ฝายทดน้ำบ้านรางเข้ฯอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อชีวิตชาวหนองกุ่ม กาญจนบุรี

โครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

น้ำเพื่อชีวิตของชาวตำบลหนองกุ่ม จังหวัดกาญจนบุรี

 

“...ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...

                                  พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529

                                         ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา คือวันศุกร์ที่ 29 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ สนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน  รักษาและต่อยอดพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงพื้นที่ไปติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จะก่อประโยชน์สุขแก่ราษฎร 

เดินทางไปยังโรงเรียนวัดทุ่งมะสัง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย ถึงพื้นที่แล้วรับฟังบรรยายสรุปความเป็นมา และความก้าวหน้าของโครงการฯจากผู้แทนสำนักงาน กปร.และกรมชลประทาน 

หลังจากนั้นองคมนตรีพบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมให้ข้อคิดเห็นในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการฯ

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ แก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. ณ อาคารชัยพัฒนา พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปความว่า ควรพิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพิน จังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ได้แก่

- พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณตอนบนของห้วยตะเพิน ที่เขตอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมกับสร้างฝายทดน้ำทางด้านท้ายอ่างเก็บน้ำดังกล่าวในลำน้ำสายนี้เป็นระยะ ๆ  เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกของราษฎรในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ และช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก

- พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของห้วยตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และเขตอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรในเขตโครงการฯ ให้มีน้ำใช้สำหรับการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี

สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ดำเนินโครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรในการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค โดยในปีงบประมาณ 2562 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร.ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทาน ในการดำเนินกิจกรรมเบื้องต้น อาทิ สร้างบ้านพัก ถนน ติดตั้งแท็งก์น้ำ เป็นต้น

จากนั้นในปีงบประมาณ 2563-2567 กรมชลประทานกำหนดแผนการดำเนินงานโดยใช้งบประมาณปกติ ซึ่งเมื่อการดำเนินงานโครงการแล้วเสร็จ จะส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนได้ประมาณ 3,500 ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตภาคการเกษตรมีคุณภาพและมีปริมาณเพิ่มขึ้น เกิดความหลากหลายในการพัฒนาอาชีพ อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป

          นางมะลิ พึ่งกุล และนางอุษา จินจารักษ์ เป็นชาวบ้านของหนองตาพุก ตำบลหนองกุ่ม เป็น อสม. บอกว่า สภาพพื้นที่ที่นี่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง เป็นพื้นที่เนินเป็นที่ราบเนินเขา ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีแหล่งชลประทาน ถึงฤดูฝนตกน้ำก็จะท่วม ถึงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเพราะไหลไปหมด เป็นพื้นที่น้ำไหลผ่านที่ลงไปแม่น้ำแคว ก็ดีใจที่ว่ามีโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาตรงนี้ ซึ่งโครงการนี้ก็ได้ขุดฝายให้กับชาวบ้านหนองกุ่ม เราก็ยังดีใจที่ว่ามีโครงการ ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ใช้น้ำตรงนี้ด้วย เพราะว่าปกติชาวชุมชนทำการเกษตร ที่อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว

“ที่ตรงนี้จะเป็นที่ของวัดได้สร้างสระไว้ช่วยระบายน้ำ ต้องใช้ท่อ ใช้เครื่องสูบเข้าพื้นที่นาของเราและละแวกแถวนี้ มีค่าใช้จ่ายคือค่าน้ำมัน ค่าท่อน้ำแล้วแต่กำลัง แต่น้ำก็ไปไม่ถึงหนองตาพุก พื้นที่นี้ถ้าได้โครงการนี้ขึ้นมาก็จะได้เฉพาะคนในพื้นที่ตรงนี้ที่มีพื้นที่ทำกินอยู่แถวนี้ แต่ถ้าอยู่ฝั่งใกล้เคียง ต้องมีโครงการต่อไปอีกถึงจะได้รับผลประโยชน์กับหมู่บ้านใกล้เคียง  แต่โครงการนี้ถือว่าดีมาก เพราะว่าตรงนี้คือจุดใหญ่หลายหมู่บ้าน 3-4 หมู่บ้านถือว่าได้รับประโยชน์มาก  หมู่บ้านตรงนี้คือหมู่บ้านทุ่งมะสัง บ้านใหม่ หินลับ วังด้ง ท่าแจ่ม ได้หลายหมู่ เป็นโครงการที่ดีทีเดียว”

