"ตรีนุช"แจ้งสภาคณบดีครุศาสตร์ฯเพื่อทราบ! ปรับปรุงระบบใบประกอบวิชาชีพครู

"ตรีนุช"แจ้งเวทีสภาคณบดีครุศาสตร์ฯเพื่อทราบ! ปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อ้างเอื้อคนจบสายครูทุกคนมีโอกาสสอบบรรจุราชการ พร้อมเตรียมเชื่อมโยงวิทยฐานะ จี้คณะครุ/ศึกษาศาสตร์ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน เพื่อผลิตครูให้มีความรู้และทักษะสร้างเด็กไทยในศตวรรษ 21 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เฟซบุ๊ก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ. @EducationMinisterNewsline ได้เผยแพร่ข่าว “เสมา1” ย้ำประเด็นการปรับปรุงระบบใบประกอบวิชาชีพครู และ Learning Loss แก่ที่ประชุมสภาคณบดีผู้ผลิตครู"

โดยมีรายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กม.) คุรุสภา และรองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รักษาการเลขาธิการคุรุสภา

ภายหลังการมอบนโยบายและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในการประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565 ณ อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ตนได้หารือเกี่ยวกับการปรับระบบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นเหมือนจุดคัดกรองมาตรฐานของครูให้สังคมมั่นใจได้ว่า โรงเรียนจะมีครูที่มีคุณภาพให้บุตรหลาน แต่ในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการสอบผ่านลดลง เนื่องจากสอบไม่ผ่านในบางวิชา เช่น วิชาภาษาอังกฤษ

ซึ่งต้องมองในสภาพความเป็นจริงว่า ครูในบางสาขาวิชาเอกที่ไม่ใช่วิชาภาษาอังกฤษ อาจจะไม่ได้มีความถนัด และอาจเป็นการจำกัดโอกาสของนิสิตนักศึกษาครูที่เรียนจบมาแล้วไม่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้

แต่เกณฑ์การคัดเลือกก็ยังจำเป็นต่อการรักษาคุณภาพไว้ ตนจึงหารือร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในฐานะต้นทางของการผลิตครู เพื่อปรับหลักสูตรการสอนให้เสริมย้ำความรู้ที่จำเป็นให้แก่นิสิตนักศึกษาครู เพื่อให้ไม่เสียโอกาสในประกอบอาชีพ

โดยกระทรวงศึกษาธิการและคุรุสภา จะปรับระบบและกฎระเบียบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมยิ่งขึ้น และพร้อมประสานการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในอนาคต

"กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ โดยยึดหลักการมีความยืดหยุ่นให้คนที่จบสายครูทุกคนมีโอกาสสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ และต้องเชื่อมโยงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของคุรุสภา กับระบบวิทยฐานะของสำนักงาน ก.ค.ศ.ต่อไป"

รมว.ตรีนุชกล่าวด้วยว่า ตนยังได้ฝากประเด็นกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยในเรื่องการผลิตครูว่า กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายมุ่งเน้นและสร้างให้เด็กมีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ทันต่อสถาณการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเป็นฝ่ายที่ต้องทำงานกับครูและสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นฝ่ายผลิตครู จึงได้มีการพูดคุยกันในเรื่องการหาแนวทางการทำงานร่วมกันปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อผลิตครูให้มีความรู้และทักษะเพื่อสร้างเด็กที่มีสมรรถนะที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 และสอดรับและตอบโจทย์ด้านคุณภาพของการศึกษาต่อไป

"นอกจากนี้ ดิฉันยังฝากประเด็นที่สองต่อสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย คือปัญหาการเกิดภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) เพราะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเกิดขึ้นกับนักเรียน เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหา ศธ.ได้เร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ช่วงที่สูญเสียไปให้คืนกลับมาเร็วที่สุดอย่างเป็นระบบแล้ว และวันนี้ก็จะได้แนวคิดมุมมองด้านอื่นๆ เพื่อที่จะช่วยเสริมให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" น.ส.ตรีนุช กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า คณะกรรมการคุรุสภาได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเสนอ

เนื่องจากเห็นว่าเมื่อนิสิตนักศึกษาเรียนจบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพครูโดยตรงมาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีความยุ่งยากมาสอบเพื่อขอรับใบรับรองการปฏิบัติการสอนอีก เพราะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ปลูกฝังผู้เรียนครอบคลุมหลักสูตรวิชาชีพครูในทุกด้านอยู่แล้ว

ดังนั้น จากนี้ไปเมื่อนิสิตนักศึกษาเรียนจบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) โดยอัตโนมัติทันที สามารถไปสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูผู้ช่วยได้ทันที และเมื่อได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูผู้ช่วยแล้ว จะมีระยะเวลา 2 ปีในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจากข้าราชการครูผู้ช่วยมาเป็นข้าราชการครู ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น

โดยกำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) และวิชาที่สอน (Content พื้นฐาน) 

น.ส.ตรีนุชยังกล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ได้กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) ซึ่งจำแนกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-license) 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นกลาง (Intermediate Professional Teaching License :I-license) และ3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Professional Teaching License : A-license)

ซึ่งจะมีระบบการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-icense) กำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู 6 วิชาที่สอน โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษ วิชาบูรณาการ วิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อาชีวศึกษา ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง

"ความรู้ในวิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และวิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นสาระความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู จะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์บังคับของการรับรองปริญญา และประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพครู และการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู" น.ส.ตรีนุช กล่าว 

ทั้งนี้ รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการคุรุสภา ได้กล่าวเสริมด้วยว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว ร้อยละ 90 ต่างเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้ครูทั้งภาครัฐและเอกชน ร้อยละ 95 ก็เห็นด้วย และอยากให้มีการนำระบบดังกล่าวมาใช้โดยเร็ว เพราะจะช่วยยืดหยุ่นให้ผู้ที่อยากจะเข้ามาสู่อาชีพครูได้เข้ามาสอบเป็นครูได้สะดวกขึ้น อีกทั้งระบบสามารถเทียบเคียงกับนานาชาติ และที่สำคัญระบบยังเชื่อมโยงกับการพิจารณาวิทยฐานะใหม่ด้วย

"อย่างไรก็ตาม คุรุสภาจะจัดทำรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวก่อนนำกลับมาเสนอคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป" รักษาการเลขาธิการคุรุสภา กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)