ศธ.ปรับเกณฑ์คัดเลือกผู้บริหาร ร.ร.สังกัด สพฐ. พร้อมแก้เกณฑ์เลื่อนระดับ จนท.ทั่วไป-วิชาการเร็วขึ้น

ศธ.ปรับเกณฑ์คัดเลือก รอง ผอ./ผ.อ.ร.ร.สังกัด สพฐ. พร้อมแก้เกณฑ์เลื่อนระดับ จนท.ทั่วไป-วิชาการให้เร็วขึ้น

 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ถึงการพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบตามที่ ก.ค.ศ.นำเสนอ โดยการกำหนดคุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเฉพาะของผู้มีสิทธิ์คัดเลือกเป็นข้าราชการครู ทางก.ค.ศ.จะเป็นผู้กำหนด ส่วนการดำเนินการ ทั้งเรื่องของการกำหนดวันเวลา สถานที่สอบเพื่อคัดเลือก ทาง สพฐ.จะเป็นผู้ดำเนินการ จากที่เคยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และกำหนดเกณฑืใช้งบประมาณให้เป็นความรับผิดชอบของ สพฐ.ที่ชัดเจนมากขึ้น

 

“จากนี้ไป สพฐ.จะเป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยมี ก.ค.ศ.เป็นเหมือนที่ปรึกษา รวมถึงมาตรฐานของข้อสอบ ซึ่งเดิมที ก.ศ.จ.แต่ละพื้นที่จะเป็นผู้จัดทำ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการสร้างมาตรฐานข้อสอบทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวกัน เพื่อยกระดับคุณภาพของผู้บริหารสถานศึกษา เกณฑ์ใหม่นี้ จะใช้กับการคัดเลือกรอง ผอ.และ ผอ.โรงเรียน ของ สพฐ. ที่มีการสมัครกันอยู่ในขณะนี้ด้วย” นางสาวตรีนุชกล่าว

 

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาครั้งนี้ ใช้บังคับกับสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ซึ่งได้แก่ โรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เท่านั้น ซึ่งการจัดการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ ส่งผลให้ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารส ส่วนการคัดเลือกตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดอื่นๆ ยังคงใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิม

 

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการปรับหลักกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครู และบุคลาการทางการศึกษา ตําแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป และตำแหน่งวิชาการ ในระดับที่สูงกว่าเดิม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนด้านสนับสนุนทางวิชาการ เช่น ธุรการ การเงิน พัสดุ ซึ่งปัจจุบันได้นำหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาใช้ ส่งผลให้การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งล่าช้า ไม่มีความสะดวกในการบริหารจัดการ โดยเกณฑ์ใหม่ให้ กศจ.ต้นสังกัดสามารถประเมินเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัด วิธีการ และเกณฑ์การตัดสินได้ ตามระเบียบที่ก.ค.ศ.กำหนด

 

“เป็นไปตามนโยบาย และหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการในการดูแลบุคลากรในสังกัด รวมถึงความตั้งใจที่จะแก้ไข ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว เป็นการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาให้แต่ละส่วนงานมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น” นางสาวตรีนุชกล่าว