นางมะลิ พึ่งกุล บอกอีกว่า พื้นที่ตรงนี้ก็หลายไร่ 1,000 ไร่ คนที่อยู่ใกล้ๆก็จะได้ประโยชน์มากกว่า แต่พื้นที่จริงๆตรงนี้เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียวทำการเกษตร ปกติปลูกอ้อยปลูกมันและข้าว มีเลี้ยงสัตว์บ้าง เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ

นางอุษา จินจารักษ์ เสริมว่า ถ้ามีน้ำมากขึ้นก็จะปลูกพวกผักชี พืชล้มลุก ปลูกพืชสวน ช่วงนี้ก็เตรียมการกันแล้วถ้ามีน้ำก็จะได้ผลประโยชน์ตรงนี้ ก็ต้องขอขอบคุณในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่พระองค์ท่านทรงสืบสานโครงการพระราชดำริ

ด้าน นายพนม เหมือนฤทธิ์ สารวัตรกำนัน ต.หนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในผู้ดูแลโครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้ถ้าหน้าฝนน้ำก็ท่วม พอถึงฤดูแล้งน้ำก็ขาดแคลนถึงขาดแคลนมาก ส่งผลกระทบกับการประกอบอาชีพพอสมควร ชาวบ้านเดือดร้อนมาก

"พอถึงเวลาหน้าแล้งที่ขาดน้ำอย่างมาก น้ำไม่มีทำนา ทำไร่ ทำการเพาะปลูกอะไรไม่ได้ พวกวัวพวกควายที่อาศัยพื้นที่กินอยู่ก็ไม่มีน้ำให้วัวให้ควายกิน เกษตรกรที่ทำไร่ทำนาขาดแคลนน้ำ มีประกอบอาชีพทำไร่อ้อยและก็นาปี ส่วนมากนาปีจะทำไม่ได้เท่าที่ควรเพราะว่าถึงฤดูน้ำน้ำท่วมช่วงเดือน 10-11 หน้าเกี่ยวข้าว หน้าทำนา ประชากรของหมู่ 3 ก็ประมาณ 2500 คน พื้นที่ที่จะต้องได้รับผลประโยชน์จากฝายตรงนี้ก็มีประชากรทั้งหมด 5 หมู่ด้วยกัน มีหมู่ 97, 315 และหมู่ 11"

“ต่อไปถ้าอ่างเสร็จก็จะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและคนทำการเกษตรไร่อ้อย ที่ส่วนใหญ่ก็ทำไร่อ้อย น้ำก็ได้พอสมควร ถ้าฝายตัวนี้เสร็จสิ้น เกษตรกรทำไร่ทำนา ก็น่าได้ผลผลิตที่ดีมาก ตอนนี้รายได้ต่อครัวเรือนก็ประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท ถ้าฝายเสร็จก็จะได้รายได้เพิ่มมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น”

นายพนม เหมือนฤทธิ์ บอกต่ออีกว่า โครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทาน ชาวบ้านรู้สึกดีใจที่พระองค์ท่านไม่ทอดทิ้งพสกนิกร ทรงดูแลทุกพื้นที่ พระองค์ท่านก็ดูแลมาตลอด แล้วก็โครงการพระราชดำริเป็นโครงการที่ดีมากที่ทำฝายชะลอน้ำและเก็บกักเก็บน้ำไว้ให้กับชาวบ้านได้ใช้ทำการเกษตร มีประโยชน์อย่างมากมาย และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล 10 ทำให้ต่อมามีหลายโครงการของตำบลหนองกุ่มที่ยังไม่เสร็จ ก็แล้วเสร็จแล้วก็มี ซึ่งโครงการที่เสร็จแล้วชาวบ้านก็ได้ใช้ประโยชน์ในส่วนหนึ่งของตำบลหนองกุ่ม อ.บ่อพลอย ได้ทำนาทำไร่ สัตว์เลี้ยง ได้กินอุดมสมบูรณ์ขึ้น

