องค์กรครูร้อง"บิ๊กตู่-สภา ส.ส.-ส.ว."รื้อตรวจสอบเงื่อนงำ สกสค.ไม่รับเงินสนับสนุน ธ.ออมสิน ห่วงทำเสียผลประโยชน์อื้อ?

องค์กรครูร้อง"บิ๊กตู่-สภา ส.ส.-ส.ว."รื้อตรวจสอบเงื่อนงำ สกสค.ไม่รับเงินสนับสนุน  ธ.ออมสิน ห่วงทำเสียผลประโยชน์อื้อ?

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือในนามนายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), นายนพคุณ รัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา

เรียกร้องให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ส่อมีเรื่องผลประโยชน์ใดเกี่ยวข้องหรือไม่? ในกรณีการทำบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ครั้งที่ 1 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561

โดยได้ยกเลิกเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเดิม ที่กำหนดให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินสนับสนุนให้กับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดตามแต่ละโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ซึ่งธนาคารออมสินให้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสมาชิกและกิจการ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. รวมทั้งชำระหนี้ค้างแทนสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ที่ไม่สามารถชำระเงินงวดให้กับธนาคารออมสินเกิน 3 เดือนติดต่อกัน

และได้แก้ไขข้อตกลงใหม่เป็นให้ธนาคารออมสินนำเงินสนับสนุนที่ตกลงจ่ายให้กับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ภายใต้ข้อตกลงเดิม จากอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากผู้กู้แต่ละโครงการ นำไปลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ที่ได้กู้เงินตามโครงการนั้นๆ

ซึ่งเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเป็นจำนวนมาก เช่น สมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.ผิดนัดส่งเงินเพิ่มมากขึ้น ไม่มีเงินช่วยเหลือสมาชิกในการสำรองจ่ายชำระเงินกู้ธนาคารต่อเนื่องเกิน 3 เดือน จึงอาจเป็นเหตุให้ธนาคารออมสินทำการฟ้องร้องสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.โครงการต่างๆ 

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากสมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.ว่า ในช่วงการทำบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ดังกล่าว อยู่ในช่วงที่สถาบันการเงินทั่วโลกลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.ผู้กู้ก็มีผลพลอยได้ตามสภาวะการเงินของโลกที่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอยู่แล้ว

ดังนั้น การไม่รับเงินค่าตอบแทนที่ธนาคารออมสินให้กับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ไว้เป็นรายปีหรือรายเดือนดังกล่าวนั้น ส่อส่งผลทำให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.สูญเสียผลประโยชน์หรือไม่? ตามข้อตกลงเดิมที่ธนาคารออมสินจ่ายเงินสนับสนุนให้กับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสมาชิกและกิจการ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. รวมทั้งชำระหนี้ค้างแทนสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ที่ไม่สามารถชำระเงินงวดให้กับธนาคารออมสินเกิน 3 เดือนติดต่อกัน

“ผมจึงได้ทำหนังสือร้องขอให้ผู้มีอำนาจดังกล่าว ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้จัดการแก้ไขให้ถูกต้อง หากพบว่ามีเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่โปร่งใสเข้ามาเกี่ยวข้อง?”

อดีตผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระกล่าวต่อว่า ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ตนยังได้แนบข้อมูลประกอบ ได้แก่ 1.บันทึกแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ครั้งที่ 1 ระหว่างสำนักงานคะกรรมการ สกสค.กับธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 , 2.ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 , 3.จำนวนสมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 และ 4.จำนวนสมาชิก ช.พ.ส.ผู้กู้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562

ทั้งนี้ จำนวนสมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เงินโครงการ ช.พ.ค.3 จำนวนผู้ 49,330 คน, ช.พ.ค.4 จำนวน 24,793 คน, ช.พ.ค.5 จำนวน 156,002 คน, ช.พ.ค.6 จำนวน 116,545 คน, ช.พ.ค.7 จำนวนผู้กู้ 176,729 ราย รวมทั้งสิ้น 523,399 คน ส่วนจำนวนสมาชิก ช.พ.ส.ผู้กู้เงินมีทั้งสิ้น 44,920 คน