอกรู้สึกดีใจที่มีโครงการ

 

“สมัยก่อนคิดว่ามีโครงการอยู่แต่มันสร้างไม่ได้ ตั้งแต่สมัยพวกผมยังเป็นผู้นำหมู่บ้านไปต่อสู้ขนหินดินทรายที่วัดบ้านพุงเหนือ พอดีมันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาก็บอกว่าถอยได้ไหม ถ้าถอยตั้งแต่สมัยนั้นป่านนี้คงจะสร้างเสร็จแล้ว คิดว่ามันมีประโยชน์ต่อชาวบ้านมาก เพราะว่าที่ตรงนี้มันไม่ได้ทำลายป่า มันเป็นพื้นที่ของพี่น้องเกษตรกร  ที่ดินตรงนี้ส่วนมากจะเป็นสปก.ไม่ใช่โฉนด ไม่ใช่นส.3  พอสร้างเสร็จผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือพี่น้องไม่ถูกน้ำท่วมในตำบลหนองแวง ช่วยในเรื่องการเกษตรได้เพราะว่าคลองส่งน้ำสูบพื้นที่ของตำบลหนองแวงแล้วก็ไปหนองบัวแดงบางส่วน

 

นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงส่งที่พระองค์เห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกร คิดว่าจะไม่ได้เพราะตอนนั้นจะถอยหมดแล้ว ผู้นำหมู่บ้านถอยหมดแล้ว สู้กับป่าไม่ได้ รู้สึกว่าจะมีรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท่านมาพบปะกับพี่น้อง บอกว่าถอยได้ไหมพี่น้อง ก็ยอมและก็ได้น้ำมากกว่าที่สร้าง ชาวบ้านทุกคนรู้สึกดีใจมาก ที่ถูกน้ำท่วมมันก็ไม่เสียหายบ้านเขา ที่ลำสะพุงเหนือก็ไม่ท่วมแถวที่สูง พี่น้องก็ดีใจมากสังเกตดูการมาต้อนรับท่านองคมนตรีมาให้กำลังใจเยอะแยะเลยเป็นสิ่งที่ดีต่อชาวพี่น้องตำบลหนองแวง” นายเฉลิม สมัตถะ เผยรอยยิ้ม

อีกคนนางรุ่งนภา แสนสระ  หมู่ที่ 13  ต. หนองแวง เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนที่นี่มีน้ำเยอะ ถ้าเราไม่กักเก็บน้ำเราก็จะไม่ได้ใช้น้ำเลย เพราะว่าไหลทิ้งไปเยอะ  ที่นี่จะเป็นที่ปลูกพืชหมุนเวียน มีข้าวโพด มีอ้อย มีมันแล้วก็มีข้าว ส่วนใหญ่จะเป็นข้าว เป็นอ้อย พอน้ำมาเยอะมันก็ไหลทิ้งไป  ไมมีที่จะกักเก็บน้ำเลย นี่ส่วนใหญ่ใช้ลำน้ำสะพุง

“มันมีสองแม่น้ำคือลำสะพุงกับแม่น้ำชี ตอนนี้เราใช้ของแม่น้ำชีอยู่ แต่ว่าเราก็ต้องใช้แม่น้ำสะพุงไปเติมเต็มแม่น้ำชีด้วย เพราะว่าเราปลูกพืชที่ใช้น้ำเยอะ เช่นอ้อยต้องใช้น้ำเยอะ ทีนี้ถ้าเราไม่มีโครงการนี้ ฝนตกมาน้ำก็ไหลทิ้งไปท่วมข้างล่าง ไม่มีน้ำจะใช้เลย พอหน้าแล้งก็แล้ง ที่นี่ไม่พอจะใช้ ทรัพยากรของเราก็จะหมด  ถ้าได้โครงการนี้เข้ามา มาช่วยเติมเต็มประชาชน เราจะมีน้ำใช้ น้ำกิน น้ำอาบ แล้วก็เกษตรกรเราก็จะดีขึ้นได้ไม่ต้องออกไปทำงานต่างประเทศ หรือนอกบ้าน เราอยู่ในครอบครัวได้”

นางรุ่งนภาบอกและกล่าวน้ำเสียงแจ่มใสว่า ก็ดีใจมากที่มีโครงการนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็รู้สึกดีใจ  จะได้มีน้ำใช้ตลอดปี รอมานานมาก ดีใจที่ได้เห็นโครงการเป็นรูปเป็นร่าง ให้ลูกหลานได้เห็น ก็ดีใจมากๆเลย ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพราะว่าเป็นเศรษฐกิจที่ส่งออกได้ มีบ้านหลน แล้วก็ตำบลหนองแวง แปลงใหญ่ตำบลหนองแวง ที่โน่นจะเป็นแม่น้ำชี เขาก็โอเค ส่งออกต่างประเทศมั่ง3-4ปี  มีโควิดก็ซบเซา ต่อไป ถ้ามีแหล่งน้ำมาช่วยปีนี้ก็มีราคาก็จะโอเค เราก็ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ เรื่องอ้อยเรื่องมันข้าวของเราก็ส่งออกได้ก็จะโอเค ได้ราคาแล้ว ได้น้ำ  จะไม่แล้งก็ดีใจมากๆเลยรอมา 40 ปีก็จะได้เห็นแล้ว