“ในความรู้สึกของผมยินดีแล้วก็เป็นเกียรติที่ได้รับพระเมตตา นัลเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบไม่ได้ ที่พระองค์ท่านได้ดูแลประชาชน แล้วก็โครงการพระราชดำรินี้ชาวบ้านดีใจ ที่มีโครงการพระราชดำริลงมาในพื้นที่ ในตำบลผมก็ดีใจแทนชาวบ้านที่มีน้ำเอาน้ำไว้ได้ทำเกษตรกรรม เอาไว้กิน ได้ไปทำการเกษตร ก็เป็นที่ดีใจและภาคภูมิใจของชาวบ้านในตำบลหนองกุ่มครับ”

นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย  ผู้เชียวชาญด้านวิศกรกรมชลประทาน ติดตามความก้าวหน้าโครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สำหรับโครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งใน 24 โครงการที่เป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2533 ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำลำตะเพิน มีต้นน้ำอยู่ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และก็ไหลผ่านอำเภอหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย แล้วก็อำเภอเมือง ไหลลงแม่น้ำแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 167 กิโลเมตร

แต่ละช่วงที่ดำเนินการลุ่มน้ำลำตะเพินก็มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่ดำเนินการไปแล้วไม่ว่าจะเป็นอ่างลำตะเพิน อ่างห้วยพร้อย ที่ดำเนินการเสร็จไป แล้วอ่างห้วยตะกวด ก็ที่อยู่ระหว่างดำเนินการกรมชลประทานดำเนินการอยู่ 2 โครงการ คือทางโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะตึง ผลงานอยู่ที่ประมาณ 23% แล้วก็อ่างห้วยป่าไร่ ผลงานอยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งการดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย กล่าวต่อว่า จุดนี้เองเป็นฝ่ายทดน้ำบ้านรางเข้ จะอยู่ด้านตอนท้ายแล้ว เป็นฝายเป็นช่องบาน 5 บาน ขนาด 6 เมตรคูณ 6 เมตร จำนวน 5 ช่อง หลังจากที่เราดำเนินการแล้วเสร็จก็เริ่มดำเนินการปี 2562 โดยใช้งบ กปร. หลังจากนั้นกรมชลประทานก็ได้ตั้งงบประมาน เพื่อรองรับหัวงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวหัวงานสถานีสูบน้ำ ระบบส่งน้ำ ตอนนี้ผลงานโดยรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 53% ตัวหัวงานตัวที่เป็นตัวฝายเสร็จแล้ว ปี 2565 เราก็จะเริ่มดำเนินการสร้างสถานีสูบน้ำ และก็จะมีระบบสูบส่งน้ำในปี 2566 -2567

สำหรับพื้นที่ได้ที่ได้รับประโยชน์ก็จะอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำลำตะเพิน มีพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ที่จะได้รับ โดยการส่งท่อไปประมาณ 13 กิโลเมตร ในส่วนของฝั่งขวาเองเนื่องจากหลักเกณฑ์ทางด้านวิศวกรรม การที่จะส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานจะต้องมีน้ำต้นทุนที่จะเพียงพอ ปรากฏว่า ณ ตอนนี้ลำตะเพินเองยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% และยังต้องทำอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นแหล่งทดน้ำ เพื่อที่จะเก็บกักน้ำไว้และก็จะโรยลงลำน้ำลำตะเพิน เพื่อที่จะได้ใช้ ทั้งทางด้านซ้ายขวา เพราะฉะนั้นฝั่งขวาอนาคตเองกรมชลประทานก็จะต้องพิจารณาที่จะเปิดพื้นที่ชลประทานให้ราษฎรเกษตรกรได้รับน้ำในฝั่งขวาด้วย