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำชี ซึ่งกรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร มาศึกษากำหนดเป็นแนวทาง  ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ จะเห็นได้ว่าวันนี้ที่ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายถึงต้นน้ำก็คือติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้พื้นที่ ในขณะเดียวกันกรมชลประทานเองก็มีการพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ก็เลยเลื่อนไซต์จากที่เดิมมาประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นได้ว่าจากการเลื่อนส่งผลให้ปริมาณน้ำเดิมที่ได้วางโครงการไว้ประมาณ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เพิ่ม 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ชลประทานได้รับประโยชน์ประมาณ 23,000 ไร่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่นี่ถือว่าให้ความสำคัญเข้มข้น ในการที่จะสร้างความรับรู้สร้างความเข้าใจกับพี่น้อง ให้เห็นว่า ในเรื่องของน้ำมีความสำคัญมากน้ำคือชีวิต

“โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา  ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 เพราะฉะนั้นหลังจากที่เสร็จก็มีการก่อสร้างระบบส่งน้ำต่อไป ก็เป็นการสร้างการใช้น้ำ  จะเห็นว่าที่นี่จังหวัดชัยภูมิเป็นจังหวัดต้นน้ำของแม่น้ำชี และจังหวัดชัยภูมิก็มีปัญหาเกือบทุกปีโดยเฉพาะหน้าฝนท่วม ขาดฝนเข้าสู่หน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำ บางทีเราเรียกว่าแล้งซ้ำซาก เพราะฉะนั้นโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มีการสืบสานรักษาและต่อยอดของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า  ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำเราสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ ประมาณ 243 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวน 3 โครงการพระราชดำริ  อีกสองโครงการตามแผนของกรมชลประทาน แต่ในขณะเดียวกันตรงกลางน้ำเราก็มีการหน่วงน้ำหรือว่าชะลอน้ำโดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำอีก 5 แห่ง  ในขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างแก้มลิงเป็นการช่วยหน่วงน้ำในช่วงน้ำหลาก แล้วก็เก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งเป็นต้น  เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชี กรมชลประทานก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา และต่อยอด เป็นโครงการที่บริหารจัดการน้ำแบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือตัวอย่างที่ผมเรียน ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มข้น  ซึ่งเนื้อที่ตรงนี้มีอาชีพหลากหลาย ไม่ว่า จะเป็นการเกษตร ทำหลายรูปแบบ แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านที่นี่ เค้ารู้ว่าน้ำมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่อการประกอบอาชีพเพราะฉะนั้นจะให้ความสำคัญ แล้วก็ให้การมีส่วนร่วมให้กับภาครัฐเป็นอย่างดี”

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่า  ก็มีอีกหลายหลายโครงการที่เกิดขึ้นในจังหวัดชัยภูมิ โดยที่มีโมเดลตรงนี้เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าหลังจากที่เราเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ  ก็มีโครงการลำเคียง อย่างนี้เป็นต้น อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีก็ได้อย่างต่อเนื่องเพราะว่าพี่น้องจังหวัดชัยภูมิเป็นต้นน้ำของลำน้ำชี แต่ช่วงฝนตกน้ำท่วม เนื่องจากที่นี่เป็นที่สูงจนไม่มีที่เก็บ  แต่ในขณะเดียวกันฝนตกลงไปข้างล่างก็เกิดความแห้งแล้ง แต่อนาคตถ้าเรามีอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่งที่จะเสร็จ  เราจะมีน้ำต้นทุน ตุนเก็บน้ำที่นี่ประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร นี่คือน้ำต้นทุนที่ใช้ทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุปโภค บริโภค  รักษานิเวศน์  เกษตร  แล้วก็ทำกิจกรรมอย่างอื่น ประชาชนจะได้รับน้ำอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศน์ สิ่งสำคัญคือใช้ในการเกษตรเช่นทำนาทำไร่ ทำปศุสัตว์ ประมงเป็นต้น โครงการทุกโครงการหลังจากที่สร้างเสร็จแล้วเต็มอ่าง คงหนีไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ

รายงานพิเศษ/เสกสรร  สิทธาคม

        ไพลิน  ภูสูง สื่ออาสา/ข้อมูล-ภาพ