“ในการเปิดแต่ละโครงการก่อนที่เราจะดำเนินการ กรมชลประทานก็จะมีการพิจารณาโครงการ พากันสำรวจแล้วก็ออกแบบ พอเราได้แบบรูปแบบการทำงานเสร็จแล้วเราก็ไปประชุมการมีส่วนร่วมกับราษฎรในพื้นที่ ฉะนั้นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียผู้ได้รับประโยชน์ต่างๆเราก็จะไปประชุมกัน ระดมความเห็นของราษฎรในพื้นที่ว่าเราได้รับผลกระทบยังไง จากที่ออกแบบไว้แก้ไขเพิ่มเติมอะไร หลังจากที่ได้รับข้อมูลพวกนั้นเราก็จะเอามาปรับกับแบบที่เราออกแบบไว้ แล้วมาแก้ไข หลังจากได้ดำเนินการเสนองบประมาณ

ระหว่างดำเนินงานเราก็จะแจ้งทั้งทางราษฎรและผู้ที่ได้รับผลกระทบ แจ้งท้องถิ่น อบต. นายอำเภอ ว่าเราดำเนินการอะไรบ้างในแต่ละปี หลังจากที่เราดำเนินการแล้วเสร็จเราก็จะมีการประชุมตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ การจัดสรรน้ำจะทำยังไง มีรอบเวรการจ่ายน้ำยังไง  การบำรุงรักษาตัวอาคาร ถ้าเป็นงานชลประทานขนาดกลางเราจะส่งมอบให้กับชลประทานจังหวัด เป็นผู้บำรุงรักษาต่อไป  

เพราะฉะนั้นงบประมาณในการซ่อมแซมการบำรุงรักษาตัวนี้ ถือว่าองค์ความรู้ทางด้านช่างด้านวิศวกรรมที่จะต้องดูแลรักษาอาคาร ของชลประทานกรมชลประทานรับผิดชอบหมด ส่วนการใช้น้ำที่ราษฎรจะได้ใช้เนื่องจากตัวนี้เองไม่ได้ส่งน้ำไม่ได้ส่งน้ำให้ไหลไปเอง เรามีการสูบน้ำ เพราะค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจะมีค่าไฟที่เกิดขึ้นซึ่งตอนนี้ในการประชุมแต่ละครั้ง เราก็จะชี้แจงให้ราษฎร ให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำให้เข้าใจในกลุ่มของเค้าเค้าก็บริหาร ในเรื่องของค่าใช้จ่ายตรงนี้”

นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย ผู้เชียวชาญด้านวิศกรกรมชลประทาน สรุปทิ้งท้ายว่า หลังจากที่ดำเนินการในปีในปี 2562 ราษฎรก็เข้ามาตลอด ส่วนนึงเองก็ได้เป็นลูกจ้างที่มาช่วยในการก่อสร้างตรงนี้ เค้าก็มาทำงานกับเรา เค้าก็มีรายได้ตรงนี้ และก็ในอนาคตเค้าก็มองเห็นอยู่แล้วเค้าก็มาเข้าใจว่าทำตรงนี้อาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปร่าง ก็จะมีปัญหาพอสมควรในเบื้องต้น แต่พอเข้ามาเป็นลูกจ้างของเราด้วยมาทำงานกับเราส่วนหนึ่งแล้วก็ประชาสัมพันธ์ให้ทราบจนถึงปัจจุบัน ตรงนี้ก็ประมาณ 50 กว่า% เค้าก็จะเห็นแล้วว่าตรงนี้ตัวฝายตัวนี้เป็นยังไง น้ำที่อยู่หน้าฝาย ตอนนี้เค้าเริ่มได้ใช้แล้ว เพราะฉะนั้นระหว่างก่อสร้างเราก็สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ ตอนนี้ราษฎรไม่ได้มองในแง่ที่ไม่ดี ตอนนี้เขาเริ่มได้รับประโยชน์

สก๊ปพิเศษ/เสกสรร สิทธาคม

สำนักงาน กปร. ข้อมูล/ภาพ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)